xs
xsm
sm
md
lg

ระวังให้ดี “จ่าเฉย” มีเครื่องมือตรวจจับรถแซงตรงคอสะพาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากเทคโนโลยีตรวจจับการแซงจรงคอสะพาน โดยกล้องที่ติดตั้งบนจ่าเฉย
ในขณะที่รถหลายคันต่อแถวยาวเหยียดเพื่อรอขึ้นสะพานอย่างมีวินัยจราจร คนขับมักง่ายบางคนก็เบียดไปแทรกตรงคอสะพาน ซึ่งนอกจากจะสร้างความหงุดหงิดรำคาญใจให้แก่ผู้ขับรถที่เคารพกฎแล้ว ยังซ้ำเติมปัญหาจราจรให้ “ติดหนึบ” เข้าไปอีก มิหนำซ้ำอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ด้วย

ปัญหาดังกล่าว พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย ผู้บังคับการตำรวจจราจร กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการแซงและขับรถทับเส้นทึบตรงคอสะพาน คือปัญหาที่ผู้ขับรถยนต์หงุดหงิดใจและคาใจมากที่สุด หากแต่ทางสมาคมระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะไทย (ITS Thailand) ได้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อช่วยแก้ปัญหานี้

ผศ.ดร.มงคล เอกปัญญาพงศ์ จากสำนักวิศวกรรมและเทคโนโลยี ภาควิชาแมคคาโทรนิคส์ ไมโครอิเล็กนิคส์และระบบสมองกลฝั่งตัว สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) ได้ร่วมกับสมาคม ITS Thailand พัฒนาเทคโนโลยีในการตรวจจับการแทรกตรงคอสะพานด้วยเทคโนโลยีอิเมจโปรเซสซิ่ง (Image Processing) โดยติดตั้งกล้องบันทึกภาพ 2 ตัวที่ “จ่าเฉย” แล้วนำไปตั้งตรงคอสะพานเพื่อบันทึกภาพรถที่ทำผิดกฎจราจร

เมื่อมีการขับรถทับเส้นทึบกล้องจะบันทึกทั้งภาพความละเอียดสูงและคลิปวิดีโอความยาว 5 วินาทีแล้วส่งไปให้ตำรวจจราจร เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการส่งจดหมายแจ้งใบสั่งต่อไป คล้ายกับการตรวจจับการฝ่าไฟแดง โดยโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นจะคำนวณและเลือกบันทึกภาพเฉพาะกรณีที่มีการฝ่ากฎ



คลิปสาธิตการทำงานของเทคโนโลยีตรวจจับการแซงตรงคอสะพาน



ทีมวิจัยใช้เวลาพัฒนาเทคโนโลยีประมาณ 1 ปี และได้ทดสอบที่สะพานข้ามแยกรัชโยธินเป็นเวลา 1 เดือน พบว่าความแม่นยำของเทคโนโลยีอยู่ที่ 95% แต่การทดสอบทำได้เฉพาะช่วงกลางวัน เนื่องจากเวลากลางคืนยังไม่มีผู้ทำหน้าที่เฝ้าดูแลกล้องบันทึกภาพ ซึ่งกำลังขอทุนวิจัยเพื่อดำเนินการต่อ ส่วนการทดสอบช่วงกลางวันนั้นมีความยากในเรื่องแสงเงาที่บังเส้นทึบ ซึ่งต้องออกแบบให้โปรแกรมเข้าใจว่าเงานั้นไม่ใช่รถ และคาดว่าอีก 2-3 อาทิตย์จะได้ติดตั้งเทคโนโลยีนี้เพื่อใช้งานจริงที่แยกรัชโยธิน
ผศ.ดร.มงคล เอกปัญญาพงศ์
ล่าสุดเทคโนโลยีการตรวจจับการขับรถทับเส้นทึบและแซงตรงคอสะพานนี้ถูกผนวกเข้าเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีระบบจราจรขนส่งอัจฉริยะ (Intelligence Transport System: ITS) ภายใต้โครงการ “สมาร์ทไทยแลนด์” (Smart Thailand) ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการบูรณาการและบริหารจัดการระบบดังกล่าว

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการะรทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ระบุว่า การพัฒนาระบบจราจรขนส่งอัจฉริยะนั้นต้องอาศัยความร่วมมือของหลายหน่วยงาน อาทิ กระทรวงคมนาคมในการจัดการโครงสร้างพื้นฐานการจราจรและขนส่ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติในการควบคุมและบังคับใช้กฎหมาย กรุงเทพมหานครในฐานะเจ้าของพื้นที่ กระทรวงอุตสหกรรมในการออกมาตรฐาน สมาคมระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะไทย สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และมูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย เป็นต้น



ผศ.ดร.มงคล เอกปัญญาพงศ์ อธิบายการทำงานของระบบตรวจจับการแซงตรงคอสะพาน



ด้าน ดร.ภาสกร ประถมบุตร นายกสมาคมระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะไทย เผยว่าเทคโนโลยี ITS เป็นเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วทั่วโลก แต่การนำใช้ในเมืองไทยต้องมีการปรับใช้ให้เหมาะสม เช่น เทคโนโลยีบางอย่างใช้ในประเทศที่ขับรถเลนขวา เมื่อนำมาใช้ในประเทศไทยจึงต้องปรับเพื่อใช้กับการขับรถเลนซ้าย หรือต่างประเทศไม่มีการขับจัรกยานยนต์ เป็นต้น ซึ่งตัวอย่างง่ายๆ ของเทคโนโลยีนี้คือบัตรอีซีพาส (Easy Pass) ที่ใช้บนทางด่วน เป็นต้น

“เทคโนโลยี ITS เป็นการผนวกเทคโนโลยีการสื่อสารเข้าเทคโนโลยีการขนส่งจราจร เช่น การใช้คลื่นวิทยุอาร์เฟไอดี (RFID) ในบัตรอีซีพาส การใช้เทคโนโลยีระบุตำแหน่งจีพีเอส (GPS) เพื่อช่วยระบุตำแหน่งรถยนต์บนท้องถนน การใช้เซนเซอร์หรือเรดาร์เพื่อการตรวจจับความเร็ว เป็นต้น” ดร.ภาสกรยกตัวอย่าง
การแถลงข่าวสมาร์ทไทยแลนด์







กำลังโหลดความคิดเห็น