xs
xsm
sm
md
lg

มีจุลินทรีย์คับคั่งใน “มาเรียนา เทรนช์” จุดลึกสุดของโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่ใช้สำรวจมาเรียนา เทรนช์ (บีบีซีนิวส์)
งานวิจัยจากทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ เผยจุดลึกสุดของโลกที่ “มาเรียนา เทรนช์” ในมหาสมุทรแปซิฟิกนั้นมีจุลินทรีย์อาศัยอยู่คับคั่ง แย้งความเชื่อเดิมว่าสภาพแวดล้อมในหุบผาลึกใต้น้ำแห่งนี้ไม่เอื้อให้สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ และยังน่าจะมีบทบาทต่อวัฏจักรคาร์บอนและภูมิอากาศโลกมากกว่าที่คิด

งานวิจัยดังกล่าวตีพิมพ์ลงวารสารเนเจอร์จีโอไซน์ (Nature Geoscience) โดยบีบีซีนิวส์รายงานว่าเป็นผลงานของทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ ที่พบว่าจุดลึกสุดของ “มาเรียนา เทรนช์” (Mariana Trench) ใต้มหาสมุทรแปซิฟิกลงไปถึง 11 กิโลเมตรนั้นมีการดำรงชีพของจุลินทรีย์อยู่หนาแน่น

เดิมเชื่อว่าสภาพแวดล้อมในหุบผาลึกใต้มหาสมุทรนี้ไม่น่าจะเอื้อต่อการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิต แต่การศึกษานี้ได้เพิ่มหลักฐานที่จับต้องได้ว่า มีสิ่งมีชีวิตหลากหลายที่สามารถรับมือกับสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิเกือบแช่แข็ง มีความดันมหาศาลและยังมืดสนิท

ดร.โรเบิร์ต เทอร์เนวิทส์ช (Dr.Robert Turnewitsch) หนึ่งในทีมวิจัยจากสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลสก็อต (Scottish Association for Marine Science) กล่าวว่า ส่วนที่ลึกที่สุดของทะเลลึกนั้นไม่ได้เป็น “แดนมรณะ” อย่างแน่นอน

เมื่อปี 2010 นักวิทยาศาสตร์ได้ส่งเรือดำน้ำไร้คนบังคับลงไปยังหุบผาลึกขนาดยักษ์ใต้มหาสมุทร เพื่อเก็บตัวอย่างจากตะกอนโคลนที่เกาะกรังอยู่ก้นทะเล และผลการวิเคราะห์พบระดับออกซิเจนในตัวอย่างที่เก็บ ซึ่งเผยถึงการมีจุลินทรีย์จำนวนมหาศาลอาศัยอยู่

ดร.เทอร์เนวิทส์ช อธิบายว่า จุลินทรีย์เหล่านี้หายใจเช่นเดียวกับคนเรา และการใช้ออกซิเจนของจุลินทรีย์เหล่านี้ก็เป็นวิธีทางอ้อมในการวัดกิจกรรมการดำรงชีพของกลุ่มจุลินทรีย์เหล่านั้น นักวิทยาศาสตร์ประหลาดใจที่พบว่า สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวเหล่านั้นมีกิจกรรมที่บริเวณก้นหุบผามากเป็น 2 เท่าของกิจกรรมบริเวณใกล้ๆ ที่อยู่ในระดับความลึก6 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ถัดขึ้นมาจากพื้นมหาสมุทรดังกล่าว

สิ่งที่เลี้ยงจุลินทรีย์เหล่านั้นให้อุดมสมบูรณ์ คือซากพืชและสัตว์จำนวนมากที่ตายลง แล้วจมจากผิวน้ำทะเลสู่ก้นมหาสมุทร วัตถุที่ย่อยสลายเหล่านั้นตัดกับผนังอันสูงชันของหุบผา แล้วจมลงกลายเป็นอาหารสำหรับจุลินทรีย์จำนวนมาก และยังพบว่ามีซากที่สดใหม่จมอยู่ก้นมหาสมุทรในระดับสูงจนน่าแปลกใจด้วย

ระดับสสารในก้นหุบผาใต้มหาสมุทรที่สูงมากนี้ชี้ว่ามาเรียนา เทรนช์ ซึ่งเป็นเขตน้ำลึกในระบบนิเวศทะเล หรือ “ฮาดัลโซน” (Hadal zone) นั้นอาจจะมีบทบาทสำคัญต่อวัฏจักรคาร์บอน ดังนั้น จึงน่าจะมีส่วนในการควบคุมภูมิอากาศโลก ด้วย

ด้าน ดร.ริชาร์ด เทอร์เนวิทส์ช กล่าวว่า ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสสารอินทรีย์ปริมาณมากสะสมคาร์บอนและไปกองกันที่หุบผาลึกนี้ แสดงว่ามาเรียนาเทรนช์นั้นมีบทบาทสำคัญต่อการเคลื่อนย้ายคาร์บอนจากมหาสมุทรและการมีคาร์บอนมากเกินในชั้นบรรยากาศ และอาจจะมีบทบาทสำคัญต่อวัฏจักรคาร์บอนในมหาสมุทรทั่วโลกมากกว่าที่เราเคยคาดไว้

ส่วนการลงสำรวจ มาเรียนา เทรนช์ ด้วยตาของมนุาย์นั้น เพิ่งมีล่าสุด โดยการดำเดียวของ เจมส์ คาเมรอน (James Cameron) ผู้กำกับชื่อดังจากฮอลลิวูด เมื่อปี 2012 ที่ผ่านมา โดยเขาได้ขับเรือดำน้ำดำดิ่งเพียงลำพังลงไปสำรวจเทรนช์ถึงก้นมหาสมุทร ซึ่งนับเป็นมนุษย์คนแรกที่ลงไปเยือนหุบผายักษ์ใต้น้ำแห่งนี้ในรอบ 50 ปี โดยดำลงไปลึกถึง 10,898 เมตร

สำหรับมนุษย์ที่ทำสถิติดำดิ่งลึกที่สุดคือ ดอน วอลช์ (Don Walsh) ที่ลงสำรวจมาเรียนา เทรนช์ ร่วมกับ ฌาคส์ ปิคคาร์ด (Jacques Piccard) วิศวกรชาวสวิส เมื่อปี 1960 โดยลงไปลึกถึง 10,994 เมตร

คาเมรอนบอกทางบีบีซี ว่าที่ใต้เทรนช์นั้นเหมือนโลกหนึ่ง และไม่มีความอุดมสมบูรณ์ โดยเขาเพิ่งเผยผลทางวิทยาศาสตร์บางส่วนที่ได้จากดำดิ่งลงก้นสมุทรในภายในการประชุมของสหพันธ์ธรณีฟิสิกส์อเมริกัน (American Geophysical Union) ประจำฤดูใบไม้ร่วง เมื่อปี 2012

จากการทำงานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์สถาบันสคริปปส์ (Scripps Institute) ทีมของคาเมรอนได้พบอะมีบายักษ์และสิ่งมีชีวิตคล้ายกุ้งที่เรียกว่าแอมฟิพอดส์ (amphipods) ส่วนวิดีโอจากการดำดิ่งของเขาจะเผยแพร่ผ่านสารคดี 3 มิติของเนชันนัลจีโอกราฟิก
ปลาใต้ทะเลลึกที่พบที่ความลึก ประมาณ 4 กิโลเมตร (บีบีซี)

คลิปภารกิจดำดิ่งของ เจมส์ คาเมรอน









กำลังโหลดความคิดเห็น