xs
xsm
sm
md
lg

ชี้กติกาสากล "พืชจีเอ็ม" แย้งกันเองหลายจุด ต้องรู้ทันพร้อมอุดช่องกฎหมาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มะละกอจีเอ็มโอในโรงเรือนตาข่ายของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน
ดร.เจษฎ์ ชี้กติกาสากลเกี่ยวกับพืชจีเอ็มโอในด้านสิ่งแวดล้อมและด้านการค้ายังขัดแย้งกันเองหลายจุด และยังเกิดความลักลั่นทางความเชื่อมั่นระหว่างนักเทคโนโลยีและผู้บริโภคทั่วโลก เสนอผู้บริหารไทยนำผลการศึกษาไปประกอบการออกกฎหมายในอนาคต ป้องกันการขัดแย้งกับกรอบสากล ยกเป็นข้ออ้างกีดกันการค้าไทย

ประเด็นพืชดัดแปลงพันธุกรรม หรือ “จีเอ็มโอ” กำลังถูกบีบจากสังคมไทยจนแทบหายใจไม่ออก ดังเช่นที่จะมีการนำเรื่อง “การขออนุมัติการทดสอบภาคสนาม” เสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอยู่รอมร่อ ขณะที่อีกฝ่ายก็ให้เหตุผลของการคัดค้านว่า ยังไม่มีหลักฐานใดๆ ที่จะชี้ชัดไปได้ว่า พืชจีเอ็มจะมีความปลอดภัยจริงทั้งต่อผู้บริโภคและต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญยังไม่มีใครเสนอทางออกที่ลงตัวระหว่าง 2 ฝ่ายนี้ได้

การศึกษาวิจัย “พิธีสารคาร์เตเฮน่าว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ” ของ ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิจัยในโครงการพัฒนาความรู้และยุทธศาสตร์ด้านความตกลงพหุภาคีระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งเจ้าตัวเผยว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ จึงเป็นอีกความพยายามหนึ่งที่จะช่วยเติมเต็มช่องว่างของความขัดแย้งนี้ให้ดูราบรื่นขึ้นได้

ดร.เจษฎ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า จุดประสงค์หลักของการศึกษาวิจัยดังกล่าวเพื่อใช้เป็นแนวทางนำเสนอต่อผู้วางนโยบายของประเทศ อาทิ ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ได้นำไปประกอบการพิจารณาออกกฎหมายในประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับพืชจีเอ็มโอได้อย่างสอดคล้องกับกฎกติกาของสากล

โดยเฉพาะการป้องกันการกีดกันทางการค้าที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งไทยได้เปิดเขตการค้าเสรีกับหลายประเทศแล้ว เช่นกับประเทศสหรัฐอเมริกา และอาจต้องเปิดเขตการค้าเสรีเพิ่มขึ้นอีกอย่างเลี่ยงไม่ได้ ตัวอย่างเช่นกับสหภาพยุโรป ซึ่งอาจนำซึ่งความขัดแย้งทางกฎหมายในกรณีที่เกี่ยวข้องกับพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่ใช้เป็นข้ออ้างได้

การศึกษานี้ทำขึ้นเพื่อนำไปสู่การวางกรอบกติกาของประเทศว่า ต่อไปประเทศไทยอาจพิจารณาใช้หรือไม่ใช่พืชจีเอ็มในอนาคตก็ได้ แต่เราจำเป็นต้องตอบคู่ค้าของเราให้ได้ว่า เราใช้หรือไม่ใช้ได้หรือไม่ภายใช้กรอบกติกาการค้าโลกและตามกรอบของพิธีสารฯ หรือถ้าวันหนึ่งเราพัฒนาเทคโนโลยีได้แล้ว เขาจะกีดกันเราได้ไหม หรือเราจะมีสิทธิดำเนินการได้มากน้อยเพียงใด” ดร.เจษฎ์ กล่าว

ดร.เจษฎ์ กล่าวต่อไปว่า และแม้จะมีพิธีสารคาร์เตเฮน่าว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นกติกาด้านสิ่งแวดล้อมที่ไทยเป็นภาคีอยู่แล้วก็ตาม แต่จากการพิจารณาควบคู่ไปกับกติกาด้านการค้าขององค์การการค้าโลก (WTO) อันเป็นกฎกติกาอีกชุดหนึ่งที่เน้นหนักในแง่การค้า ซึ่งไทยเป็นภาคีด้วยเช่นกัน อาทิ ข้อตกลงว่าด้วยสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช และข้อตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า กลับพบว่าทั้งสองส่วนได้มีความขัดแย้งกันหลายจุด

ตัวอย่างเช่น การที่พิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพไม่ได้ห้ามการค้าระหว่างประเทศที่เป็นภาคีสมาชิกกับประเทศที่ไม่ได้เป็นภาคีสมาชิก และพิธีสารไม่ได้กำหนดให้ประเทศที่เป็นภาคีสมาชิกห้ามการนำเข้าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ชนิดใดชนิดหนึ่ง แต่เมื่อได้พิจารณาตามกรอบของพิธีสารฯ แล้ว หากพบว่ามีสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่ไม่สมควรที่จะอนุญาตให้นำเข้ามายังประเทศของตัวเอง ภาคีสมาชิกก็ย่อมจะสามารถห้ามได้โดยสอดคล้องกับบทบัญญัติของพิธีสารฯ เป็นต้น

ดร.เจษฎ์ เสนอด้วยว่า การนำกฎหมายสากลอื่นที่เป็นยอมรับมาเป็นเครื่องมือแก้ไขความขัดแย้งน่าจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุด คืออนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยกฎแห่งสนธิสัญญา รวมไปถึงการพิจารณาสถานภาพการเป็นภาคีของแต่ละกรอบกติกา และการดูรายละเอียดของข้อตกลงที่จะสอดคล้องหรือขัดแย้งกันที่แต่ละประเทศจะนำไปใช้ประโยชน์ได้

นอกจากนั้น ดร.เจษฎ์ เผยอีกว่า ในการศึกษายังพบด้วยว่าทั่วโลกยังมีความแตกต่างด้านความเชื่อมั่นในพืชดัดแปลงพันธุกรรมอยู่มากเช่นเดียวกับประเทศไทย คือระหว่างกลุ่มที่มีแนวโน้มที่จะเชื่อมั่นในความปลอดภัยและประสิทธิภาพของตัวเทคโนโลยีเป็นอย่างดี คือ กลุ่มนักเทคโนโลยีผู้พัฒนาตัวเทคโนโลยีเอง
 
ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งในฐานะผู้ใช้งานยังเกิดข้อกังขาในความปลอดภัยและผลกระทบจากเทคโนโลยีอยู่ จึงลังเลว่าควรสนับสนุนเทคโนโลยีดังกล่าวสู่การค้าหรือไม่ จึงเปรียบได้กับทางสองแพร่งว่า ผลประโยชน์ด้านการค้าและสิ่งแวดล้อมจะขัดแย้งกันหรือไม่ หรือทั้งคู่จะสามารถเดินไปด้วยกันได้

ในจุดนึ้ ผมมองว่า ทางออกของคนทั้ง 2 กลุ่มคือ การพบกันคนละครึ่งทาง ที่ฝ่ายนักเทคโนโลยีก็ต้องลองคำนึงในทางกลับกันหากตัวเองจะเป็นผู้บริโภคเทคโนโลยีบ้าง อย่าเพิ่งเชื่อมั่นจนเกินไป ขณะเดียวกันฝ่ายผู้บริโภคเทคโนโลยีก็ต้องมีความไว้ใจในตัวเทคโนโลยีที่มีการยืนยันความปลอดภัยแล้วบ้าง"
 
"อย่างไรก็ตามคงไม่มีกฎหมายไหนที่จะทำให้ใครมาพยายามทำความเข้าใจกับใครได้ ทางที่ดีที่สุดคือผู้บริหารและผู้วางนโยบายควรที่จะมาทำความเข้าใจก่อนเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น” นักวิจัยจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าว

ทั้งนี้ นอกจากการศึกษาถึงความสอดคล้องหรือขัดแย้งของกติกาสากล 2 ชุดข้างต้นแล้ว การศึกษาวิจัยดังกล่าวยังจะครอบคลุมไปถึงการจัดทำข้อเสนอต่อประเทศไทยในการเจรจาในเวทีการค้าทวิภาคี ข้อเสนอต่อการเจรจาในเวทีการประชุมสมัชชาภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ และพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ โดยเฉพาะในเรื่องความรับผิดชอบและการเยียวยา รวมถึงข้อเสนอต่อการจัดทำกฎหมายและกฎระเบียบของไทยในการบริหารจัดการเรื่องสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมด้วย

อย่างไรก็ดี ผมเชื่อว่าแม้งานชิ้นนี้จะทำจนเสร็จแล้วก็ตาม แต่ก็คงจะเรียกได้ว่าเสร็จจริงๆ เพียง 80% เท่านั้น เพราะทั้งหมดนี้คือข้อมูลที่แล้วๆ มา เมื่อถึงเวลาที่ต้องเจรจากันจริงๆ ก็คงมีข้อมูลใหม่ๆ เสริมเข้ามาให้ต้องพิจารณาแก้ไขปรับเพิ่มเติมกันต่อไป” ดร.เจษฎ์ ทิ้งท้าย
ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก
กำลังโหลดความคิดเห็น