xs
xsm
sm
md
lg

ความร้อนจากแดดพร้อมใช้แต่แพง แนะรัฐลงทุนหนุนให้ถูกลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แจงเทคโนโลยีพลังงานแสงแดดด้านความร้อนพร้อมใช้แล้ว โดยเฉพาะเครื่องทำน้ำร้อนหากแต่ยังแพง แนะรัฐลงทุนส่งเสริมให้ก่อนเพื่อให้มีคนใช้มากขึ้นและที่สุดราคาจะลดลงจนสามารถซื้อหาได้โดยรัฐไม่ต้องหนุน พร้อมระบุรัฐให้ตั้งโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์แม้เพียงน้อยนิดแต่เป็นจุดเริ่มต้นการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน

ในการสัมมนาพลังงานทดแทนระหว่างไทย-จีน ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ระหว่างวันที่ 28-29 ม.ค.51 ณ โรงแรมทวินทาวเวอร์นั้น ศ.ดร.สมชาติ โสภณรณฤทธิ์ อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีพลังงาน คณะพลังงาน สิ่งแวดล้อมและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เผยถึงงานวิจัยด้านพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปความร้อนของไทยซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ด้าน

ด้านแรกคือการผลิตน้ำร้อนด้วยแสงอาทิตย์ซึ่งมีเครื่องทำน้ำร้อนชนิดนี้ขายมากว่า 20 ปีแล้ว ขณะที่เมื่อก่อนมีงานวิจัยจำนวนมากแต่ปัจจุบันก็ลดน้อยลงแล้ว ด้านที่ 2 เป็นการนำแสงอาทิตย์มาผลิตลมร้อนซึ่งส่วนใหญ่นำไปใช้ทางการเกษตร เช่น อบแห้งผลผลิตการเกษตร เป็นต้น ทั้ง 2 ด้านนี้มีการผลิตสินค้าออกจำหน่ายแล้วแต่ยังไม่แพร่หลายนักเพราะยังมีราคาแพงอยู่มาก

"เครื่องทำน้ำร้อนจากแสงอาทิตย์มีทั้งผลิตเองในไทยและนำเข้า แต่ก็ยังไม่แพร่หลายนักเพราะตลาดไม่ใหญ่นัก เรียกได้ว่าคนจนไม่มีสิทธิใช้เพราะแพงมาก ราคาไม่ต่ำกว่า 30,000 บาท แต่ก็มีใช้ตามสถานที่ซึ่งต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงอยู่แล้วหรือที่สายไฟฟ้ายังเข้าไปไม่ถึง อย่างตามรีสอร์ทไกลๆ โรงแรมหรือโรงพยาบาล ซึ่งจะคุ้มทุนได้ต้องใช้บ่อยๆ และคงทนนานนับ 10 ปี" ศ.ดร.สมชาติกล่าว และระบุว่าเครื่องทำน้ำร้อนนั้นผลิตเป็นการค้าแล้ว ซึ่งการส่งเสริมในภาคอุตสาหกรรมควรทำให้ถูกและใช้ได้ทนเพื่อความคุ้มทุน

ด้านที่ 3 ผลิตน้ำกลั่นด้วยความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเทคโนโลยีนี้ ศ.ดร.สมชาติกล่าวว่ายังแพงอยู่เช่นกัน อีกทั้งเมืองไทยยังไม่มีปัญหาขาดแคลนน้ำจืดและยังไม่มีข้อมูลการใช้งานในเมืองไทย ด้านที่ 4 ใช้ความร้อนทำความเย็นซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากความร้อนเหลือทิ้ง โดยถ่ายเทความร้อนให้กับเครื่องทำความเย็นแบบดูดกลืนความร้อน อย่างไรก็ดียังไม่เป็นที่ยอมรับและการใช้งานยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัย ด้านสุดท้ายเป็นการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้ตัวรับรังสีแบบรวมแสงเพื่อให้เกิดความร้อนแล้วผลิตไอน้ำสำหรับใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าเช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าทั่วไป

พร้อมกันนี้ ศ.ดร.สุชาติกล่าวถึงแผนการส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์โดยการตั้งโรงไฟฟ้า 45 เมกะวัตต์ในปี 2554 เทียบเป็นน้ำมันได้เพียง 4 ล้านลิตรซึ่งนับเป็นตัวเลขที่น้อยจนไม่มีผลกระทบ แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน อย่างไรก็ตามพลังงานที่น่าสนับสนุนที่สุดคือพลังงานจากชีวมวลและพลังงานน้ำ

ส่วน นายชาย ชีวะเกตุ จากมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าการจะส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์นั้นรัฐควรเป็นผู้ลงทุนก่อนเพื่อสนับสนุนให้มีการใช้ปริมาณมาก ซึ่งจะทำให้เทคโนโลยีมีราคาถูกลงแล้วค่อยๆ ลดการสนับสนุน โดยวิธีการนี้ประสบความสำเร็จในญี่ปุ่นและเยอรมนี พร้อมแจงเหตุเซลล์แสงอาทิตย์ราคาแพงเพราะมีคนใช้น้อย

"แม้ว่าไทยจะมีปริมาณแสงแดดมากแต่ตามนโยบายแล้วการใช้เซลล์แสงอาทิตย์ไม่น่าตื่นเต้น ปัจจุบันมีโรงงานผลิตเซลล์แสงอาทิตย์เล็กๆ 6-7 แห่งซึ่งต่างต้องดิ้นตายด้วยการส่งสินค้าขายต่างประเทศ หากมีโรงงานใหญ่ๆ เข้ามาโรงงานเล็กๆ เหล่านั้น...ตาย ปัญหาคือนโยบาย รัฐต้องเล่นด้วยอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทั้งนี้พลังงานแสงอาทิตย์ได้เปรียบพลังงานนิวเคลียร์เพราะใช้ได้ไม่มีวันหมด ขณะที่พลังงานนิวเคลียร์จะใช้ได้ถึง 100 ปีเท่านั้น" นายชายกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น