บีบีซีนิวส์/เอเยนซี-นักธรณียัน "อุกกาบาต" ตกที่เปรูจริง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุอาการเจ็บป่วยของชาวบ้านกว่า 200 คนในละแวกดังกล่าว จากก๊าซพิษที่ทำน้ำในหลุมเดือดระหว่างการกระแทก
ประชาชนในท้องถิ่นของเปรูเผยว่ามีลูกไฟหล่นลงมาจากท้องฟ้าและพุ่งชนพื้นที่ราบของเมืองคารานคัส (Carancus) ในรัฐแอนดร์ (Andre) บริเวณชายแดนใกล้กับประเทศโบลิเวียเมื่อวันเสาร์ที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เกิดหลุมกว้างประมาณ 30 เมตร และลึกประมาณ 6 เมตร และหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวก็มีผู้คนเจ็บป่วยนับร้อย
จอส เมแชร์ (Jose Mechare) นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันแร่และโลหวิทยา (Mining and Metallurgical Institute) แห่งเปรูกล่าวว่า นักธรณีวิทยาได้ยืนยันจากการวิเคราะห์องค์ประกอบของลูกไฟดังกล่าวพบว่าเป็น "หินอุกกาบาต" อย่างแน่นอน และความร้อนจากอุกาบาตอาจต้มน้ำในหลุมอุกาบาตดังกล่าวได้นาน 10 นาทีจนเกิดไอที่ทำให้ผู้คนในละแวกใกล้เคียงเจ็บป่วย
"เรายังไม่ได้รับข้อมูลครบถ้วนว่าไม่มีการปนเปื้อน" เมแชร์กล่าว
ด้านจอร์จ โลเปซ (Jorge Lopez) ผู้อำนวยการแผนกสาธารณสุขในท้องที่ที่อุกาบาตตกเผยว่ามีประชาชนราว 200 คน เจ็บป่วยจากอาการปวดศีรษะ คลื่นเหียนอาเจียร และมีปัญหาในการหายใจ ซึ่งมีสาเหตุจากการได้รับไอสารพิษที่ปนเปื้อนในหลุมอุกกาบาตอย่างไรก็ดีทีมแพทย์ที่รุดตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าวเผยว่าไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าอุกกาบาตได้ทำให้ผู้คนล้มเจ็บ
ขณะที่ มาร์ไทน์ ฮันลอน (Martine Hanlon) ผู้สื่อข่าวท้องถิ่นของเปรูรายงานเพิ่มเติมว่าผู้เชี่ยวชาญไม่เชื่อว่าอุกกาบาตเป็นสาเหตุในอาการเจ็บป่วยของร่างกาย หากแต่คิดว่าปฏิกิริยาทางเคมีที่เกิดจากการกระทบพื้นดินของอุกกาบาตอาจปลดปล่อยสารพิษอย่าง "ซัลเฟอร์" และ "อาร์เซนิก" (สารหนู)
ทั้งนี้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้กับหลุมอุกกาบาตกล่าวว่าพวกเขาได้กลิ่นของซัลเฟอร์อย่างน้อย 1 ชั่วโมงหลังอุกาบาตกระแทกพื้น ซึ่งกระตุ้นให้รู้สึกปวดท้องและปวดศรีษะ แต่จอส ไอซิสสุกะ (Jose Isisuka) นักธรณีจากจากสถาบันเดียวกับเมแชร์กล่าวว่าเขายังรู้สึกกังขากับรายงานเกี่ยวกับกลิ่นของซัลเฟอร์
ส่วนวิศวกรจากสถาบันนิวเคลียร์แห่งเปรู (Peruvian Nuclear Energy Institute) ก็เผยว่าตรวจสอบไม่พบการแผ่รังสีจากหลุมอุกกาบาตดังกล่าวแต่อย่างใด และเขายังตัดข้อสันนิษฐานว่าวัตถุที่หล่นลงมานั้นอาจจะเป็นดาวเทียม
ด้านโมเดสโต มอนโทยา (Modesto Montoya) สมาชิกของทีมแพทย์ที่เข้าตรวจสอบพื้นที่อุกาบาตกล่าวว่ากลัวอาจกระตุ้นโรคทางจิตวิทยาให้กับคนในพื้นที่ โดยขณะอุกกาบาตตกได้ทำให้เกิดเสียงที่ฟังดูเลวร้ายเมื่อสัมผัสชั้นบรรยากาศที่ทำให้หินก้อนใหญ่กลายเป็นเพียงทรายเม็ดเล็กๆ และเสียงนั้นก็ได้เขย่าขวัญผู้คน
จากปากคำของ จัสตินา ลิแมช (Justina Limache) วัย 74 ซึ่งเป็นคนในพื้นที่กล่าวว่า เมื่อเธอได้ยินเสียงคำรามจากท้องฟ้า เธอก็ทิ้งฝูงอัลแพคคะ (alpaca) ที่เลี้ยงไว้แล้ววิ่งกลับเข้าไปอยู่ในบ้านหลังเล็กๆ ของเธอพร้อมกับหลานสาววัย 8 ขวบ และหลังอุกกาบาตกระแทกพื้นแล้วก็มีหินก้อนเล็กๆ ตกลงมาเป็นห่าฝนบนหลังคาบ้านของเธออยู่หลายนาที
อัวร์ซูลา มาร์วิน (Ursula Marvin) ผู้เชี่ยวชาญด้านอุกาบาตที่ศึกษาเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2504 ที่หอดูดาวฟิสิกส์ดาราศาสตร์สมิธโซเนียน (Smithsonian Astrophysical Observatory) ในแมสสาชูเสตต์ สหรัฐอเมริกา กล่าวว่าการที่ผู้คนเจ็บป่วยนั้นไม่น่าจะเกิดจากอุกกาบาตเองแต่น่าจะเกิดจากฝุ่นละอองที่อุกกาบาตทำให้เกิดขึ้นมากกว่า
ทั้งนี้เฮอร์นันโด ทาเวรา (Hernando Tavera) นักธรณีวิทยาจากสถาบันธรณีฟิสิกส์ (Geophysics Institute) ของเปรู กล่าวว่าเคยเกิดกรณีที่มีผู้คนเจ็บป่วยคล้ายกันนี้ในปี 2545 และ 2547 แต่ไม่มีการยืนยันว่าเกิดจากอุกกาบาต