xs
xsm
sm
md
lg

ชวนจับตาดาวหางแคทาลินาตั้งแต่ 15 พ.ย.จนถึงช่วงปีใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจำลองแสดงตำแหน่งดาวหางแคทาลินา และดาวเคราะห์ทางทิศตะวันออก (ภาพจากโปรแกรม Stellarium)
สดร.ชวนจับตาดาวหางแคทาลินาตั้งแต่ 15 พ.ย.จนถึงช่วงปีใหม่ คาดมีความสว่างมากขึ้นเรื่อยๆ และสว่างสุดในคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 31 ธ.ค.58 มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออกช่วงรุ่งเช้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เปิดเผยว่าในช่วงปลายปี 2558 นี้ จะมีดาวหางแคทาลินา เคลื่อนที่ปรากฏในบริเวณซีกฟ้าเหนือ ทำให้คนไทยมีโอกาสเห็นดาวหางดวงนี้ด้วยตาเปล่า ทางทิศตะวันออก ช่วงรุ่งเช้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ตั้งแต่กลางเดือน พ.ย.จนถึงช่วงปีใหม่ หลังจากวันที่ 15 พ.ย.

รอง ผอ.สดร.ระบุว่า ดาวหางดวงนี้จะโคจรผ่านตำแหน่งใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด คาดการณ์ว่าจะมีความสว่างเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ประมาณการเบื้องต้นคาดว่าจะมีความสว่างถึงแมกนิจูด +3 ทั้งนี้ การวัดค่าความสว่างวัตถุท้องฟ้าใช้หน่วยแมกนิจูด (Magnitude) ค่ายิ่งต่ำยิ่งสว่างมาก ตาของมนุษย์สามารถมองเห็นวัตถุสว่างน้อยที่สุดประมาณแมกนิจูด +6 และเมื่อดาวหางเคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์เรื่อยๆ ก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงค่าความสว่างได้

ที่น่าจับตามองมากที่สุดคือ ในค่ำคืนวันส่งท้ายปีเก่า วันที่ 31 ธ.ค.58 ดาวหางแคทาลินาจะปรากฏอยู่เคียงข้างดาวดวงแก้ว (Arcturus) ของกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์เป็นของขวัญรับวันปีใหม่ให้กับ ผู้สังเกตการณ์ในซีกโลกเหนืออีกด้วย ผู้สนใจสามารถใช้กล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก เล็งไปยังทิศตะวันออกบริเวณใกล้กลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ในช่วงรุ่งสางตั้งแต่เวลาตีสามจนถึงดวงอาทิตย์ขึ้น นอกจากนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวยังสามารถสังเกตเห็นดาวเคราะห์ได้อีกสามดวงคือ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร และดาวพฤหัสบดีอีกด้วย” ดร.ศรัณย์กล่าวปิดท้าย

สำหรับดาวหางแคทาลินา (C/2013 US10 Catalina) ถูกค้นพบด้วยกล้องโทรทรรศน์ของหอดูดาวแคทาลินาสกายเซอร์เวย์ สหรัฐฯ ตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค.56 ที่ผ่านมาดาวหางดวงนี้ปรากฏอยู่บนซีกฟ้าใต้มาตลอด แต่ในช่วงปลายเดือน ก.ค.ถึงต้นเดือน ส.ค.58 ที่ผ่านมาดาวหางดวงนี้มีความสว่างเพิ่มขึ้น มีค่าความสว่างประมาณ Magnitude +7 และเคลื่อนที่เข้าไปในตำแหน่งใกล้ขั้วฟ้าใต้ ทำให้ดาวหางดวงนี้ไม่ตกลับขอบฟ้ากลายเป็นดาวหางค้างฟ้า ปรากฏให้ผู้คนในซีกโลกใต้สามารถสังเกตเห็นได้ตลอดทั้งคืน

จนกระทั่งปลายเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ดาวหางดวงนี้ได้เพิ่มความสว่างจนสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า (Magnitude +6) และหลังจากวันที่ 15 พ.ย.58 ดาวหางแคทาลินาจะโคจรผ่านตำแหน่งใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ปรากฏในท้องฟ้าซีกเหนือ และมีความสว่างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คาดว่าจะมีค่าความสว่างมากที่สุดถึงประมาณ Magnitude +3







"หนอนผีเสื้อถุงทอง" สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่แสดงออกถึงความหลากหลายทางชีวภาพในป่าเขาเขียว จ.ชลบุรี ได้เป็นอย่างดี ร่วมติดตามเรื่องราวด้านสิ่งแวดล้อมและดำดิ่งไปในโลกวิทยาศาสตร์กับเราได้ที่ www.manager.co.th/science #larva #butterfly #insects #lepidoptera #entomology #biology #science #sciencenews #managerscience #astvscience #natural #thailand #biodiversity

รูปภาพที่โพสต์โดย AstvScience (@astvscience) เมื่อ



กำลังโหลดความคิดเห็น