xs
xsm
sm
md
lg

อังกฤษเดินหน้าศึกษาการใช้ยีนคนในสัตว์ หวังควบคุมงานวิจัยให้อยู่ในขอบเขต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิจัยอังกฤษเริ่มโครงการศึกษาการใช้ยีนมนุษย์เปลี่ยนแปลงพันธุกรรมสัตว์ในงานวิจัย หวังกำหนดขอบเขตที่เหมาะสมในการทำงานวิจัยเรื่องดังกล่าว (ภาพจากแฟ้ม)
อังกฤษเริ่มโครงการศึกษาการใช้ยีนมนุษย์ เปลี่ยนพันธุกรรมสัตว์ในงานวิจัย หวังได้แนวทางควบคุมการสร้างสัตว์ผ่าเหล่า ภายใต้กรอบการวิจัยที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการจุดชนวนโต้แย้งในสังคม

สถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ (Academy of Medical Science) ประเทศอังกฤษ เปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า ได้เริ่มต้นโครงการศึกษาการใช้ยีนมนุษย์ใส่ในสัตว์ทดลองเพื่อการศึกษาวิจัย คาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี ทั้งนี้เพื่อทำความเข้าใจกับเรื่องดังกล่าว และให้สังคมได้รับรู้ว่า มีสิ่งใดเกิดขึ้นในห้องแล็บก่อนที่จะมีการดำเนินงานขั้นต่อไปมากกว่านั้น โดยหวังอยากให้มีแนวทางที่เหมาะสม สำหรับนักวิจัยในอังกฤษและทั่วโลกในการนำยีนมนุษย์ใส่เข้าไปในสัตว์เพื่อพัฒนางานทางด้านการแพทย์

"โครงการดังกล่าวเป็นเรื่องท้าทายแนวคิดของเรา ว่าอะไรจะเกิดกับมนุษย์ได้บ้าง มันเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องใครครวญเรื่องนี้ตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อที่จะได้รู้จักมันและทำการวิจัยในขอบเขตที่เหมาะสม ซึ่งสามารถบรรลุผลสำเร็จได้ตามศักยภาพของมัน" มาร์ติน บ็อบโรว์ (Martin Bobrow) ศาสตราจารย์ด้านพันธุศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ (Cambridge University) กล่าว ซึ่งเขาเป็นเป็นประธานกลุ่มผู้ศึกษาเรื่องนี้ที่ประกอบด้วยคณะทำงาน 14 คน

ด้านโรบิน โลเวล-แบดจ์ (Robin Lovell-Badge) ผู้เชี่ยวชาญด้านสเต็มเซลล์ของสถาบันวิจัยทางการแพทย์แห่งชาติ (National Institute for Medical Research) ในกรุงลอนดอน อังกฤษ และหนึ่งในทีมวิจัย กล่าวในเอพีว่า ปัจจุบันการใช้ยีนมนุษย์ในสัตว์ มี 2 รูปแบบหลัก คือการเปลี่ยนแปลงยีนของสัตว์โดยการใส่ยีนมนุษย์เพิ่มเข้าไป หรือการแทนที่ลำดับพันธุกรรมของสัตว์ด้วยลำดับพันธุกรรมของมนุษย์ที่มีลักษณะคล้ายกันอย่างจำเพาะเจาะจง

"มันอาจฟังดูน่ารังเกียจ แต่มันอาจเป็นสิ่งที่มีค่ามาก หากมันนำไปสู่การรักษาอะไรบางอย่างที่น่าสะพรึงกลัวได้" โลเวล-แบดจ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีงานวิจัยจำนวนไม่น้อย ที่ใช้วัตถุดิบจากมนุษย์ใส่ให้สัตว์ทดลอง เช่น นำยีนมนุษย์ใส่ในหนูทดลองเพื่อศึกษาวิวัฒนาการของกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม และหาแนวทางรักษาที่มีประสิทธิภาพยิ่งกว่าเดิม, ใส่ยีนที่ทำให้เกิดโรคฮันติงตัน (Huntington's disease) ในมนุษย์เข้าไปในลิงวอก เพื่อศึกษาพัฒนาการของโรค รวมทั้งสร้างหนูที่มีตับที่เกิดจากเซลล์ของมนุษย์ในการทดสอบยารักษาโรคต่างๆ และการปลูกถ่ายอวัยวะคนในสัตว์เพื่อหวังจะใช้ผลิตอวัยวะทดแทนให้กับคนในอนาคต

นอกจากนั้นเมื่อประมาณ 2 ปีก่อน ในอังกฤษเคยมีการโต้เถียงกันอย่างรุนแรงมาแล้วหลังจากที่นักวิทยาศาสตร์ประกาศว่าจะสร้างตัวอ่อนมนุษย์โดยใช้ไข่ของสัตว์ เช่น วัว และกระต่าย เพื่อศึกษาวิจัยเท่านั้น ซึ่งตัวอ่อนที่ได้จะมีพันธุกรรมของสัตว์รวมอยู่ด้วย และจะทำลายทิ้งภายในอายุ 14 วัน ซึ่งฝ่ายต่อต้านชี้ว่าการทดลองดังกล่าวเป็นการกระทำที่ฝืนธรรมชาติ ส่วนฝ่ายนักวิทยาศาสตร์ให้เหตุผลว่าเป็นงานวิจัยที่สำคัญกับชีวิตมนุษย์มากเพราะจะช่วยให้พบช่องทางรักษาโรคได้

ทั้งนี้ ทีมวิจัยกลุ่มนี้กล่าวว่าพวกขากำลังพยายามศึกษาว่าการทดลองนำยีนของมนุษย์ใส่เข้าไปในสัตว์ควรอยู่ในขอบเขตประมาณไหน เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนในการควบคุมปริมาณของยีนมนุษย์ที่จะนำไปใส่ไว้ในสัตว์ และเทคโนโลยีทางด้านนี้ก็ก้าวหน้าและเผยแพร่ไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะมีนักวิทยาศาสตร์บางคนในบางแห่งอาจต้องการดันขอบให้เขยิบออกไปมากยิ่งขึ้น

บ็อบโรว์บอกว่าเขาและทีมวิจัยมีความกระตือรือร้นที่จะหลีกเลี่ยงการเกิดข้อโต้เถียงรุนแรงในสังคมเกี่ยวกับการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการใส่ยีนคนให้สัตว์อย่างที่เคยมีมา และหวังอย่างยิ่งว่าปฏิกิริยาต่อเรื่องดังกล่าวที่เกิดขึ้นนั้นพวกเขาจะสามารถให้ข้อมูลเพื่อเป็นการชี้แจงได้ มากกว่าที่จะทำสิ่งใดที่เป็นการตอบโต้กลับ.
กำลังโหลดความคิดเห็น