xs
xsm
sm
md
lg

แนะไทยควรวิจัยตั้งรับพืชจีเอ็ม ป้องกันธุรกิจการเกษตรล้าหลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร.มนตรี จุฬาวัฒนทล ผอ.สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) และผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรอินทรีย์
ผู้เชี่ยวชาญเกษตรอินทรีย์ระบุ วิจัยจีเอ็มโอไม่ใช่เรื่องยาก ไทยก็ทำได้และควรทำ แต่ในขั้นการทดลองในไร่นาต้องรัดกุม เพราะความตื่นกลัวยังมีอยู่ ยกข้าวไทยปลอดจีเอ็มโอยังเป็นที่ต้องการของตลาด หากปนเปื้อนจีเอ็มจะกระทบการส่งออก เชื่อแม้ไทยมีพืชผลเพียงพอต่อความต้องการ แต่พืชจีเอ็มบางตัวก็มีประโยชน์จริง ย้ำต้องตามเทคโนโลยีให้ทัน มิฉะนั้นจะเสียประโยชน์

ท่ามกลางกระแสการหลั่งไหลเข้ามาของเทคโนโลยีจากต่างประเทศจำนวนมหาศาล ศ.ดร.มนตรี จุฬาวัฒนทล ผอ.สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) และผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรอินทรีย์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวถึงกรณีการวิจัยพัฒนาและใช้ประโยชน์จากพืชดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ว่า ในเชิงงานวิจัยแล้วเป็นเรื่องที่ดี หลายๆ ประเทศและประเทศไทยกำลังมีความก้าวหน้าไปมาก และไทยมีศักยภาพทำพืชจีเอ็มได้แล้ว เพราะไม่ใช่เรื่องยาก ซึ่งในแง่ของการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีแล้ว ไทยไม่อาจคัดค้านตัวเทคโนโลยีได้ เพราะเป็นเรื่องที่ทำได้และควรทำ เพราะไม่เช่นนั้นไทยจะล้าหลังประเทศอื่น

แต่ถ้าทำแล้วจะต้องมีการทดสอบ ซึ่งหลายประเทศได้กำหนดว่าในขั้นการทดลองในแปลงทดลองสามารถทำได้ แต่จะต้องมีมาตรการไม่ให้เกิดการแพร่กระจายออกนอกพื้นที่ทดลอง เพราะจะทำให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง เนื่องจากภาพความกลัวจีเอ็มโอยังมีอยู่ในสังคมและยังไม่หมดไป

ตัวอย่างหนึ่งคือ “ข้าวจีเอ็ม” ที่หากเกิดการรั่วไหลขึ้นมาแล้ว จะทำให้เกิดปัญหาด้านการค้าตามมาได้ โดยเฉพาะไทยที่ส่งออกข้าวจำนวนมาก หากมีการปนเปื้อนจีเอ็มโอแล้ว ประเทศคู่ค้าก็จะไม่ยอมรับข้าวไทยอีก เหมือนในกรณีที่เกิดขึ้นกับข้าวสหรัฐฯ ที่มีปัญหาอยู่ในเวลานี้ แต่หากไทยยังคงรักษาข้าวให้ปลอดจีเอ็มโอได้ก็จะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มลูกค้าข้าวไทย

อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.มนตรี มองว่า แม้ในด้านพืชผลการเกษตรแล้ว ไทยจะมีมากพอต่อความต้องการ ไม่จำเป็นต้องพึ่งจีเอ็มโอ แต่ในเวลาเดียวกันพืชบางชนิดก็นำจีเอ็มโอเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ดี เช่น ฝ้ายบีที ที่ช่วยลดการใช้ยาฆ่าแมลงได้มาก จึงเป็นผลดีต่อสุขภาพของเกษตรกร แต่ก็ไม่วายที่จะมีผู้ตื่นกลัวว่าฝ้ายบีทีจะไปทำลายแมลงๆ ต่างในธรรมชาติ เช่น หม่อนไหม และผึ้ง โดยไม่มีงานวิจัยออกมารับรองชัดเจน

ทั้งนี้ ในแง่มุมด้านธุรกิจ การค้า และการแข่งขัน ศ.ดร.มนตรี มองว่า โดยทั่วไปแล้วที่มีการบ่นกันว่าปลูกข้าวที่ไม่ใช่พืชจีเอ็มได้ผลผลิตน้อย เป็นเพราะเกษตรกรลงทุนกับการปลูกน้อย จึงทำให้ได้ผลผลิตน้อยเป็นธรรมดา แต่หากมีการนำจีเอ็มโอมาใช้แล้วได้ผลมากขึ้นจริงๆ ไทยก็อาจเสียเปรียบต่างชาติได้ จึงเป็นเรื่องของอนาคตที่ต้องมาตัดสินใจกันว่าจะใช้จีเอ็มโอหรือไม่

“คนเดินนำหน้าเขาเสี่ยงกว่าเรา เราเดินตาม เราเสี่ยงน้อยกว่าเขา แต่เราก็ต้องเดินตามเขาให้ทัน งานวิจัยเราไม่ขัด เราเปิดกว้างทุกอย่างในขั้นตอนการวิจัยเพื่อหาความรู้ แม้แต่สเต็มเซลล์หรือโคลนนิ่ง เราทำได้ตราบใดที่ยังมีขอบเขต ส่วนที่ว่ามันจะมาทำลายความหลากหลายทางชีวภาพไหม ต้องคิดให้ลึกซึ้ง จริงๆ แล้วจีเอ็มโอน่าจะช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้เพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ แต่ที่คนกลัวก็กลัวว่าอาจทำให้พืชที่มีอยู่เดิมถูกยึดพื้นที่ไป ซึ่งการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ส่งเสริมให้มีการปลูกพืชชนิดเดียวเป็นแนวหลักกลับจะเป็นการเบียดบังสายพันธุ์อื่นมากกว่า” ศ.ดร.มนตรี กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น