xs
xsm
sm
md
lg

เสนอแผน 20:20 ลดใช้พลังงาน-ชุมชนผลิตไฟฟ้าเพิ่ม ปี 2020 ไม่ต้องง้อนิวเคลียร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ขณะที่การเดินหน้าขอความเห็นจากประชาชนในการสร้าง "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์" ในอีก 13 ปีตามแผนพลังงาน "พีดีพี 2007" ซึ่งจะได้ข้อสรุปในอีก 3 ปีนั้น อ.เศรษฐศาสตร์ เกษตรชี้ว่า แผนนี้ไม่มีตัวเปรียบเทียบระหว่างเลือก "มี" กับ "ไม่มี" โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยเฉพาะในเรื่องงบประมาณที่ต้องใช้ 1.8 พันล้านบาทศึกษาความเป็นได้ แต่พลังงานทางเลือกใช้แค่ 200 ล้านบาท พร้อมเสนอแผน "20:20 by 2020" ลดใช้ไฟ 20% ให้ท้องถิ่นผลิตไฟฟ้าเพิ่มอีก 20% ภายในปี 2020 ไม่ต้องพึ่งพานิวเคลียร์แน่นอน

ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2550-2564 (พีดีพี 2007) ซึ่งได้ผ่านมติเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติและที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ได้มีมติเห็นชอบไปเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งสำระสำคัญของแผนดังกล่าวคือการกำหนดทางให้ให้มีการจ่ายไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ 2,000 เมกะวัตต์ในปี 2563 และอีก 2,000 เมกะวัตต์ในปี 2564

แต่มีระยะเวลาในการศึกษาความเป็นไปได้ 3 ปีว่าจะสามารถสร้างไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ได้หรือไม่ และในวันที่ 17 พ.ย.นี้ จะมีการวิพากษ์แผนดังกล่าวเพื่อจัดทำฉบับสมบูรณ์กันที่โรงแรมอามารี วอเตอร์เกท พร้อมทั้งการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากทบวงพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ หรือไอเออีเอ ในเดือน ม.ค. 2551

"โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใช้เงิน 1.8 พันล้านบาทศึกษาความเป็นได้ แต่พลังงานทางเลือกใช้แค่ 200 ล้านบาทก็จะน่าพอ" คำกล่าวของ นายเดชรัต สุขกำเนิด จากภาควิชาเศรษฐศาสตร์และทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระหว่างการสัมมนา "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์กับสังคมไทย" ที่จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ณ ห้องประชุมสมาคมฯ ตึกช้าง กทม. เมื่อวันที่ 15 พ.ย.นี้

ทั้งนี้ นายเดชรัตแสดงความเห็นว่า ทุกทางเลือกของแผนดังกล่าวได้บรรจุว่าต้องมีโรงไฟฟ้ากำลังการผลิต 4,000 เมกะวัตต์โดยไม่มีทางเลือกที่ไม่มีโรงไฟฟ้ามาร่วมพิจารณาด้วย

"ในเมื่อไม่มีตัวเปรียบเทียบแล้วจะทราบได้อย่างไรว่า ทางเลือกที่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จะดีกว่าทางเลือกที่ไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์"

"เรายังมีเวลาอีก 3 ปี ทำไมไม่เอาเวลาตรงนั้นมาศึกษาในทุกทางเลือก ทุ่มศึกษาทุกทาง พลังงานถ่านหิน พลังงานนิวเคลียร์และพลังงานทางเลือก ซึ่งที่สุดแล้ว เราอาจจะไม่ได้เลือกทางเลือกใดทางหนึ่งก็ได้ แต่อาจเลือกในทุกทางเลือก" นายเดชรัตกล่าว พร้อมทั้งเผยว่าส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วยกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แต่ก็ไม่ปฏิเสธที่จะไม่เอา เพียงแค่ไม่อยากให้ปิดกั้นทางเลือกใดทางเลือกหนึ่ง

"แนวโน้มทั่วโลกสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลดลงเรื่อยๆ เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้วมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เข้าสู่ระบบสูงมาก แต่ในปี 2549 มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เข้าระบบแค่ 2 โรง ในปีนี้มีเข้าระบบเพียง 3 โรง จำนวนการเพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกือบจะคงที่"

"แต่นี่ก็ไม่ใช่เหตุผลว่าอย่าสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่แรงกดดันที่จะต้องตามกระแสต่างประเทศ
" นายเดชรัตกล่าว พร้อมเผยข้อมูลหลายประเทศที่จะไม่สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีก และหลายประเทศที่ไม่สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เลย

ขณะเดียวกันอาจารย์เศรษฐศาสตร์ มก.ยังได้กล่าวถึงพลังงานนิวเคลียร์ซึ่งมีการพยากรณ์ต้นทุนค่าไฟฟ้าไว้ว่าอยู่ที่ 2.08 บาทต่อหน่วยนั้น ทางคณะกรรมการไม่ได้ให้ข้อมูล หรือให้ข้อมูลไม่ชัดเจนใน 3 ประเด็น คือ

1.ค่าเสียโอกาสทางการเงินในการนำเงินไปลงทุนก่อสร้าง ค่าดอกเบี้ยและค่าเสียโอกาสอื่นๆ

2.ต้นทุนทั้งระบบซึ่งรวมถึงการรื้อถอนที่มีความเสี่ยงและอันตราย ต้นทุนการกำจัดกากและต้นทุนทางสังคม

และ 3.งบจะบานปลายหรือไม่ เนื่องจากมีความเสี่ยงในการกำกับความปลอดภัยที่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าให้ไดเจตามมาตรฐานไอเออีเอ โดยหลายกรณีมีงบบานปลายประมาณ 1.7-3.9 เท่า

พร้อมกันนี้นายเดชรัตได้เสนอทางเลือกพลังงานของไทยที่เรียกว่า "20:20 by 2020" โดย 20 แรกคือการลดความต้องการใช้ไฟฟ้าจากที่คาดการณ์ไว้ 20% และ 20 หลังคือเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าในระบบกระจายศูนย์ ซึ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าของท้องถิ่นหรือชุมชนไม่น้อยกว่า 20% ที่เป็นสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 60% ให้ได้ก่อนปี 2020 (พ.ศ.2563) และหากทำได้ตามทางเลือกดังกล่าวก็ไม่จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

"ไทยมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์อยู่ 5-7% แต่ก็จะเห็นว่าหลายประเทศมีสัดส่วนใกล้เคียง 20% และหลายประเทศก็เกินนั้นอย่างเดนมาร์กก็เกิน 50% ทั้งนี้หลายประเทศกำลังมุ่งสู่ทางเลือกนี้" นายเดชรัตกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น