xs
xsm
sm
md
lg

"เขาเลิกกลัวกันแล้ว" รมต.วิทย์ยันเราล้าหลังมากเกิน-เดินหน้าขอ ครม.ทดลองจีเอ็มโอไร่นา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไม่หวั่นเสียงค้าน กระทรวงวิทย์ยันเดินหน้าทดลองพืชจีเอ็ม ย้ำ"เรา" ล้าหลังมากเกินไปแล้ว "พอกันทีกับความกลัวที่ไม่มีเหตุผล" ระบุหลายประเทศกลัวจนเลิกกลัว แจง พ.ร.บ.ไบโอเซฟตี้คืบหน้ามาก แต่คงไม่ทันรัฐบาลนี้ แนะใช้แนวปฏิบัติสากล ขณะที่ สวทช. มีพืชจีเอ็ม รอคิวทดสอบภาคสนามและไร่นาอยู่

สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 16 ส.ค.50 กลุ่มเอ็นจีโอ กลุ่มนักธุรกิจ ข้าราชการอาวุโส นักวิชาการ และเครือข่ายเกษตรกร ออกมาแถลงข่าวเรียกร้องให้มีการยืนยันมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 เม.ย.44 ที่ห้ามการทดลองพืชดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ในระดับไร่นา แต่อนุญาตให้ทดลองในโรงเรือนปิดมิดชิดเท่านั้น จนกว่าจะมีกฎหมายและมาตรการที่เข้มงวดและควบคุมการปนเปื้อนของจีเอ็มโอให้ได้เสียก่อน (อ่าน : สรุปเนื้อหาการแถลงข่าวคัดค้านการปลูกพืชจีเอ็มโอทดลองในไร่นา จากเว็บไซต์มูลนิธิชีววิถี)

ในวันเดียวกันนี้ ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยว่า เร็วๆ นี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ ครม.ได้รับทราบ พร้อมทั้งตัวแทนกระทรวงที่เกี่ยวข้อง อีก 2 แห่ง คือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และ วท. โดยจะเปิดโอกาสให้ที่ประชุมได้อภิปรายข้อสงสัยเกี่ยวกับพืชจีเอ็มโอ เพื่อแสดงถึงความโปร่งใสของการผลักดันดังกล่าวด้วย

“บอกตรงๆ เรื่องพืชจีเอ็มโอเป็นเรื่องที่เก่ามากๆ แล้ว เป็นเรื่องที่อั้นมานานมาแล้ว เราจะแย่เพราะเราเป็นประเทศการเกษตร หลายประเทศเขาก็ไปกันไกลมาก ต่อไปเราอาจขายของไม่ออกก็ได้ หลายประเทศที่เขาเคยกลัว เขาก็เลิกกลัวกันแล้ว พอกันทีกับความกลัวที่ไม่มีเหตุผล” รมว.วิทยาศาสตร์กล่าว

ทั้งนี้ ทางกลุ่มผู้แถลงได้ตั้งคำถามถึง ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพเนื่องจากการตัดแต่งทางพันธุกรรม (ไบโอเซฟตี้) ที่มีพัฒนาการมาเรื่อยๆ กระทั่งจนถึงปลาย มิ.ย.ทีผ่านมาว่าได้หยุดชะงักลงด้วยเหตุใดไม่ปรากฏ ซึ่ง ศ.ดร.ยงยุทธ ก็เผยว่า ได้มีความคืบหน้าไปมากแล้ว แต่เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดซับซ้อน จึงเชื่อว่าอาจไม่ทันกับรัฐบาลชุดนี้แล้ว

อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีนักเทคโนโลยีชีวภาพแนะว่า ประเทศไทยยังมีแนวทางปฏิบัติที่สากลยึดถือมาใช้ก่อนได้ ซึ่งในแนวทางดังกล่าว จะครอบคลุมถึงมาตรการความปลอดภัยไว้ทั้งหมด ต่างจาก พ.ร.บ.เพียงอำนาจในการกำกับดูแลที่เข้มข้นขึ้นเท่านั้น

รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวอีกว่า ด้านนโยบายพืชจีเอ็มของไทยในขณะนี้ ชัดเจนแล้วว่า จะเน้นไปยังพืชไม้ประดับอย่างกล้วยไม้ หรือพืชพลังงานที่ไม่ได้เป็นพืชอาหารด้วย อย่างสบู่ดำ เป็นต้น ขณะที่พืชพลังงานอื่นๆ อย่างมันสำปะหลังและอ้อยจะมีบางส่วนที่เป็นอาหารก็ต้องพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป

ส่วนพืชอาหารอื่นๆ นั้นจะใช้ความถี่ถ้วนในการพิจารณามากที่สุด โดยยึดหลักความเหมาะสมและจำเป็น เช่น มะละกอที่มีโรคไวรัสทำให้ผลผลิตตกต่ำจนอาจขาดตลาดหรือมีราคาแพงมากได้ในอนาคต ซึ่งข้าวไทยที่ยังมียอดการส่งออกดี ไม่มีปัญหาอะไรก็ไม่มีความจำเป็นต้องทำเลย

“การเกษตรของประเทศต่างๆ ทั่วโลกก็เป็นจีเอ็มโอแล้ว และจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ" รมว.วิทย์กล่าว และอธิบายว่า ช่วง 20 ปีที่ผ่านมาก็ไม่มีผลเสียอะไรออกมา ไม่มีการปนเปื้อนกับพืชที่ไม่ใช่จีเอ็มโอ เพราะสิ่งมีชีวิตกลุ่มนี้มีภาระทางพันธุกรรมมากกว่าคนอื่นๆ ไม่สามารถอยู่รอดในธรรมชาติได้

"จะมีก็เพียงกรณีของโปรตีนถั่วเท่านั้น ซึ่งเป็นตัวที่คนเราจะแพ้อยู่แล้วแต่มีคนไปทำ แต่มันก็เป็นความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ ไม่มีอะไรที่ไม่มีความเสี่ยงอยู่เลย อย่างเรื่องพลังงานนิวเคลียร์ หรือเราเดินข้ามถนน เราก็อาจถูกรถชนตายได้ พืชจีเอ็มโอก็เช่นกัน แต่เราต้องค่อยๆ ทำโดยไม่บุ่มบ่าม” รมว.วิทย์ กล่าว

ส่วนที่มีความกังวลกันว่า ไทยอาจถูกผูกขาดเทคโนโลยีจีเอ็มโอจากบรรษัทต่างชาติได้นั้น ศ.ดร.ยงยุทธ ยอมรับว่า จากการขาดช่วงไปนานในการวิจัยพืชจีเอ็มโอ ทำให้ประเทศไทยล้าหลังในเรื่องนี้มาก อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม เป็นเทคโนโลยีที่เป็นที่แพร่หลายทั่วโลกแล้ว ซึ่งนักวิจัยไทยก็สามารถก้าวทันต่างชาติในเวลาไม่ช้าได้เช่นกัน

“มันไม่ไหวแล้วสำหรับประเทศไทยที่เมื่อก่อนคนไม่เข้าใจก็พอยอมรับได้ แต่ตอนนี้ไม่ได้แล้วที่จะมาปิดกั้นความรู้และการพัฒนา เพราะการไม่ลงมือทำอะไรเลยในเรื่องนี้" ศ.ดร.ยงยุทธกล่าวย้ำ

"สำหรับผมที่มีหน้าที่ต้องสนับสนุนการพัฒนาประเทศต้องทำ ไม่ทำก็เหมือนกับเป็นผู้ที่ไม่รับผิดชอบเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศ ซึ่งประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรปที่เคยต่อต้านพืชจีเอ็ม ก็เพราะกลัวพืชจีเอ็มจากสหรัฐฯ ซึ่งเก่งกว่า จะมาดัมพ์ราคาพืชของตัวเองก็มีการทำพืชจีเอ็มโอมากแล้ว ซึ่งของเราเป็นเพียงการทำระดับงานวิจัยไม่ใช่ทำในเชิงพาณิชย์เหมือนประเทศอื่นๆ ด้วย” รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าว

ด้าน รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผอ.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า การทดสอบภาคสนาม และไร่นาพืชจีเอ็มในโรงเรือนของหน่วยวิจัยตามมหาวิทยาลัยหรือกรมวิชาการเกษตรนั้น เป็นเรื่องที่จำเป็น ซึ่ง สวทช. มีพืชจีเอ็มโอที่ผ่านการวิจัยในระดับอื่นๆ มาแล้ว 4 -5 ชนิดด้วยกัน เหลือเพียงการทดสอบภาคสนามและไร่นาเท่านั้น จึงจะรู้ได้ว่ามีความเสี่ยงหรือปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะมีการพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป

ถ้าการทดสอบพบว่ามีความเสี่ยง เราก็มาดูว่ามันเสี่ยงแบบควบคุมได้หรือไม่ ถ้าได้ก็ควบคุมไป ถ้าไม่ได้ เราก็มาชั่งน้ำหนักกันอีกทีว่าความเสี่ยงกับประโยชน์มันคุ้มค่ากันไหม ถ้าคุ้มก็ทำ ไม่คุ้มก็ไม่ทำ แต่ไม่ให้เป็นการปิดประตูไปซะทีเดียว” ผอ.สวทช.กล่าว

ส่วน ดร.สุทัศน์ ศรีวัฒนพงศ์ นายกสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ (สทส.) ซึ่งผลักดันพืชจีเอ็มโอในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง เผยว่า จากการเดินสายให้ความรู้และทำความเข้าใจกับประชาชน เกษตรกร นักศึกษาในหลายจังหวัดทั่วประเทศเกือบ 10 ครั้ง ตามโครงการสร้างกรอบนโยบายความปลอดภัยทางชีวภาพของชาติ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ ทส. และ วท. ต่างให้การตอบรับพืชจีเอ็มโอทั้งสิ้น

"โดยเฉพาะเกษตรกรที่อยากปลูกพืชจีเอ็ม แต่ก็ต้องอธิบายไปว่ายังไม่ถึงเวลาเพราะยังมีขั้นตอนการวิจัยและตรวจสอบความปลอดภัยอีกหลายขั้นตอน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยยกเรื่องความไม่ปลอดภัยมาโจมตีได้" ดร.สุทัศน์กล่าว

เรื่องนี้แม้ยังไม่มี พ.ร.บ.ไบโอเซฟตี้ออกมา กรมวิชาการเกษตรก็ได้เตรียมความพร้อม ทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะกลางไว้รับมือก่อนที่ พ.ร.บ.นี้จะประกาศใช้อย่างรัดกุม ซึ่งเวลานี้นักวิจัยไทยพร้อมแล้วกับการทดสอบภาคสนาม ซึ่งมีระบบป้องกันที่ดี มีผู้รักษาความปลอดภัย 24 ชั่วโมง ในที่ที่มีรั้วรอบขอบชิด” นายก สทส.กล่าว

อย่างไรก็ดี ระหว่างการแถลงจุดยืนคัดค้านการทดลองจีเอ็มโอในระดับไร่นา นายวิทูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai) ซึ่งได้ติดตามเรื่องจีเอ็มโอนี้มากว่า 20 ปี ได้ลำดับเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับการปลูกทดลองจีเอ็มโอภายในประเทศไทย ดังนี้

- 19 ต.ค.38 กรมวิชาการเกษตรอนุญาตให้บริษัทมอนซานโต้ (ไทยแลนด์)จำกัด นำเข้าเมล็ดฝ้ายตัดต่อพันธุกรรมเข้ามาปลูกทดสอบในประเทศ

- 15 พ.ค.40 กรมวิชาการเกษตร นำเข้าต้นกล้าและเนื้อเยื่อมะละกอจีเอ็มโอจากมหาวิทยาลัยคอร์แนลเข้ามาทดลองในประเทศไทย

- 22-27 ก.ย.42 ไบโอไทยและเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกพบการระบาดของฝ้ายจีเอ็มโอที่จ.เลย

- 30 พ.ย.42 คณะกรรมการตรวจสอบของกระทรวงเกษตรฯยืนยันพบการปนเปื้อนฝ้ายจีเอ็มโอจริง กรมวิชาการเกษตรพยายามสร้างหลักฐานว่าเอ็นจีโอเป็นผู้ทำให้เกิดการปนเปื้อน

- 3 เม.ย.44 รัฐบาลเห็นชอบกับข้อเสนอของสมัชชาคนจนให้ยุติการทดลองจีเอ็มโอระดับไร่นาชั่วคราวและให้มีการ่างกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพ

- 27 ก.ค.47 กรีนพีซพบการปนเปื้อนมะละกอจีเอ็มโอในเมล็ดพันธุ์และแปลงเกษตรกร แต่กระทรวงเกษตรไม่ยอมรับ และกล่าวหากรีนพีซว่าทำให้เกิดการปนเปื้อนเอง

- 20 ส.ค.47 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แถลงมติคณะกรรมการเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติที่จะอนุญาตให้มีการทดลองและปลูกพืชจีเอ็มโอในประเทศไทย

- 31 ส.ค.47 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรสั่งถอนวาระการอนุญาตให้มีการปลูกทดลองจีเอ็มโอจากวาระการประชุมของคณะรัฐมนตรี และแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทบทวน มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติร่างกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพ

- 22 ต.ค.47 คณะกรรมการตรวจสอบที่ตั้งโดยกระทรวงเกษตรฯยอมรับการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอและสรุปว่ามีคนภายในเกี่ยวข้องด้วย

- 10 ส.ค.50 นายธีระ สูตะบุตร เตรียมการเสนอครม.เพื่ออนุญาตให้มีการปลูกทดลองจีเอ็มโอ


รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผอ.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ดร.สุทัศน์ ศรีวัฒนพงศ์ นายกสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ (สทส.)
กำลังโหลดความคิดเห็น