xs
xsm
sm
md
lg

วงการสเต็มเซลล์ทั่วโลกขานรับ หลังคลายปมวิจัยไม่ต้องทำลายตัวอ่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทีมนักวิจัยสหรัฐฯ และญี่ปุ่นกำลังเปิด พ.ศ.ใหม่ของการวิจัยสเต็มเซลล์เพื่อรักษาโรคด้วยวิธีใหม่ที่ไม่ต้องใช้การโคลนตัวอ่อนอันเป็นที่มาของข้อวิพากษ์มากมาย
เอพี -เมื่อเทคนิคสร้าง “สเต็มเซลล์" โดยไม่ใช้ตัวอ่อนเปิดเผยขึ้น วงการวิจัยเซลล์ต้นกำเนิดที่เคยเงียบเหงาก็ตื่นขึ้นอย่างมีความหวัง โดยเฉพาะความยินดีจากทำเนียบขาวผู้อยู่ตรงข้ามการสร้างเสต็มเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์อย่างชัดเจนก็พลอยยินดีไปด้วย แต่สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์กำลังกังวลคือผลการพัฒนาจะนำไปสู่การสร้างเซลล์รักษาโรคร้ายต่างๆ ได้จริงอย่างกล่าวอ้างหรือไม่

หลังจากที่เอียน วิลมุต (Ian Wilmut) นักพันธุวิศวกรรมชาวสก็อต ที่ค้นพบวิธีการโคลนนิงและสร้างเซลล์ต้นกำเนิดจากตัวอ่อน (embyonic stem cell) จนผลิตแกะ “ดอลลี” มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ออกมาประกาศว่าเขาหันหลังให้กับการโคลนนิงในแบบนี้แล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน แต่ยังมุ่งมั่นศึกษาทำสเต็มเซลล์โดยไม่ใช้ตัวอ่อน ซึ่งให้เครดิตแก่งานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นไปเต็มๆ

ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวได้รับการเผยแพร่อีกครั้งเมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา ผ่านวารสารวิทยาศาสตร์ฉบับออนไลน์ 2 แห่งคือ “เซลล์” (Cell) โดยทีมวิจัยของ ดร.ชินยา ยามานากะ นักวิจัยวัย 45 ปีจากมหาวิทยาลัยเกียวโต (Kyoto University) และวารสาร “ไซน์” (Science) นำเสนอโดย อี๋ว์จวิ้น อิง (Junying Yu) นักวิจัยในแล็บของ “เจมส์ ธอมสัน” (James Thomson) วัย 48 ปีจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน–เมดิสัน สหรัฐฯ (University of Wisconsin -Madison) ผู้บุกเบิกวงการสเต็มเซลล์

ทั้ง 2 ทีมรายงานสอดคล้องกันว่า พวกเขาสามารถปรับปรุงเซลล์ร่างกายให้มีพฤติกรรมเหมือนกับสเต็มเซลล์ในห้องปฏิบัติการได้สำเร็จเมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านี้มีการรายงานผลการวิจัยที่ทำสำเร็จแล้วในหนู

ทีมวิจัยทั้ง 2 เลือกใช้เซลล์ในการทดลองต่างชนิดกัน ทีมของ ดร.ยามานากะนำเซลล์ผิวหนังจากผิวหน้าของหญิงวัย 36 ปี ส่วนทีมของธอมสันใช้เซลล์จากหนังหุ้มปลายองคชาติของเด็กแรกเกิด นำไปพัฒนาเป็นเซลล์ตัวอ่อน พัฒนาเป็นเซลล์ทารก และเติบโตเป็นเซลล์ผู้ใหญ่ ซึ่งขณะนี้ยังอยู๋ในขั้นตอนวิเคราะห์ผลในเซลล์ผู้ใหญ่

นอกจากนั้น ทั้ง 2 ทีมยังใช้วิธีขั้นพื้นฐานเหมือนกัน คือให้ไวรัสนำยีน 4 หน่วยเข้าไปในเซลล์ผิวหนัง ซึ่งยีนเหล่านี้จะทำให้ยีนอื่นๆ ในเซลล์ปิดและเปิดการทำงาน แต่สิ่งที่ยังเป็นปริศนาอยู่คือ "ทำอย่างไรจึงจะสร้างเซลล์ที่มีคุณสมบัติเหมือนสเต็มเซลล์ตัวอ่อนได้"

ผมประหลาดใจอย่างยิ่งเมื่อเราทดลองกับหนูสำเร็จ” ยามานากะกล่าว แต่การพิสูจน์ว่าจะนำไปใช้อย่างไรกับเซลล์มนุษย์นั้น อาจยากถึงกับทำให้หงายหลัง ส่วนธอมสันก็ประหลาดใจเช่นกันที่ใช้เวลาไม่นานก็ค้นพบวิธีเปลี่ยนเซลล์ธรรมดาได้ ซึ่งเทคนิคนี้ง่ายจนห้องปฏิบัติการนับพันๆ แห่งในสหรัฐฯ สามารถเริ่มทำได้เลยในวันรุ่งขึ้น

เทคนิคที่พวกเขาพัฒนาขึ้นเรียกว่า อินดิวซ์ พลูริโพเทนท์ สเต็ม เซลล์ หรือไอพีเอสเซลล์ (induced pluripotent stem cells : iPS) ทำให้นักวิจัยสามารถผลิตสเต็มเซลล์ที่มีความคล้ายคลึงกับสเต็มเซลล์ที่ได้จากการโคลนตัวอ่อน โดยสามารถพัฒนาไปเป็นเนื้อเยื่อร่างกายทุกชนิดได้ เช่น เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ เซลล์ประสาท และเซลล์สมอง และในอนาคตผู้ป่วยอาจได้ใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนเนื้อเยื่อใหม่ที่เข้ากันได้กับพันธุกรรมของตัวเอง โดยไม่มีการต่อต้านจากร่างกาย

อย่างไรก็ดี การโคลนนิงในแบบที่แพร่หลายในปัจจุบันนั้นซับซ้อนและราคาแพง จึงไม่สามารถนำเทคนิคที่แพร่หลายมาใช้กับการรักษาทางอายุรแพทย์เป็นประจำได้


การค้นพบนี้ยกระดับงานวิจัย” ธอมสันเผยและกล่าวอย่างมีชัยว่า ยังเร็วเกินไปที่นักวิจัยจะยอมแพ้ และล้มเลิกการวิจัยสเต็มเซลล์ตัวอ่อนนี้ไป เพราะข้อโต้แย้งด้านจริยธรรมที่ผ่านมา ทำให้งานวิจัยสเต็มเซลล์ตัวอ่อนล่าช้าไป 4-5 ปี อย่างไรก็ดี ข้อโต้แย้งต่างๆ ก็จะยุติลง

นอกจากระแสตอบรับจากเจ้าของต้นตำรับการโคลนนิงแล้ว ยังได้ความชื่นชมต่อเทคนิควิธีนี้ไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ในทำเนียบขาว ซึ่ง จอร์จ ดับเบิลยู. บุช (George W. Bush) ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ ผู้เคยใช้สิทธิ์คัดค้านร่างกฎหมายสนับสนุนการวิจัยสเต็มเซลล์มาแล้วถึง 2 ฉบับก็มีท่าทีเปลี่ยนไป โดยแสดง "ความพึงพอใจอย่างยิ่ง"

ท่านประธานาธิบดีเชื่อว่าปัญหาทางการแพทย์จะสามารถแก้ไขได้ โดยปราศจากการประนีประนอมระหว่างเป้าหมายอันสูงส่งด้านวิทยาศาสตร์และความศักดิ์สิทธิ์แห่งชีวิตมนุษย์” บุชฝากข้อความผ่านทางเลขานุการด้านสื่อมวลชนให้นำออกแถลง

ก่อนหน้านี้ ความขัดแย้งเกี่ยวกับสเต็มเซลล์ตัวอ่อนเกี่ยวพันไปถึงการเมืองระดับประเทศมาแล้ว โดยข้อเรียกร้องที่สะเทือนอารมณ์มากมาย เช่น จาก แนนซี เรแกน (Nancy Reagan) อดีตนักแสดงและสตรีหมายเลยหนึ่งของสหรัฐฯ พร้อมทั้งนักแสดงอย่าง ไมเคิล เจ. ฟอกซ์ (Michael J. Fox) ซึ่งป่วยเป็นโรคพาร์กินสันส์ จนถึงเสียงเรียกร้องจากประชาชนอีกนับไม่ถ้วนที่ต้องการการรักษาที่ดีขึ้นด้วยสเต็มเซลล์ตัวอ่อน

แต่ข้อเรียกร้องเหล่านี้ก็ถูกคัดค้าน ด้วยการเปรียบเทียบให้เห็นว่า การทำลายตัวอ่อนแล้วดึงสเต็มเซลล์ ก็เท่ากับการทำลายชีวิตมนุษย์นั้นไปด้วย ทำให้ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา รัฐบาลสหรัฐฯ จึงไม่อนุมัติงบวิจัยใดๆ ให้กับการวิจัยสเต็มเซลล์ตัวอ่อนเลย จนรัฐบาลท้องถิ่นบางมลรัฐเช่น แคลิฟอร์เนีย และคอนเนคติกัต ต้องออกมาสนับสนุนโครงการวิจัยเหล่านี้เอง พร้อมทั้งรับผิดชอบงบประมาณด้วย

งานชิ้นนี้เป็นหลักชัยทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง เทียบได้กับการประดิษฐ์เครื่องบินลำแรกของ 2 พี่น้องตระกูลไรท์ก็ไม่ปาน เหมือนกับการเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนตะกั่วให้เป็นทองคำ” ดร.โรเบิร์ต แลนซา (Robert Lanza) เจ้าของบริษัท แอดวานซ์ เซลล์ เทคโนโลยี (Advanced Cell Technology) ซึ่งใช้สเต็มเซลล์จากการโคลนตัวอ่อนเรื่อยมา ทว่าปัญหาที่เตือนไว้คือ ยังยากอยู่ที่ผู้ป่วยจะหาค่าใช้จ่ายมารักษาได้

ส่วนบาทหลวงธอมัส เบิร์ก (Rev.Thomas Berg) จากสถาบันเวสต์เชสเตอร์ (Westchester Institute) นักคิดแห่งนิกายโรมันคาทอลิก มองว่า นับเป็นสถานการณ์แบบชนะ-ชนะ (win-win) ด้วยกันทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

เรามีทางที่จะเคลื่อนไปข้างหน้า ที่จะเปลี่ยนความเจ็บปวดจากเรื่องโต้แย้งระดับชาติเกี่ยวกับงานวิจัยที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ไปสู่ทางแก้ปัญหาที่สันติสุดๆ และเป็นไปได้” บาทหลวงว่า

อีกข้อดีของวิธียังเป็นการได้ไฟเขียวทุนวิจัยจากรัฐบาลด้วย ต่างจากวิธีเดิมที่นักวิจัยหมดสิทธิ์” ดั๊ก เมลตัน (Doug Melton) ผอ.ร่วมสถาบันสเต็มเซลล์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard Stem Cell Institute) กล่าว

อย่างไรก็ดี ยังมีเสียงสะท้อนจากเจ้าหน้าที่รายหนึ่งจากกลุ่มผู้ต่อต้านการทำสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนอย่างรุนแรงด้วยว่า ความสำเร็จนี้ นักวิทยาศาสตร์เองก็ควรที่จะกล่าวคำขอบคุณเสียงต่อกลุ่มรณรงค์คุณค่าของชีวิต (pro –life voices) ที่ทำให้พวกเขาได้มีการค้นพบครั้งนี้ด้วย

“ทั้งหมดเป็นผลมาจากการทำวิจัยแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนนี้” แครี กอร์ดอน เอิร์ลล์ (Carrie Gordon Earll) นักวิเคราะห์ด้านชีวจริยธรรมของกลุ่มคริสเตียนสายอนุรักษ์ ซึ่งมุ่งเน้นไปที่เรื่องของครอบครัวกล่าว

ขณะที่ รูดอลฟ์ ยานิช (Rudolf Jaenisch) นักวิจัยสเต็มเซลล์ผู้มีชื่อเสียงจากสถาบันไวท์เฮด (Whitehead Institute) มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ (Cambridge University) อังกฤษท้วงว่า ถึงกระนั้นเรื่องนี้ยังคงเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องจัดการทีเดียว และต้องพิสูจน์ต่อไปว่าทำได้จริงตามอ้าง

โดยเฉพาะประเด็นที่การปรับปรุงเซลล์ หน่วยพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอของเซลล์ผิวหนังจะถูกขัดขวางการทำงานจนอาจชักนำไปสู่การเกิดมะเร็ง ซึ่งย่อมไม่เป็นที่ยอมรับเมื่อมีการปลูกถ่ายให้แก่ผู้ป่วยได้ แม้ทีมวิจัยจะเชื่อมั่นว่า การขัดขวางการทำงานของดีเอ็นเอจะมีเพียงเล็กน้อยและควบคุมไม่ให้เกิดมะเร็งได้ก็ตาม

ขณะเดียวกัน ยังเป็นที่กังขาว่าประสิทธิภาพของสเต็มเซลล์ที่ได้จากาการวิจัยใหม่นี้จะดีหรือด้อยกว่าสเต็มเซลล์ตัวอ่อน ทั้งในแง่พฤติกรรมและศักยภาพการนำไปใช้งาน ซึ่งหวังกันว่าในท้ายที่สุด สเต็มเซลล์แบบใหม่นี้น่าจะนำไปสู่ข้อได้เปรียบสเต็มเซลล์แบบเก่าด้านอื่นๆ ด้วย เช่น อาจนำไปสู่การศึกษาหาต้นกำเนิดของโรคพันธุกรรมและเพื่อพัฒนายาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาภายในห้องปฏิบัติการ

ส่วน ดร.จอร์จ ดาเลย์ (George Daley) นักวิจัยอีกคนจากฮาร์วาร์ดอ้างว่า เขาเองก็ได้ศึกษาสเต็มเซลล์วิธีใหม่นี้และประสบความสำเร็จเช่นกัน โดยทำควบคู่ไปกับวิธีเก่า แต่สำหรับวิธีใหม่นี้นั้นก็ยังไม่แน่ชัดว่าจะใช้เวลาอีกนานเท่าใดที่จะเข้าใกล้กับการใช้กับความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งได้

ในท้ายที่สุด เราจะเห็นว่าวิธีไหนจะใช้ได้ผลหรือวิธีไหนจะนำไปใช้จริงได้มากกว่ากัน” ดาเลย์ ทิ้งท้าย

อย่างไรก็ดี สำหรับดร.ยามานากะและธอมสัน 2 ผู้นำทีมที่ค้นพบเทคนิคใหม่ครั้งนี้ หาได้เป็นหน้าใหม่ในวงการวิจัยสเต็มเซลล์แต่อย่าง ทั้งคู่ถือได้สร้างผลงานให้เป็นที่รู้จักมาก่อนแล้ว โดยธอมสันและคณะเป็นทีมแรกที่แยกสเต็มเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์ออกมาได้ในปี 2541

ส่วน ดร.ยามานากะก็สร้างประวัติศาสตร์เมื่อปีที่ผ่านมาด้วยการรายงานผลสำเร็จของการเปลี่ยนการทำงานของเซลล์ (รีโปรแกรม) ในหนูให้มีลักษณะเหมือนกับสเต็มเซลล์ตัวอ่อน แม้ว่าจะมีนัยสำคัญที่ต่างออกไป แต่ มิ.ย.ที่ผ่านมา ทีมของ ดร.ยามานากะพร้อมนักวิจัยอีก 2 คนได้ประกาศว่า พวกเขาสร้างเซลล์หนูจากสเต็มเซลล์ได้อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ลอรี โซลอธ (Laurie Zoloth) นักจริยธรรมจากมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสต์เทิร์น (Northwestern University) ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า วิธีการรีโปรแกรมเซลล์นั้น เป็นเพียงการเลี่ยงไม่ทำลายตัวอ่อน แต่ก็ยังต้องการไข่ที่ยังไม่ปฏิสนธิเพื่อสร้างตัวอ่อนอยู่ดี ซึ่งต้องใช้เซลล์ไข่จากผู้หญิงเหมือนเดิม

ที่สำคัญ ก็ยากยิ่งที่จะได้ไข่ของมนุษย์เพศหญิงจำนวนมากพอใช้ในการวิจัย อีกทั้งการได้เซลล์ไข่มา หญิงเจ้าของไข่ยังต้องได้รับการรักษาทางยาและการผ่าตัด ซึ่งพวกเธอสมควรจะได้รับค่าชดเชยด้วย
เปรียบเทียบการทำสเต็มเซลล์ 2 แบบ ซ้ายมือคือ วิธีใหม่ที่เรียกว่า iPS ส่วนขวามือคือการทำสเต็มเซลล์วิธีเก่าด้วยการโคลนนิง




กำลังโหลดความคิดเห็น