xs
xsm
sm
md
lg

ไบโอเทคเดินหน้าดัน "พืชจีเอ็ม" ทดสอบไร่นา ส่วนจะใช้หรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้บริโภค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไบโอเทคระดมสมองทำแผนที่วิจัยจีเอ็มโอไทย ชู 4 ยุทธศาสตร์เดินหน้าผลักดันให้เกิดการทดลองในระดับไร่นา ผอ.ศูนย์ฯ รับยังมองไม่เห็นทางออกของปัญหา แม้เชื่อว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะค่อนข้างสมบูรณ์ แต่อาจติดปัญหาในภาคการบริหารจัดการ แต่ยังยืนยันจะไม่วิจัยพัฒนาเลยไม่ได้ ส่วนจะนำมาใช้หรือไม่ต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้บริโภค

หลายวันมานี้ ผู้ที่ได้ติดตามข่าวสารทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คงจะได้เห็นประเด็นข่าวพืชดัดแปลงพันธุกรรม “จีเอ็มโอ” ค่อนข้างบ่อย และมีข้อถกเถียงกันดุเดือดมากขึ้นทุกขณะ วันนี้ (6 ก.ย.) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดการประชุมระดมความคิด “แผนที่นำทางวิจัยความปลอดภัยทางชีวภาพ” ณ โรงแรมสยามซิตี้ โดยมีนักวิชาการในสาขาที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลกันกว่า 50 คน

ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ ผอ.ไบโอเทค เท้าความว่า ขณะนี้ ไบโอเทคกำลังจัดทำแผนยุทธศาสตร์สร้างความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนาพืชจีเอ็มโอและความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ.2550-2553 เพื่อนำไปเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดปัจจุบันหรือในชุดหน้า ให้พิจารณาและใช้กำหนดนโยบายของประเทศต่อไป

แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ด้วยกัน คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 เสริมสร้างความสามารถของนักวิจัยไทยให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและสามารถแข่งขันได้ อาทิ การพัฒนาเทคโนโลยีการถ่ายฝากยีน การพัฒนาชุดยีนเพื่อพัฒนาพืชจีเอ็มโอของประเทศและให้สิทธิ์แก่ผู้สนใจนำไปใช้ในสายพันธุ์อื่นๆ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาพืชจีเอ็มโอที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเลี่ยงไม่วิจัยพัฒนาพืชที่ใช้เป็นอาหารซึ่งมีข้อพิพาทมาก แต่จะหันไปให้ความสำคัญกับพืชพลังงานเช่นสบู่ดำและปาล์มน้ำมัน ไม้ประดับเช่นกล้วยไม้ พืชอุตสาหกรรมเช่นยูคาลิปตันในการผลิตกระดาษ และพืชสิ่งแวดล้อมเช่นจอกและแหนที่มีความสามารถกำจัดโลหะหนักในแหล่งน้ำได้

ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างความสามารถในการทดสอบและควบคุมปลอดภัยทางชีวภาพภาคสนามและสภาพไร่นา พร้อมกันนั้นก็สร้างเครือข่ายและเสริมสร้างขีดความสามารถของหน่วยงานวิจัยด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ ทั้งเครือข่ายวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมและเครือข่ายวิจัยด้านอาหาร การพัฒนาเทคนิคและเทคโนโลยีใหม่เพื่อทดสอบความปลอดภัยทางชีวภาพอย่างเป็นระบบและง่ายต่อการเข้าถึง เช่น การศึกษาการแสดงออกของยีนในพืชจีเอ็มโอ (Transcriptomics) และการศึกษาการสร้างโปรตีนของพืชจีเอ็มโอ (Proteomics) รวมทั้งการเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบควบคุมและเครือข่ายการบริหารจัดการความปลอดภัยทางชีวภาพในระดับชาติและระดับสถาบัน

และยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างความเข้าใจเรื่องพืชจีเอ็มโอและการมีส่วนร่วมของสังคม ผ่านกิจกรรมที่ง่ายต่อการเข้าใจของเป้าหมายแต่ละกลุ่ม เช่นการเสวนา การจัดค่ายวิทยาศาสตร์ การจัดนิทรรศการ ตลอดจนการพัฒนานักสื่อสารวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ศ.ดร.มรกต ชี้ว่า จุดสำคัญที่ต้องเร่งผลักดันในขณะนี้จะอยู่ในยุทธศาสตร์ที่ 3 คือการสร้างความสามารถในการทดสอบและควบคุมปลอดภัยทางชีวภาพภาคสนามและสภาพไร่นา ซึ่งต้องมีการจัดทำแผนที่นำทางงานวิจัยความปลอดภัยทางชีวภาพขึ้นมาใช้เป็นแนวทางการสนับสนุนการดำเนินการงานวิจัยด้านความปลอดภัยของพืชจีเอ็มโอ จึงเกิดการประชุมระดมความคิดครั้งนี้ขึ้นเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการอย่างหลากหลาย ก่อนจะนำเสนอไปยังที่ประชุม ครม.หากได้รับการอนุมัติก็จะทำให้เกิดการทดสอบภาคสนามในระดับไร่นาได้ทันที โดยขณะนี้งานวิจัยในห้องปฏิบัติการมีพร้อมอยู่แล้ว เหลือเพียงการทดสอบขั้นต่อไปในระดับไร่นาเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ผอ.ไบโอเทค ยอมรับว่า ขณะนี้ตัวเองยังมองภาพไม่ออกว่าประเด็นข้อพิพาทเรื่องพืชจีเอ็มโอของไทยจะออกมาในลักษณะใด แม้ว่าประเทศไทยจะมีนักวิจัยพืชจีเอ็มโออยู่แล้วร่วม 100 คน และค่อนข้างมั่นใจว่าเป็นเทคโนโลยีนี้มีความสมบูรณ์อยู่มากแล้วก็ตาม ทว่าก็ยังอาจมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการที่ขาดความรัดกุมทำให้เกิดการเล็ดลอดออกนอกแปลงทดลองได้

กระนั้น ประเทศไทยก็คงไม่อาจหลีกเลี่ยงการวิจัยพัฒนาพืชจีเอ็มโอได้ เพราะถือเป็นวิทยาการที่ต้องทำเผื่อไว้เป็นตัวเลือกในอนาคตเมื่อต้องการใช้จริง เช่นเดียวกับการวิจัยเรื่องน้ำมันสบู่ดำ ที่หากมีการพัฒนาอย่างจริงจังเมื่อ 20 ปีก่อน ก็จะไม่ต้องมานับหนึ่งใหม่เมื่อเกิดวิกฤติพลังงานขึ้น ส่วนกรณีที่ว่าประเทศไทยจำเป็นต้องใช้พืชจีเอ็มโอหรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับผลผลิตทางการเกษตรที่เราผลิตได้ว่าเพียงพอต่อความต้องการหรือไม่ ซึ่งหากผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการก็จะต้องนำเข้าผลผลิตทางการเกษตรจากต่างประเทศเข้ามา
กำลังโหลดความคิดเห็น