xs
xsm
sm
md
lg

ขยับเข้าใกล้ "คน" เมื่อนักวิจัยสหรัฐฯ โคลนสเต็มเซลล์ตัวอ่อนไพรเมทเป็นครั้งแรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ลิงวอกวัย 10 ปีที่นักวิจัยดึงเอานิวเคลียสจากเซลล์ผิวหนังไปฝากไว้ในไข่ของลิงวอกเพศเมียจนสำเร็จ นับเป็นครั้งแรกที่สร้างสเต็มเซลล์ไลน์จากตัวอ่อนของสิ่งมีชีวิตจำพวกไพรเมทได้ถึง 2 ไลน์ (ภาพ : เนชันแนลจีโอกราฟิก)
เนเจอร์/เอพี/เอเอฟพี – นักวิจัยสหรัฐฯ พัฒนาไปอีกขั้น ด้วยการทำสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนลิงได้สำเร็จเป็นครั้งแรก พิสูจน์ให้เห็นว่าสัตว์ในตระกูล "ไพรเมท" ที่มีมนุษย์ร่วมวงอยู่ด้วยก็สามารถสร้างสเต็มเซลล์ได้เช่นเดียวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ

แม้ว่ารัฐบาลของประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช (George W. Bush) แห่งสหรัฐอเมริกาได้สั่งจำกัดงบประมาณที่จะให้แก่งานวิจัยทางด้านเซลล์ต้นกำเนิด (stemcell) ที่มาจากตัวอ่อนมนุษย์ (human embryos) นั่นก็เพราะข้อขัดแย้งด้านจริยธรรมและการเมืองแฝงอยู่ จนกลายเป็นตัวฉุดให้ความก้าวหน้าในงานวิจัยด้านนี้เดินหน้าช้าลงไปมาก แต่นักวิจัยสหรัฐฯ ก็สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่เกี่ยวกับสเต็มเซลล์ได้สำเร็จอีกครั้ง

วารสารเนเจอร์ (Nature) ของอังกฤษฉบับออนไลน์ ฉบับวันที่ 14 พ.ย.50 เปิดเผยความสำเร็จของทีมวิจัยจากสหรัฐฯ ว่า พวกเขาสามารถทำสำเนาหรือโคลนนิงตัวอ่อนของลิงวอก (rhesus macaque) โดยใช้เทคนิคเดียวกับการโคลนนิงแกะดอลลี และสัตว์อื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่เทคนิคนี้สามารถนำไปใช้กับสัตว์ตระกูลไพรเมท (จำพวกคนและลิง) ได้สำเร็จ

ทีมวิจัยที่นำโดย โชอุคฮรัท มีตาลีปอฟ (Shoukhrat Mitalipov) นักวิทยาศาสตร์เชื้อสายรัสเซียน จากศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งสหรัฐฯ และศูนย์สเต็มเซลล์ ในโอเรกอน (Oregon National Primate Research Center, the Oregon Stemcell Center) เมืองพอร์ตแลนด์ สหรัฐฯ โดยพวกเขาสร้างเซลล์ต้นกำเนิด (สเต็มเซลล์) จากตัวอ่อนของลิงวอกวัย 10 ปีขึ้นมาได้ 2 ไลน์

ทั้งนี้ "ดอลลี" นับเป็นสิ่งสัตว์ชนิดแรกของโลกที่ได้รับการโคลนนิงขึ้นมาจนเป็นผลสำเร็จในปี 2539 โดยใช้เทคนิคการเปลี่ยนถ่ายนิวเคลียสของเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย (ยกเว้นเซลล์สืบพันธุ์) หรือเรียกว่าเทคนิค "เอสซีเอ็นที" (SCNT : Somatic-cell nuclear transfer) ซึ่งส่วนที่เป็นสารพันธุกรรมในไข่ก็จะถูกย้ายออกมา และแทนที่ด้วยนิวเคลียสของเซลล์ผู้ใหญ่

สิ่งมีชีวิตที่ใช้เทคนิค SCNT โคลนนิงจนเป็นผลสำเร็จแล้ว ได้แก่ หนู หมู แมว วัว และสุนัข และล่าสุดคือ "ลิง" สัตว์ในตระกูลไพรเมทตามที่ทีมจากโอเรกอนอ้าง

มีตาลีปอฟและทีม นำดีเอ็นเอจากเซลล์ผิวหนังของลิงวอก เพศผู้อายุ 10 ปีใส่ในเซลล์ไข่ที่ยังไม่ได้ปฏิสนธิ ที่ดึงเอานิวเคลียสออกแล้วของลิงวอกเพศเมีย โดยนำไปเพาะเป็นตัวอ่อนระยะแรกในห้องแล็บ ซึ่งพวกเขาสามารถเก็บเกี่ยวสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนดังกล่าวได้

ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรกระบวนการโคลนนิงลิงที่พวกเขาทำสำเร็จไว้แล้ว

นอกจากนี้ พวกเขายังดำเนินงานวิจัยขึ้นอีกชุด โดยผลิตสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนด้วยกรรมวิธีที่ต่างออกไป ด้วยวิธีการ "เวอร์จินเบิร์ธ" หรือการสืบพันธุ์โดยที่ไข่เพศเมียไม่ต้องปฏิสนธิกับอสุจิจากเพศผู้ (Parthenogenesis) ทั้งนี้ตัวอ่อนที่เติบโตในระยะแรกจะยังไม่มีสารพันธุกรรมจากเพศผู้ ทำให้สเต็มเซลล์ที่ได้ มีพันธุกรรมเข้ากันกับเพศเมียเจ้าของไข่ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งผลการวิจัยเบื้องต้นยังชี้ว่า สเต็มเซลล์จากวิธีนี้น่าจะมีประโยชน์อย่างยิ่งในการรักษาโรคร้ายต่างๆ ของผู้หญิงในอนาคตได้ด้วย

แม้งานวิจัยจะไปด้วยดี มีตาลีปอฟ เผยต่อว่า แต่กระบวนการผลิตสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนลิงก็ยังยากจะนำไปประยุกต์ใช้กับมนุษย์ในเวลาอันใกล้อยู่ดี เนื่องจากยังขาดประสิทธิภาพอยู่มาก คือกว่าจะได้สเต็มเซลล์มาใช้งานแต่ละชุดนั้น พวกเขาอาจต้องใช้เซลล์ไข่จากเพศเมียมากถึง 150 ฟองทีเดียว ซึ่งหากมีการนำมาใช้งานจริงกับคน ก็เป็นเรื่องที่ยุ่งยากในการจัดหาเซลล์ไข่จำนวนมากขนาดนั้นมาใช้อย่างแน่นอน

แต่หากสามารถลดจำนวนการใช้เซลล์ไข่เหล่านั้นให้เหลือเพียง 5 -10 ฟองต่อการได้สเต็มเซลล์มา 1 ชุดในอนาคตแล้ว เขาเชื่อว่าการประยุกต์ใช้ในงานระดับคลินิกก็ไม่น่ายากอีกต่อไป และมั่นใจว่าจะใช้ได้ผลดีในมนุษย์ด้วย

ทั้งนี้ เมื่อเกิดเนื้อเยื่ออื่นๆ ขึ้นใหม่ภายในร่างกาย เพื่อแสดงให้เห็นว่าสเต็มเซลล์ที่เขาสร้างขึ้นมาจะสามารถรักษาโรคคต่างๆ ได้อย่างปลอดภัย มีตาลีปอฟ เตรียมการศึกษาการใช้สเต็มเซลล์รักษาเบาหวานในลิง ซึ่งการศึกษาแบบนี้ทำสำเร็จแล้วในหนู แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังคงผิดหวังกับการทดลองในไพรเมท ซึ่งเกี่ยวเนื่องใกล้เคียงกับมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง

ทว่า ก่อนการตีพิมพ์ผลงานวิจัยชิ้นนี้ วารสารเนเจอร์ได้ให้นักวิทยาศาสตร์อีกกลุ่มพิสูจน์ผลการโคลนนิงของทีมงานมีตาลีปอฟ พร้อมทั้งตีพิมพ์ข้อความยืนยันการทดลองจากกลุ่มนักวิทย์ที่มาตรวจสอบไปพร้อมๆ กับบทความของมีตาลีปอฟด้วย

เดวิด แครม (David Cram) และคณะจากมหาวิทยาลัยโมนาช (Monash University) ในเมลเบิร์น ออสเตรเลีย รับหน้าที่ตรวจสอบงานวิจัยดังกล่าว โดยได้วิเคราะห์ดีเอ็นเอของลิงเพศผู้ ลิงเพศเมียผู้เป็นเจ้าของเซลล์ไข่และสเต็มเซลล์ที่ได้ พบว่าปราศจากข้อกังขาใดๆ โดยสเต็มเซลล์ไลน์ดังกล่าวเกิดมาจากตัวอ่อนที่ได้รับการโคลนนิงจริง

ที่เนเจอร์ต้องเพิ่มขั้นตอนพิเศษนี้ขึ้นมานั้น เพราะผลกระทบของกรณีลวงโลกครั้งใหญ่ของ หวาง วู-ซก (Hwang Woo -Suk) นักวิทยาศาสตร์ผู้อื้อฉาวชาวเกาหลีใต้ ซึ่งอ้างว่าสามารถผลิตสเต็มเซลล์ไลน์จากการโคลนตัวอ่อนมนุษย์ได้เมื่อปี 2547

อย่างไรก็ดี เนเจอร์อธิบายว่า การพิสูจน์ดังกล่าวทำขึ้นไม่ใช่เพราะไม่เชื่อมั่นในงานวิจัยของมีตาลีปอฟและคณะ แต่ทิ้งท้ายหลังบทความว่า จะต้องมีคำถามเกิดขึ้นหลังจากตีพิมพ์บทความชิ้นนี้เป็นแน่ และพวกเขาก็ชิงหาคำตอบให้ก่อน เพื่อบรรเทาข้อสงสัยเหล่านั้นลง
ลิงวอกเพศเมียที่นักวิจัยต้องใช้ไข่นับร้อยฟองถึงจะสร้างสเต็มเซลล์ได้สำเร็จ (ภาพ : เนชันแนลจีโอกราฟิก)
มีตาลีปอฟ ผู้นำทีมวิจัย (ภาพ : เนชันแนลจีโอกราฟิก)
ขั้นตอนการโคลนนิงตัวอ่อนลิงเพื่อสร้างสเต็มเซลล์ (ภาพ : เอพี)
วิธีการฝากนิวเคลียสจากเซลล์ผิวหนังลิงเพศผู้เข้าสู่เซลล์ไข่ของเพศเมีย (ภาพ : เนชันแนลจีโอกราฟิก)



กำลังโหลดความคิดเห็น