xs
xsm
sm
md
lg

เจ้ากระทรวงวิทย์รับ “จีเอ็มโอ” จำเป็นในระยะยาว แต่อาจไม่ดี 100%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ และผู้เชี่ยวชาญด้านไบโอเทค
เจ้ากระทรวงวิทย์เผยจีเอ็มโอเป็นเรื่องใกล้ตัว มั่นใจกว่าพืชจีเอ็มจะออกสู่เกษตรกรได้ นักวิจัยต้องมั่นใจว่าปลอดภัย เชื่อจะได้ประโยชน์ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค แต่ยอมรับไม่มีอะไรเพอร์เฟ็กซ์ “ร้อยเปอร์เซ็นต์” ย่อมมีปัญหาอยู่บ้างแต่พร้อมที่จะแก้ไข หากมีคนทักท้วงก็จะรับฟัง แต่เกรงหากไม่รีบตัดสินใจประเทศไทยจะล้าหลัง ฟันธงปัญหาการปนเปื้อนกับพืชดั้งเดิมเป็นเรื่องยาก ย้ำจีเอ็มโอจำเป็นในระยะยาวควบคู่พืชธรรมชาติ แต่กัน “พืชอาหาร-ข้าวไทย” ไว้ก่อน

ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) อดีตที่ปรึกษาอาวุโสศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ว่า จีเอ็มโอเป็นเรื่องที่อยู่กับสังคมไทยมานานกว่า 30 ปีแล้ว โดยส่วนใหญ่อยู่ในห้องปฏิบัติการหรือในโรงงานผลิตยา ซึ่งสังคมไม่เกิดความเป็นห่วงหรือกังวลอะไรในส่วนนี้มากนัก โดยเฉพาะจุลินทรีย์หรือจุลชีพที่โดยมากแล้วล้วนแต่เป็นจีเอ็มโอทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.ยงยุทธ ชี้ว่า แต่สิ่งที่สังคมเป็นห่วงกันมากคือ การทำจีเอ็มโอพืชแล้วนำไปให้เกษตรกรใช้ ซึ่งกลัวกันว่าจะมีการแพร่กระจายแล้วมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามมาหรือไม่ตามที่นิยายวิทยาศาสตร์มักจะมีการพูดถึงในส่วนนี้มาก ส่วนอีกความกังวลหนึ่งคือ การกลัวความเป็นพิษของจีเอ็มโอ ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นนี้ นักวิจัยจะประเมินความปลอดภัย หรือการทำไบโอเซฟตี้อยู่อย่างชัดเจนแล้ว ถึงจะมีการเผยแพร่ไปให้เกษตรกรได้ใช้ จึงไม่น่าจะต้องกังวลใดๆ มากนัก

แน่นอนว่ามันจะต้องมีปัญหาอะไรอยู่บ้าง ไม่มีอะไรที่ไม่มีปัญหาเลย มันจะมีบางอันที่ไม่ทันรู้แล้วทำออกมา เช่นที่เขาบังเอิญไปทำถั่วอะไรออกมาแล้วบังเอิญมีสารที่ทำให้แพ้ ซึ่งมีอยู่แล้วไม่เฉพาะแต่ในจีเอ็มโอเท่านั้น คนเราพอกินเข้าไปก็แพ้ มันก็มีอยู่บ้าง แต่พอรู้ปัญหาปุ๊บก็มีการแก้ไขกันต่อไป”

“หรือมีการใช้ตัวพัฒนาพันธุ์ที่เป็นแอนตี้ไบโอติกหรือสารปฏิชีวนะใส่เข้าไปยีนด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้ไปตามหรือไปคัดเลือกได้ง่ายๆ ว่าตัวไหนที่เราต้องการ ซึ่งก็มีคนทักท้วงว่าอย่างนี้ก็แย่สิ ถ้ามีการเผยแพร่ออกไปก็จะเกิดการดื้อยาขึ้นมาก็จะเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่ถ้ารู้ว่าสิ่งเหล่านี้มีปัญหาก็ดำเนินการแก้ไขไป ซึ่งขณะนี้ก็มีการปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา” รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าว

ส่วนที่มีการฟันธงว่าจีเอ็มโอส่วนมากมีประโยชน์หรือไม่นั้น ศ.ดร.ยงยุทธ ชี้ว่า ต้องดีแน่นอนถึงจะมีการพัฒนาขึ้นมา ทว่า ต้องดูด้วยว่าดีสำหรับใคร ผู้บริโภคหรือผู้ขายที่จะได้กำไรมากขึ้น โดยด้านผู้บริโภคเองก็เชื่อว่าได้ประโยชน์ด้วยคือ สามารถซื้อของได้ในราคาถูกลง ขณะที่เสียงที่มาจากผู้ที่เป็นห่วงในผลกระทบระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นได้ ก็จะต้องรับฟังด้วยเช่นกัน ซึ่งโดยหลักการยังไม่เห็นผลกระทบใดๆ ออกมา แต่เมื่อมีผู้ทักท้วงมาก็ต้องรับฟัง ดังนั้นจึงต้องมีกระบวนการพิสูจน์หรือการทำให้มีความชัดเจนขึ้นด้วย

ศ.ดร.ยงยุทธ บอกด้วยว่า ปัจจุบันคนไทยเราเองก็มีการบริโภคพืชจีเอ็มโอมานานมาแล้วเช่นกัน เช่น ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ทำมาจากถั่วเหลืองก็ล้วนแต่ทำมาจากถั่วเหลืองจีเอ็มทั้งสิ้น อาทิ น้ำเต้าหู้ ซึ่งแม้ว่าเราจะบริโภคมานานมากแล้วแต่ก็ไม่เกิดปัญหาใดๆ ขึ้นมา เนื่องจากถั่วเหลืองจีเอ็มไม่มีอะไรที่แตกต่างจากถั่วเหลืองทั่วไปเลย คือ เหมือนกันทุกประการ ต่างกันก็เพียงผลผลิตต่อไร่ที่เพิ่มสูงขึ้นจากการพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นมาเท่านั้น

แต่ก็จะไม่มีอะไรที่ร้อยเปอร์เซ็นต์นะ มันเป็นไปไม่ได้ เหมือนกับสิ่งอื่นๆ ที่มันไม่มีวันจะร้อยเปอร์เซ็นต์ มันจะมีแง่นั้นอยู่ตลอด แง่นี้ต้องให้สังคมเป็นผู้ตัดสินต่อไป แต่ว่าหากประเทศไทยไม่ปรับเปลี่ยนสักทีหนึ่งมันก็จะล่าช้า โดนประเทศอื่นที่เขาได้ตัดสินใจและพัฒนาไปแล้วเลยหน้าเราไป"

"ดังนั้น ถ้าเผื่อเราทำอะไรที่ไม่เกี่ยวกับของกินเลย มันก็น่าจะพอทำได้ ตราบใดที่มันไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม หรือถ้ามันเกี่ยวกับของกินก็ต้องระวังมากขึ้นอีกนิดหนึ่ง” อดีตที่ปรึกษาอาวุโสไบโอเทคย้ำอีกครั้ง

นอกจากนั้น ต่อข้อกังวลว่าหากมีการนำพืชจีเอ็มมาปลูกในไร่นาจะเกิดการผสมกับพันธุ์พืชดั้งเดิมได้ ศ.ดร.ยงยุทธ บอกว่า โดยปกติแล้วพืชจีเอ็มจะมีภาระทางพันธุกรรม (Genetic Load) หรือข้อเสียเปรียบทางพันธุกรรมอยู่แล้ว ทำให้มันมีความแข็งแรงสู้พืชดั้งเดิมไม่ได้หากไม่ได้รับการดูแลอย่างดี เว้นแต่พืชจีเอ็มจะไปอยู่ในสภาวะที่ดีพร้อมสำหรับมันเท่านั้น
 
เรื่องดังกล่าวจึงไม่จำเป็นที่ต้องไปกังวลกันมากนัก เพราะถึงพืชจีเอ็มจะหลุดรอดไปในธรรมชาติได้ก็ไม่น่าจะคงอยู่ได้อยู่ดี ซึ่งนักวิจัยก็ได้คำนึงถึงจุดนี้ในการพัฒนาอยู่แล้ว เพราะการหวังให้เกษตรกรคอยระมัดระวังด้วยตัวเองเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก

ทั้งนี้ทั้งนั้น ศ.ดร.ยงยุทธ ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า แม้จะมีการมองกันว่าประเทศไทยมีพืชพันธุ์โดยธรรมชาติอยู่มากมายและว่ากันว่าควรใช้ประโยชน์จากธรรมชาติส่วนนี้มากกว่าที่จะเป็นการรับจีเอ็มโอเข้ามานั้น ตัวเองกลับมองว่าต่างเป็นเรื่องที่ไม่สามารถจะปฏิเสธหรือละทิ้งได้ทั้ง 2 อย่างเช่นกัน คือ ต้องมีทั้งตลาดพืชธรรมชาติ และพืชจีเอ็มโอไปพร้อมๆ กัน เพื่อสนองต่อความต้องการของลูกค้ากลุ่มต่างๆ โดยต่อคำถามว่าจีเอ็มโอจำเป็นสำหรับประเทศไทยหรือไม่นั้น ต้องบอกว่า “จำเป็น” คือ จำเป็นในระยะยาว

“ตอนนี้เรายังขายของที่มีอยู่ในธรรมชาติของเราได้และก็ขายได้ดี แต่ว่าวันหนึ่งเราจะพบว่าเราจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี เหมือนกับว่าใช้พันธุ์พืชใหม่ๆ หรือสัตว์พันธุ์ใหม่ ซึ่งต่อไปในโลกจะมีจีเอ็มโอมากขึ้นตามลำดับ ดังนั้นหากเราไม่ทำตรงนี้เลย เราจะพบว่าเราขายของไม่ได้"

"วันนี้เรายังขายของธรรมชาติได้ดี ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี แต่มันก็เป็นเรื่องของตลาดที่ต่างๆ กัน ถ้าคุณจะเอาผักที่ปลอดจากสารเคมีก็เป็นเรื่องที่ดีแต่แพง ดีมากและควรจะมี แต่เราก็ต้องมีตลาดทั่วๆ ไปที่ต้องใช้ปุ๋ยใช้สารเคมีระดับหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าเราไม่ควรใช้สารเคมีเยอะ และมันก็ต้องมีตลาดที่จะมีพืชจีเอ็มโอที่ใช้กันอยู่ทั่วไปเช่นถั่วเหลือง

แต่ประเด็นที่เราไม่อยากแตะคือข้าวจีเอ็มโอ เพราะข้าวเป็นสินค้าที่สำคัญของเราที่เราต้องส่งออก หากบอกว่าเราจะทำจีเอ็มโอข้าว ซึ่งมีหลายประเทศทำแล้วทั้งจีนและอินเดีย"

"แต่ของเราต้องระวังนิดหนึ่ง ต้องดูนโยบายว่าเราจะมีผลได้ผลเสียอย่างไร มันจะทำให้คนเข้าใจผิดหรือเปล่าว่าข้าวที่เราส่งออกขณะนี้ซึ่งก็มีราคาดีอยู่แล้ว หากเป็นข้าวจีเอ็มโอแล้วราคาตกไปเสียอีก เพราะเป็นเรื่องที่คนเป็นห่วง แม้ว่าในเชิงวิทยาศาสตร์แล้วมันไม่มีพิษภัยอะไร แต่ในเชิงการรับรู้และความรู้สึกของตลาดมันไม่ดี เราต้องดูให้ดีหลายอย่างไม่ใช่แค่เชิงวิทยาศาสตร์” เจ้ากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น