xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการเห็นอย่างไร? เมื่อ"จีเอ็มโอ"สู่แปลงเปิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แล้วมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ได้อนุมัติให้มีการทดสอบพืชดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ระดับภาคสนามได้ ท่ามกลางเสียงสนับสนุนจากฝ่ายเห็นด้วย ซึ่งมีทั้งนักเทคโนโลยีชีวภาพที่เฝ้ารอมาแสนนาน ตลอดจนบรรษัทไบโอเทคข้ามชาติที่คาดหวังโอกาสทางการค้า ขณะเดียวกันก็ยังเป็นที่กังขาของสังคม อาทิ นักวิชาการจำนวนไม่น้อย องค์กรการค้าด้านเกษตรอินทรีย์ เอ็นจีโอต่างๆ อย่างกรีนพีซ และไบโอไทย ฯลฯ

อย่างไรก็ดี เชื่อได้ว่าการระดมข้อมูลวิชาการมาตีแผ่ให้เห็นข้อดี –ข้อเสียของมันก็น่าจะเป็นการไขความกระจ่างสู่สังคมได้ดีที่สุด

รศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติปี 2549 สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

"ถ้าไม่มีการอนุมัติให้มีการทดสอบพืชจีเอ็มโอภาคสนาม เราก็จะทดสอบพืชจีเอ็มโอของเราไม่ได้ เพราะทดลองได้แต่ในห้องแล็บ เลยไม่รู้ว่าผลเป็นอย่างไร ทนโรค ทนแมลงได้ไหม ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีการอนุญาตให้ทดสอบ ความรู้ที่เราจะมีก็หายไปเยอะ บริษัทที่เขาทำพืชจีเอ็มโอก็จะไม่สามารถมาทดสอบเพื่อดูว่าจะพืชของเขาจะสามารถนำมาใช้ในประเทศไทยได้ไหม การวางแผนการใช้ประโยชน์ในประเทศไทยก็หายไป เขาก็มองข้ามไทยไปเลย เราก็เสียเปรียบ ยกตัวอย่างงานวิจัยเรื่องยีนความหอมของข้าวที่ผมทำอยู่และจดสิทธิบัตรที่สหรัฐฯ แล้ว หากจะนำไปใช้กับพืชอื่นๆ เช่น ถั่วเหลืองหอม ก็จะทดสอบไม่ได้"

"มติ ครม.ล่าสุด จึงเป็นทางออกกลาง อย่างน้อยก็ไม่ได้ปิดประตูตาย แต่ก็ไม่ให้เสรีไปเลยเหมือนในกรณีของมะละกอที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น คิดว่า ครม.ชุดนี้ทำถูกแล้ว ก็เชื่อว่ารัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งจะผลักดันกฎหมายไบโอเซฟตีผ่านสภาได้ เพื่ออุดช่องว่างต่างๆ ลง และรัฐบาลใหม่จะทำอย่างรอบคอบไม่ให้ประชาชนต่อต้าน แต่ก็มองว่าเทคนิคด้านการพัฒนาพันธุ์พืชก็มีทั้งที่เป็นการตัดต่อพันธุกรรมอย่างจีเอ็มโอ และที่เป็นไบโอเทคโนโลยีอื่นๆ ที่ผ่านมา เรามองจีเอ็มโอเป็นทางออกเดียวมากเกินไป เช่น มะละกอ ไม่ควรมองข้ามวิธีการพัฒนาพันธุ์พืชอื่นๆ แต่ควรใช้ความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น"

ศ.ดร.มนตรี จุฬาวัฒนทล อดีต ผอ.สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก.

"หากมีการนำเสนอให้ทดสอบภาคสนามพร้อมกับการควบคุมอย่างดีตามที่ มติ ครม.ว่านี้ คือ ให้มีการทดสอบในแปลงปลูกราชการ มีการศึกษาผลกระทบรอบด้าน และฟังเสียงประชาชน ก่อนให้ ครม.อนุมัติเป็นกรณีๆ ไป ก็เชื่อว่าจะทำให้เรารู้จุดดี -จุดด้อยต่างๆ ของพืชจีเอ็มโอได้ ซึ่งผลการทดสอบที่ออกมาก็ต้องตรวจสอบให้เป็นผลที่ถูกต้อง ประชาชนจะได้รู้ถึงความชัดเจนของมันสักที ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องติดตามความก้าวหน้า ได้รับรู้สิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย แต่ก็ต้องมีความระมัดระวัง อย่าให้เกิดข้อผิดพลาดได้"

ศ.ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ ผอ.โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (โครงการบีอาร์ที)

"ผมตั้งขอสังเกตว่าทำไมผลักดันกันเหลือเกิน มันเป็นเรื่องเร่งด่วนขนาดนั้นเชียวหรือ ประเทศจะล่มจมเลยหรือ ทั้งๆ ที่มีข้อท้วงติงในหลายประเทศ เรื่องหนึ่งคือกฎหมายไบโอเซฟตีมีออกมาแล้วหรือยัง เป็นประเด็นที่น่าสังเกตนะ เพราะเหตุผลที่ว่าทำไมเรายังไม่ควรทำก็ให้ไปมากมายแล้ว ไม่ฟังกันบ้างหรือไง อย่างที่กลุ่มไบโอไทยก็เพิ่งตรวจพบการปนเปื้อนของข้าวโพดจีเอ็มโอไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ไม่มีใครฟังหรือ คือถ้าทุกอย่างมันสมบูรณ์แบบ มันก็มีผลดี ก็จะได้ผลผลิตมากก็แน่นอนว่าจะต้องเป็นไปตามเป้า"

"แต่เรื่องมาตรการควบคุม ดีหากมีมาตรการที่เข้มงวด แต่ถามเผื่อในด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว มันมีมาตรการนี้จริงไหม ขนาดมีมาตรการเข้มยังมีข้าวโพดลอดมาได้เลย ยิ่งสังคมไทยด้วยแล้ว มาตรการลงโทษมันมีหรือเปล่า ธรรมชาติก็ไม่มีใครไปปกป้องมัน มันก็ถูกกระทำ อีกอย่างบ้านเรามันเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้เป็นทุ่งเวิ้งว้างเหมือนต่างประเทศ อาจมีการแพร่กระจายไปเป็นหย่อมๆ ได้ง่าย ระยะป้องกัน 15 เมตร มันใช้ได้ไหม แมลงบินไปมาก็ได้แล้ว เมื่อมีการปนเปื้อนก็จะกระทบความหลากหลายทางชีวภาพ เราใช้มาตรฐานของต่างประเทศเขามาจับ ทั้งๆ ที่เรื่องกระแสลม และตัวรับช่วงการแพร่กระจายในธรรมชาติของเราไม่เหมือนเขา"

รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผอ.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

"มติ ครม.ครั้งนี้จะช่วยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการวิจัยภาคสนามได้ นับว่ามีประโยชน์ต่องานวิจัยและเกษตรกรมาก กระทรวงเกษตรฯ เองก็มีมาตรการต่างๆ ที่พร้อมต่อการวิจัย และป้องกันการหลุดรอดสู่สิ่งแวดล้อมได้ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งประเมินแล้วพบว่ามีโอกาสหลุดรอดได้เช่นกัน แต่มีโอกาสน้อยมากๆ เพราะมีกระบวนการต่างๆ ควบคุมอยู่แล้ว นอกเสียจากว่ามีผู้ไม่หวังดีจงใจที่จะนำออกไปนอกพื้นที่ทดลอง"

"อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจของ ครม.ครั้งนี้ได้มีการวางนโยบายเอาไว้อย่างรัดกุมแล้ว นั่นคือไม่ได้อนุญาตให้ทดสอบพืชจีเอ็มโอภาคสนามได้โดยเสรี ส่วนกฎหมายไบโอเซฟตีก็ต้องเร่งให้มีผลบังคับใช้เร็วที่สุด แต่ระหว่างที่รอให้กฎหมายก็ไม่ควรหยุดงานวิจัยเช่นกัน ขณะนี้มีพืชจีเอ็มโอที่พร้อมทดสอบภาคสนามแล้วหลายชนิด ส่วนการปนเปื้อนที่อาจเกิดจากการนำเข้าเมล็ดพันธุ์พืชจีเอ็มโอ ตรงนี้เป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบว่านำสิ่งใดเข้ามาทำอะไรในประเทศ"

ศ.ดร.สุทัศน์ ศรีวัฒนพงศ์ นายกสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ (สทส.)

"ที่ผ่านมา บรรยากาศงานวิจัยด้านพืชจีเอ็มโอในประเทศไทยแย่มากเราส่งเสริมนักวิจัยไปเรียนและจบกลับมากว่า 200 คน แต่ไม่สามารถใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนมาได้ เพราะห้ามทดสอบภาคสนาม ซึ่งหลังจากมีมติ ครม.อนุญาตให้ทดสอบภาคสนามได้ แม้จะมีเงื่อนไขให้ทำได้เฉพาะในพื้นที่ราชการ"

"แต่บรรยากาศงานวิจัยของไทยก็น่าจะดีขึ้น อย่างไรก็ตาม จะต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิบัตรอย่างแน่นอนเพราะเป็นเรื่องเทคโนโลยี แต่จะมีกฎเกณฑ์หรือแนวทางปฏิบัติ และสามารถเจรจากันได้ หากไม่เปิดประตูรับงานวิจัยเข้ามา ก็ต้องซื้อเทคโนโลยีต่างชาติตลอดไป จีนก็เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด"
สุดท้ายนี้ มติดังกล่าวจะทำให้เกิดผลกระทบหรือความเปลี่ยนแปลงประการใดต่อประเทศไทย ทั้งทางดีหรือทางร้าย ยังคงต้องจับตามองกันต่อไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศของเรา...



อ่านเพิ่มเติม
- ครม.อนุมัติปลูกจีเอ็มโอลงไร่นาทดลองเฉพาะแปลงราชการ
- นักวิจัยจีเอ็มโอพ้อรอลงไร่นามานานแล้ว ปลื้มรัฐบาลขิงผ่าทางตันจนได้
- โวย “ขิงแก่” ฉวยโอกาสอนุมัติจีเอ็มโอ ให้ปลูกที่ไหนเตรียมฟ้องคุ้มครองที่นั่น
- รมต.วิทย์สวมหมวกนักวิจัยผิดหวังมติจีเอ็มโอ อยากให้เปิดกว่านี้แต่เพราะกระแสต้าน
กำลังโหลดความคิดเห็น