xs
xsm
sm
md
lg

รู้ทันประเทศไทย: เลือกใช้ "นิวเคลียร์" ต้องพร้อมรับผลสืบเนื่องยาวนาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คนนิวเคลียร์แจงจะเลือกนิวเคลียร์ต้องรู้ว่าเลือกเพราะผลสืบเนื่องยาวนานและต้องเตรียมการไว้เพื่อลูกหลาน ด้านฝ่ายคัดค้านให้ความเห็นควรเน้นสร้างพลังงานหมุนเวียนและสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล้กสำหรับชุมชน ส่วนฝ่ายเป็นกลางแจงต้องให้ข้อมูลประชาชนอย่างรอบด้าน

เป็นกระแสที่แรงอย่างต่อเนื่องสำหรับประเด็น "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์" ที่มีทั้งกระแสสนับสนุนและคัดค้าน รายการ "รู้ทันประเทศไทย" ออกอากาศเมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งดำเนินรายการโดย ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ผ่านทางสถานีโทรทัศน์ "เอเอสทีวี" ได้เชิญผู้มีความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวในหลากหลายมุมมองมาแลกเปลี่ยนทรรศนะในประเด็น "พลังงานนิวเคลียร์ ทางเลือกพลังงานไทย" ณ อาคารห้องสมุดของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่เพิ่งเปิดให้บริการ

ผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นประกอบด้วย รศ.ดร.ธัชชัย สุมิตร กรรมการที่ปรึกษาสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย ดร.จิรพล สินธุนาวา อาจารย์คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพาณิชย์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งล้วนเห็นพ้องต้องกันว่าพลังงานจากก๊าซธรรมชาติ ถ่านหินและน้ำมันซึ่งประเทศไทยพึ่งพาในสัดส่วนถึง 90% นั้นกำลังจะหมดไป ขณะที่ความต้องการใช้กลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงจำเป็นที่เราจะต้องหาแหล่งพลังงานใหม่

ในประเด็นว่าจะทำอย่างไรให้ความต้องการลดใช้พลังงานไม่เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าภายใน 10 ปีนั้น รศ.ดร.ธัชชัยกล่าวว่า แต่ละคนย่อมรู้ว่าใช้พลังงานไปมากน้อยแค่ไหน บางคนอาจจะลดการใช้พลังงานได้ต่ำสุดเท่าที่จะสามารถดำรงชีวิตได้ แต่ก็มีคนอีกนับสิบล้านคนที่จำเป็นต้องยกระดับฐานะและคุณภาพชีวิตตัวเองให้ดีขึ้น ทั้งในชีวิตความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพ ซึ่งในอนาคตอีกร้อยปีไปจนถึงนับพันปีจะเหลือพลังงานทดแทนและพลังงานนิวเคลียร์ให้ใช้ โดยเรายังใช้ยูเรเนียมซึ่งเป็นเชื้อเพลิงนิวเคลียร์กันน้อย

ณ ความรู้ปัจจุบันต้อง "นิวเคลียร์" เท่านั้น

"เมื่อปิโตรเลียมหมดลงก็จะเหลือนิวเคลียร์ให้ใช้เพราะไม่มีทางเลือกอื่น" รศ.ดร.ธัชชัยกล่าว พร้อมแจงว่ายังมีพลังงานความร้อนใต้พิภพซึ่งหากสามารถฉีดน้ำลงไปถึงชั้นหินร้อนก็จะได้ไอน้ำขึ้นมาปั่นกระแสไฟฟ้าและเมื่อรวมกับนิวเคลียร์แล้วได้พลังงานที่ราคาถูกก็สามารถใช้ผลิตพลังงานไฮโดรเจนจากน้ำทะเลได้ โดยความรู้ในปัจจุบันเป็นอย่างนี้ซึ่งอนาคตอาจเกิดความรู้เกี่ยวกับแนวทางหรือแหล่งพลังงานอื่นๆ ก็ได้แต่มีโอกาสน้อย

"ตอนนี้เราขาดความมั่นคงทางพลังงาน ไม่ใช่ว่าน้ำมันแพงหรือไม่แพง แต่เราไม่รู้ว่าราคาจะเป็นเท่าไหร่ แต่พลังงานนิวเคลียร์มีราคาคงที่เพราะปีหนึ่งใช้เชื้อเพลิงนิวเคลียร์เป็นยูเรเนียมประมาณ 80 ตัน ซึ่งถ้าเทียบกับน้ำมันก็เป็น 10 ล้านบาเรล สเกลต่างกันเยอะ ทุกวันนี้เราไม่รู้ว่าราคาน้ำมันพรุ่งนี้จะเป็นเท่าไหร่ แล้วอีก 10 ปีจะมีราคาเท่าไหร่ ถ้ามีแหล่งพลังงานที่กำหนดราคาได้และเป็นการใช้พลังงานอย่างผสมผสาน (energy mix) ที่ดี เราก็จะมีความมั่นคงพลังงาน เพราะมีความคงที่ของพลังงานพอสมควร" รศ.ดร.ธัชชัยกล่าว

คิดมิติใหม่สร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กกระจายตามท้องถิ่น

ด้าน ดร.คุณหญิงกัลยาได้เสนอพลังงานชีวมวลเป็นอีกทางหนึ่ง โดยได้ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีได้รับทุนประมาณ 100 ล้านบาทไปศึกษาและสามารถสร้างต้นแบบโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ผลิตกระแสไฟฟ้า 100 กิโลวัตต์จ่ายให้ 100 ครัวเรือนได้ซึ่งต้นทุนของโรงไฟฟ้าดังกล่าวอยู่ที่ 10 ล้าน แต่หากขยายขึ้นเป็นโรงไฟฟ้า 200 กิโลวัตต์ ต้นทุนจะลดลงเหลือ 18 ล้านบาท ซึ่งจากการทดลองใช้ภายในมหาวิทยาลัยพบว่าช่วยการใช้ไฟฟ้าจากส่วนกลางได้ 50% และหากตำบลต่างๆ นำไปใช้ก็จะช่วยลดความต้องการใช้พลังงานของประเทศลง ขณะที่คุณภาพชีวิตของคนก็จะดีขึ้น

"เห็นด้วยกับคุณหญิง ต่อไปการผลิตไฟฟ้าเราต้องไม่คิดอย่างเดิม ที่คิดกันเป็นโครงการใหญ่ 1000-1500 เมกะวัตต์ เราต้องคิดมิติใหม่ คือขนาดเล็กและกระจายเพื่อตอบสนองความต้องการในท้องถิ่นให้มากขึ้น แทนที่จะรอคอยการผลิตไฟฟ้าและส่งจ่ายผ่านกริดใหญ่ของประเทศอย่างทุกวันนี้อย่างเดียว ตอนนี้จะคิดเติบโตแบบอดีตไม่ได้แล้ว หลายอย่างต้องทบทวนแล้ว และที่คุณหญิงพูดมานั้นมีความเป็นได้ในทางปฏิบัติมาก ใครต้องการใช้ไฟฟ้าที่ไหนก็ผลิตที่นั่น ในอุดมคติเราอยากจะผลิตไฟฟ้าแล้วส่งไฟข้ามรั่วถึงผู้ใช้เลยด้วยซ้ำไป" ดร.จิรพลกล่าวและแจงว่าแต่ละปีเราต้องสูญเสียพลังงานไฟฟ้า 8-10% กับการจัดส่งไฟฟ้าไปยังที่ต่างๆ

เมื่อเลือก "นิวเคลียร์" ต้องพร้อมรับผลสืบเนื่องยาวนาน

รศ.ดร.ธัชชัยกล่าวว่าเห็นด้วยกับการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างเต็มประสิทธิภาพแต่ก็แสดงความกังวลต่อเงินลงทุน เพราะพลังงานหมุนเวียนนั้นต้องใช้เงินลงทุนสูงและไทยก็เป็นประเทศที่ยากจน อีกทั้งไม่ควรจะใช้พลังงานอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์หรือแม้แต่พลังงานนิวเคลียร์ พร้อมยกตัวอย่างการใช้พลังงานลมผลิตกระแสไฟฟ้า 1,000 เมกะวัตต์นั้นต้องใช้พื้นที่ 50 ตารางกิโลเมตร แต่ไม่ใช่พื้นที่สี่เหลี่ยมจตุรัสหากแต่เป็นการกระจายตามพื้นที่ที่มีลม ซึ่งประเทศไทยคงรับไม่ได้

"สัดส่วนการใช้พลังงานไหนแค่ไหนคงต้องดูเรื่องความมั่นคงทางพลังงานและความมั่นคงทางราคาพลังงาน ถ้าใช้พลังงานลมต้องมีพลังงานไฟฟ้าอย่างอื่นด้วย เพราะถ้าลมหยุดก็ต้องมีโรงไฟฟ้าอื่นจ่ายไฟฟ้าทดแทน ถ้ามีการผสมผสานพลังงานที่ดีก็สามารถดำเนินการได้ ทั้งลม แสงแดด ปิโตรเลียม น้ำและอื่นๆ ไม่ควรรังเกียจนิวเคลียร์ แต่ต้องเลือกโดยที่รู้ว่าเลือก เพราะว่านิวเคลียร์มีผลสืบเนื่องที่ยาวนาน เมื่อไหร่ที่เลือกใช้แล้วจะหยุดไม่ได้" รศ.ดร.ธัชชัยกล่าว

"ถ้าเราเลือกที่จะใช้นิวเคลียร์เราก็ต้องดำเนินการเพื่อใช้ให้ดีที่สุดแต่ถ้าไม่แน่ใจก็อย่าเพิ่งเลือก อย่างไรก็ดีอีก 100 ปีข้างหน้าเราจะหนีพ้นไหม ความรู้ที่มีในวันนี้บอกว่าคงหนีไม่พ้น ซึ่งเราคงต้องเลือกว่าอีก 100 ปีเราจะไม่มีความรู้เรื่องนี้เลยหรือจะค่อยๆ สะสมความรู้เรื่องนี้ ปัญหาคือถ้าเราเลือกใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เราต้องดูแลเรื่องการจัดเก็บกากไม่ให้เป็นอันตรายซึ่งต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เลือกตั้งแต่ต้น" รศ.ดร.ธัชชัย

"กากนิวเคลียร์" คาใจ

แม้ว่าในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงนิวเคลียร์จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยซึ่งหลายคนยกมาเป็นข้อดีของโรงไฟฟ้านวเคลียร์ แต่ประเด็นการกำจัด "กากนิวเคลียร์" ก็เป็นสิ่งที่หลายคนกังวล โดย ดร.จิรพลได้ชี้ว่าเป็นปัญหาหนักอกของประเทศที่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และมีต้นทุนการกำจัดที่สูงมาก

"ผมไม่เห็นด้วยเพราะมันเพิ่มขึ้นทุกวัน ภาระที่ต้องดูแลก็เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งเป็นปัญหาหนักอกของประเทศที่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งในการเก็บหรือเคลื่อนย้ายเพื่อนำไปฝั่งกลบทั้งโดยรถยนต์ ที่สหรัฐฯ มีอุบัติเหตุขณะเคลื่อนย้ายมีเป็นร้อยๆ ครั้ง เป็นปัญหาที่ใหญ่มาก ต้นทุนการผลิตก็สูงกว่าเชื้อเพลิงทุกชนิด ธนาคารโลกก็ระบุว่าแพงกว่า เราต้องหาทางเลือกที่ดีกว่า ดูค่าเชื้อเพลิงอย่างเดียวก็ถูก แต่จริงๆ แล้วการจัดการกากเป็นค่าใช้จ่ายที่แพงกว่า ยิ่งนานวันผ่านไปยิ่งแพง" ดร.จิรพลกล่าว

"เรื่องกากนิวเคลียร์เป็นสิ่งที่ทุกคนกังวล ดิฉันไม่ขัดข้องเรื่องเทคโนโลยีในการนำยูเรเนียมหรือพลูโตเนียมมาใช้ แต่ว่ามีทางเลือกอื่นอย่างที่ ดร.ธัชชัยเรียกว่าการใช้พลังงานอย่างผสมผสานจะนำมาใช้อย่างไร นิวเคลียร์เป็นสิ่งที่ดีที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อย แต่ขอเสริมว่าในกระบวนการผลิตแร่ยูเรเนียมที่เหมืองก็ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว จนถึงกระบวนการสกัด มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีของแต่ละประเทศ" ดร.คุณหญิงกัลยากล่าวถึงความกังวลเดียวกัน

ทั้งนี้เหตุผลที่ทุกคนกลัวกากนิวเคลียร์นั้น รศ.ดร.ธัชชัยกล่าวว่าเป็นเพราะพลูโตเนียมที่แตกตัวจากการใช้ยูเรเนียมนั้นสามารถนำไปพัฒนาเป็นระเบิดได้ แตหากมองในแง่พลังงานแล้วพลูโตเนียมเป็นแหล่งพลังงานที่ดีกว่ายูเรเนียม โดยอนาคตญี่ปุ่นจะใช้เชื้อเพลิงนิวเคลียร์รูปแบบใหม่ซึ่งเป็นส่วนผสมระหว่างพลูโตเนียมออกไซด์และยูเรเนียมออกไซด์ ซึ่งจะจำกัดกากพลูโตเนียมได้ในที่สุด

"อย่างที่บอกว่าถ้าจะใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็ต้องรู้ว่าเลือกที่จะใช้และดำเนินการทุกอย่างทั้งขณะใช้และเลิกใช้ให้ปลอดภัย เรื่องของการจัดการกากก็ต้องคิดตั้งแต่วันแรกที่คิดจะใช้แล้ว ซึ่งวิธีการจัดการกากง่ายกว่าอย่างอื่นซึ่งก็คือการเก็บไว้ในที่ลึกๆ จะหาได้ไหมในประเทศไทย ก็หาได้ ระบบจัดการกากเป็นอะไรที่ไม่แรงไปกว่านั้น อยู่กับที่ เป็นของแข็ง ขนาดสารพิษบางไม่สบายและอยู่นานเราก็ยังปล่อยออกมาทุกวัน แต่ทุกคนกลับกลัวเรื่องกากนิวเคลียร์ สำหรับสารพิษเราก็แค่อย่าไปสัมผัสมัน" รศ.ดร.ธัชชัยกล่าว

เปรียบใช้นิวเคลียร์เสี่ยงเหมือนขึ้น "เครื่องบิน"

ในเรื่องความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้น รศ.ดร.ธัชชัยกล่าวว่ามีระบบเป็นชั้นๆ ป้องกันรั่งสีรั่วออกมา ซึ่งสามารถที่จะไปนอนพิงกำแพงบ่อปฏิกร์ณโดยที่ได้รับรังสีน้อยกว่าคนที่ขึ้นเครื่องบินซึ่งได้รับรังสีคอสมิกปริมาณสูง โดยปริมาณรังสีที่ได้รับจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นน้อยมากจนไม่สามารถวัดค่าได้ อีกทั้งการออกแบบโรงไฟฟ้าก็ต้องมีระบบป้องกันเผื่อกรณีอุบัติเหตุร้ายแรงต่างๆ ไว้อยู่แล้ว อาทิ แผ่นดินไหวรุนแรง เครื่องบินพุ่งชน ถุกวางระเบิดหรือก่อการร้าย เป็นต้น และนับว่าความเสี่ยงคล้ายกับการโดยสารเครื่องบินที่เสี่ยงน้อยกว่าการเดินทางด้วยรถยนต์ ซึ่งเมือ่คิดจะเลือกใช้แล้วก็ต้องยอมรับความเสี่ยง

ขณะที่ ดร.จิรพลกล่าวว่าแม้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะไม่เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงกรณีของเชอร์โนบิลที่รัสเซีย และคงไม่มีใครตั้งใจสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อเพิ่มรังสีให้กับสิ่งแวดล้อม แต่ก็เกิดกรณีรังสีรั่วไหลจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต่างๆ ออกมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งวิธีที่จะป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำก็คือไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ พร้อมทั้งแจงว่าปัจจุบันรัฐกำลังสับสนระหว่างการให้ความรู้ การประชาสัมพันธ์และการโฆษณา

"เห็นด้วยว่าเราต้องเตรียมความพร้อมโดยการศึกษา แต่ที่ผ่านมาเราไม่ได้ให้การศึกษาอย่างเพียงพอ รัฐบาลนี้ทำแบบไลฟสไตล์ แยกไม่ออกระหว่างการศึกษา การโฆษณา การประชาสัมพันธ์ ตอนนี้โฆษณาอย่างเดียวและเป็นการโฆษณาชวนเชื่อด้วย กำลังทำให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีและจำเป็น และกำลังจะใช้เงินอีก 600-700 ล้านบาทเพื่อสอนให้คนเชื่อว่า "ดี" ซึ่งผมเห็นว่าไม่ใช่ ถึงเวลาจะไม่ทำก็ไม่ทำ แต่ถึงเวลาจะทำก็ทุ่มสุดตัวว่าดีๆ และปิดหูปิดตาอีกด้านที่ไม่ดี" ดร.จิรพลกล่าว

ปู่ตัดสินใจสร้าง "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์" ให้หลาน

"มีคนบอกว่าคนที่อายุ 50 ปีขึ้นไปไม่ควรตัดสินใจเรื่องนี้ เพราะอาจจะไม่ได้ใช้หรือไม่สนใจ แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่เราตัดสินใจในวันนี้คนที่จะได้รับผลคือลูกเรา หลานเรา ซึ่งลูกเราก็อาจจะเป็นคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเดินเครื่องโรงไฟฟ้า แต่หลานก็อาจจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการกากที่ต้องใช้เวลาอีก 50-60 ปี ซึ่งโครงการนิวเคลียร์เป็นโครงการระยะยาวที่การตัดสินใจต้องใช้เวลาที่เหมาะสมและใช้ความรับผิดชอบสูง ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยหลานเราก็อาจจะถามว่าทำไมปู่ไม่ทำอะไรเลยแล้วปล่อยให้หลานลำบาก" รศ.ดร.ธัชชัยกล่าว

ด้าน ดร.คุณหญิงกัลยากล่าวว่าเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องให้ข้อมูลแก่ประชาชนทั้งด้านจริงและบอกให้รับรู้ถึงด้านไม่จริง กระจายความรู้ให้มากที่สุดและให้คนไทยได้เข้าใจว่าวิทยาศาสตร์กับการใช้วิทยาศาสตร์นั้นไม่ใช่เรื่องเดียวกัน รวมถึงเรื่องการนำไปใช้อย่างเหมาะสม ทิศทางการพัฒนาของประเทศ อุตสาหกรรมใหญ่ๆ ที่เราต้องพิจารณารับหรือไม่รับ ซึ่งต้องคณะกรรมการที่คำนึงถึงยุทธศาสตร์ และหากทำแล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งเมื่อประชาชนได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วนแล้วก็ง่ายต่อการตัดสินใจ

ทั้งนี้ ดร.คุณหญิงกัลยากล่าวว่าเชื่อมั่นในเทคโนโลยีแต่ยังไม่มั่นใจในบุคลากร โดยแสดงความกังวลว่า หากเป็นชาวญี่ปุ่นก็จะมั่นใจได้ว่าเขาจะควบคุมมาตรฐานได้ตามขั้นตอน แต่คนนั้นจะสามารถควบคุมมาตรฐานให้เป็นไปตามขั้นตอนได้แค่ไหน ซึ่งเป็นความเห็นที่สอดคล้องกับ ดร.จริพล

"เราคิดจะนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาใช้ต้องคิดให้รอบคอบ ผมไม่วางใจ และท้ายที่สุด การก่อสร้าง งบประมาณที่บานปลาย ตรงนี้ต่างหากคือน่าห่วง แค่พื้นที่เรียบอย่างสนามบินสุวรรณภูมิยังร้าว แล้วเตาปฏิกรณ์จะฝากความหวังไว้ได้มากน้อยเพียงใด" ดร.จิรพลกล่าวถึงความกังวลที่มีต่อโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของไทย

ดร.จิรพล สินธุนาวา ผู้ไม่เห็นดว้ยกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ต้องการให้ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนและการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กสำหรับใช้ภายในชุมชน






กำลังโหลดความคิดเห็น