xs
xsm
sm
md
lg

หาหลักโภชนาการที่เหมาะสมกับคนไทยด้วยรังสี!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.พัตธนี วินิจจะกูล อาจารย์สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
จะมีสักกี่คน ... ที่รู้ว่าหลักโภชนาการที่เราใช้กันทุกวันนี้ ไม่ใช่หลักที่ศึกษาจากคนไทย แต่อ้างอิงจากชาวตะวันตกผิวขาว แล้วโภชนาการที่คนไทยต้องการที่แท้จริงเป็นอย่างไร? การใช้รังสีศึกษาอาจช่วยตอบคำถามนี้ได้

รศ.ดร.พัตธนี วินิจจะกูล อาจารย์สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์ผู้คร่ำหวอดในวงการโภชนาการไทยมานาน กล่าวแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า เดิมเด็กไทยมีปัญหาขาดสารอาหาร ตัวเตี้ยแคระแกร็นแต่เมื่อเวลาผ่านไป ได้มีนโยบายดำเนินการแก้ปัญหาโภชนาการในแม่และเด็กอย่างประสบความสำเร็จปัญหาเด็กขาดสารอาหารจึงลดลงอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกันการเปิดรับวัฒนธรรมจากต่างประเทศมากขึ้น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการอาหาร เกิดเป็นทางเลือกในการกินมากมาย ทำให้เด็กรุ่นใหม่กลายเป็นเด็กอ้วน มีน้ำหนักเกินจำนวนมากเพราะเกิดความไม่สมดุลระหว่างสารอาหารที่ได้รับ และความต้องการของร่างกาย ทำให้เกิดปัญหาต่อระบบการทำงานและโครงสร้างของร่างกายที่เรียกว่า “ภาวะทุโภชนาการ” ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยทั้งภาวะการขาดและเกินนี้เป็นสิ่งที่กำลังบอกคนไทยว่า “โภชนาการของเรามีปัญหา”

“ที่มากไปกว่านั้นงานวิจัยในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมายังพบว่า โภชนาการของหญิงตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ ระยะตั้งครรภ์ และให้นมบุตรมีผลต่อโภชนาการของลูกในครรภ์และระยะต้นของชีวิตที่กลายเป็นปัจจัยกำหนด หรือปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาอ้วน และโรคไม่ติดต่อเรื้อรังจากการได้อาหารที่ไม่สมดุลในระยะเด็กที่กำลังเติบโต ที่นับตั้งแต่วันปฏิสนธิจนถึงอายุ 2 ปี ปัญหาโภชนาการจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะผลของการดำรงชีวิตผิด การเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้อง ย่อมส่งผลไปถึงวัยผู้ใหญ่ด้วย เด็กที่มีภาวะโรคอ้วน อาจเป็นผู้ใหญ่ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ไขมันอุดตันเส้นเลือด โรคความดันโลหิตและโรคหัวใจในวัยผู้ใหญ่ การเลี้ยงดูเด็กด้วยหลักโภชนาการที่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งสำคัญ” รศ.ดร.พัตธนีกล่าว

ทว่า หลักโภชนาการสำหรับคนไทยที่ใช้กันทุกวันนี้ ยังไม่มีดัชนีชี้วัดทางโภชนาการที่แม่นตรง เนื่องจากเป็นดัชนีของชาวตะวันตกผิวขาวที่อาจไม่เหมาะสมกับคนไทย เพราะผลจากการเปรียบเทียบสัดส่วนจากชาวตะวันตกผิวขาวและคนเอเชียที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) เท่ากัน พบว่าคนเอเชียมีไขมันสะสมมากกว่า ทำให้เกิดคำถามตามมาที่ว่า การใช้พลังงาน และสะสมไขมันหรือกล้ามเนื้อในช่วงวัยต่างๆ ตามแบบแผนอาหารหรือการเลี้ยงดูเด็ก การใช้พลังงานในชีวิตประจำวัน และความสัมพันธ์กับปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ของคนไทย หรือเอเชียมีผลต่อการเกิดภาวะโรคอ้วน และโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่กำลังเป็นปัญหาอย่างมากหรือไม่อย่างไร การอิงฐานการศึกษาจากตะวันตกมีความเหมาะสมหรือไม่

รศ.ดร.พัตธนีกล่าวอีก การศึกษาโภชนาการที่เหมาะสมในคนไทยโดยคนไทยจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน จึงเป็นที่มาของโครงการมาตรฐานการวัดไขมันในร่างกาย การใช้พลังงาน และปริมาณนมแม่ เป็นการนำประโยชน์ของ “อณูธรรมชาติ” มาใช้ในการประเมินปริมาณไขมันสะสมในร่างกาย การใช้พลังงานในเด็ก และการประเมินปริมาณนมแม่ โดยใช้เครื่องมือตรวจวิเคราะห์อณูธรรมชาติกลุ่มที่มีมวลอะตอมต่ำ ด้วยหลักการทางปรมาณูเป็นการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างค่าก่อนและหลังการการรับอณูธรรมชาติกับค่ามาตรฐานที่มีการตั้งไว้

“อณูธรรมชาติ คือ ธาตุในธรรมชาติที่พบอยู่ในองค์ประกอบของร่างกาย เช่น ไฮโดรเจน ออกซิเจน ไนโตรเจนและคาร์บอน แต่จะเป็นธาตุที่มีน้ำหนักอะตอมมากกว่าปกติ คือ 2H, 18O, 15N, 12C2H โดยจะใช้เทคนิคและวิธีการทางนิวเคลียร์ศึกษา โดยการศึกษาปริมาณน้ำ ปริมาณไขมัน การศึกษาเกี่ยวกับการบริโภคนมแม่ และองค์ประกอบอื่นๆ ที่สำคัญในร่างกายนี้จะให้อาสาสมัครกินสารอณูธรรมชาติที่เป็นธาตุไฮโดรเจน (2H : ดิวเทอเรียม) ในรูปแบบน้ำปกติ ปริมาณ 10 มิลลิลิตร แล้วนำสิ่งขับถ่าย อาทิ ปัสสาวะ น้ำลาย หรือน้ำนมมาตรวจวัดสารอณูธรรมชาติที่ออกมา แล้วนำสิ่งส่งตรวจที่ได้มาวัดผลด้วยเครื่องมือทางปรมาณูต่อไป” อธิบายความหมายอณูธรรมชาติให้แก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

การใช้ประโยชน์อณูธรรมชาติในด้านการประเมินภาวะไขมันในร่างกาย การใช้พลังงานของร่างกายนี้ เป็นโครงการที่ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติโดยการสนับสนุนจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (Technical Cooperation with the International Atomic Energy Agency : IAEA) ได้ให้การสนับสนุน ด้านเครื่องมือตรวจวิเคราะห์อณูธรรมชาติกลุ่มที่มีน้ำหนักอะตอมต่ำ (light isotope) คือเครื่องมือไอโซโทปเรโชแมสสเปคโตรเมทรี (Isotope Ratio Mass Spectrometry: IRMS) ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานในการประเมินไขมัน มวลกล้ามเนื้อ การใช้พลังงานของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามารถศึกษาการวัดปริมาณน้ำนมแม่ที่ทารกได้รับจากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งขณะนี้โครงการศึกษาปริมาณนมแม่กำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการไปกว่าครึ่งแล้ว โดยพื้นที่ที่ทำการศึกษาอยู่ที่ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรีและได้รับความมืออย่างดีจากคุณแม่ที่กำลังให้นมบุตร ซึ่งทาง รศ.ดร.พัตธนี ตั้งเป้าไว้ที่ 150 คน และในส่วนของโครงการอื่นก็กำลังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการเช่นเดียวกัน

นอกจากเครื่องไอโซโทปเรโชแมสสเปคโตรเมทรีแล้ว สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลยังได้รับเครื่องมือที่สำคัญอื่นๆ อีก 2 เครื่องคือ บ็อดพ็อด (bodpod) และเครื่องดูอัลเอ็กซเรย์แอบซอฟทีโอเมทรี หรือ เด็กซ์ซาร์ (Dual X-ray Absorptiometry: DXA) อีกด้วยโดยมีจุดมุ่งหมายว่า ความสำเร็จของโครงการนี้จะนำไปสู่การสร้างมาตรฐานและดัชนีชี้วัดทางโภชนาการที่ถูกต้องสำหรับคนไทย อันจะนำไปสู่การวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหาโภชนาการ ค่านิยมการดำเนินชีวิต และภาวะสุขภาพที่ถูกต้องต่อคนไทยในอนาคตอันใกล้ต่อไป
เครื่องมือไอโซโทปเรโชแมสสเปคโตรเมทรี (Isotope Ratio Mass Spectrometry : IRMS)
เครื่องมือไอโซโทปเรโชแมสสเปคโตรเมทรี (Isotope Ratio Mass Spectrometry : IRMS)
หลอดสิ่งส่งตรวจก่อนการวิเคราะห์
บ๊อตพ๊อต (bodpod)
เครื่องดูอัลเอ็กซเรย์แอ๊บซอฟทีโอเมทรี หรือ เด็กซ์ซาร์ (Dual X-ray Absorptiometry : DXA)
ผศ.ดร.สุจินดา ธนะภูมิ รองหัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล




Instagram