xs
xsm
sm
md
lg

เยาวชน “คนเก่งพีซี” แข่งประกอบคอมพ์ ได้เลือดแต่ไม่ท้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศึกนี้ละเลงด้วยเลือด เมื่อเยาวชนกว่า 200 คนทั่วประเทศ ร่วมแข่งขันทักษะประกอบคอมพิวเตอร์ ได้รับบาดเจ็บถูกชิ้นส่วนคอมพ์บาดนิ้วระนาว เหตุไม่ยอมสวมถุงมือ แต่ไม่ท้อหวังพิชิตแชมป์ “คนเก่งพีซี” ส่วนแชมป์ตกเป็นของ 2 หนุ่มเตรียมพัฒน์ และราชภัฏสวนสุนันทา เจ้าตัวต่างเผยไม่คิดว่าจะได้รางวัล ขอเก่งอย่างบิลล์ เกตส์

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับบริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด และผู้ให้การสนับสนุนจากภาคเอกชนและหน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมกันจัดการแข่งขัน “ทักษะความรู้และการประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์” ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย, ปวช., ปวส. และอุดมศึกษาในรอบรองชนะเลิศ ในโครงการยอดเยาวชนคนเก่งพีซี “PC Assembly Grand Prix Thailand 2006” ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ (อพวช.) แห่งชาติเทคโนธานี ตำบลคลองหลวง ปทุมธานี ระหว่างวันที่ 18-19 ก.พ.ที่ผ่านมา

“ประกอบคอมพ์” ศึกนี้ละเลงด้วยเลือด

ก่อนที่เยาวชนจะได้มาแข่งรอบสุดท้ายที่ อพวช.จะต้องทำข้อสอบปรนัยวัดทักษะความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ โดยมีผู้เข้าร่วมแข่งขันมากกว่า 3,000 คนจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ และผ่านการคัดเหลือเข้าสู่รอบรองชนะเลิศจำนวน 204 คน โดยผู้ที่เข้าสู่รอบรองชนะเลิศในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และ ปวช.ทั้ง 100 คน ได้ขับเคี่ยวเพื่อโชว์ทักษะการแข่งขันประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ รอบละ 10 คน จำนวน 10 รอบ โดยกำหนดเวลารอบละ 15 นาที เพื่อเก็บคะแนน

เมื่อประกอบคอมพิวเตอร์เสร็จแล้วจะต้องมั่นใจว่าเครื่องสามารถทำงานสมบูรณ์ได้ถึง 15 นาที โดยคณะกรรมการจะพิจารณาจากคะแนนเวลา ความถูกต้องของการประกอบ และความเรียบร้อยในการประกอบ นอกจากนี้ ยังต้องกำหนดสเปกคอมพิวเตอร์ตามโจทย์ที่คณะกรรมการได้กำหนดขึ้น

ส่วนผู้เข้ารอบในระดับ ปวส. และอุดมศึกษาอีก 100 คน จะต้องผ่านการทดสอบที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้น โดยการทำข้อสอบปรนัยวัดทักษะความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ 30 นาที การแข่งขันประกอบเครื่อง และการกำหนดสเปกคอมพิวเตอร์ตามโจทย์ที่คณะกรรมการได้กำหนดไว้ 15 นาที (ห้ามใช้เครื่องคิดเลข) ซึ่งเป็นชุดรายการชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และราคา

เมื่อได้ลงมาแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศแล้ว ผู้เข้าแข่งขันต่างโชว์ความสามารถชนิดที่ไม่มีใครยอมใคร และแม้ทางทีมงานจัดการแข่งขันจะแจกถุงมือป้องกันอุบัติเหตุจากการจับชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ที่มีความแหลมและคม แต่ก็ไม่มีผู้เข้าแข่งขันคนใดสวมใส่ เนื่องจากไม่ถนัด ทำให้ผู้เข้าแข่งขันต่างถูกชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์บาดนิ้วและแขนเป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคหรือทำให้ผู้เข้าแข่งขันเกิดความย่อท้อ อย่างไรก็ดี มีเยาวชนบางคนที่สามารถประกอบคอมพิวเตอร์ได้รวดเร็วที่สุด แต่เมื่อแข่งขันรอบนี้เสร็จก็ต้องรีบไปทำแผล เนื่องจากเลือดไหลออกมาก

จากนั้น เยาวชน 10 คนสุดท้ายที่ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศจะต้องแข่งขันตอบคำถามทฤษฎีและความรอบรู้ด้านคอมพิวเตอร์ โดยทางทีมงานได้จัดรูปแบบคล้าย “เกมทศกัณฐ์” ให้ผู้เข้าแข่งขันได้ชิงไหวชิงพริบ คิดเร็วตอบไว จนกระทั่งเหลือ 2 คนสุดท้ายเพื่อหาตำแหน่งผู้ชนะเลิศ โจทย์คำถามกลับยากขึ้นไปด้วย พร้อมๆ กับโจทย์ภาคปฏิบัติที่เพิ่มเข้ามา ผู้แข่งขันจึงต้องอาศัยทั้งความรู้ ปฏิภาณไหวพริบ ความรวดเร็ว และ “ลูกเดา” เข้าร่วมขับเคี่ยว เรียกได้ว่าผู้ที่คว้าแชมป์ไปครอง ต้องถือว่าเป็น “หนึ่งในตองอู” ทีเดียว

“คนเก่งพีซี” ฝันอยากรวยเหมือนบิลล์ เกตส์

เยาวชนคนเก่งผู้ชนะเลิศการแข่งขันระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย-ปวช. ได้แก่ นายชัชพล พูลเพิ่มทรัพย์ นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ รัชดา ตามมาด้วยที่ 2 คือ นายวาทิต สีมาคุปต์ นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร และที่ 3 นายณัฐพงศ์ อุดมการ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)

ส่วนผู้ชนะเลิศการแข่งขันระดับอุดมศึกษา-ปวส.ได้แก่ นายอธิษฐ์ เอกอังคณา นักศึกษาชั้นปี 3 ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ตามมาคือนายเอกราช จันทะเหลา นักศึกษาชั้นปี 4 ภาควิชาวิศวกรรมสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง และนายอรรถสิทธิ์ รองสวัสดิ์ ปวส.2 ภาควิชาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ โรงเรียนสงขลาเทคโนโลยี โดยผู้ชนะเลิศในระดับมัธยมฯ และอุดมศึกษา จะได้รับรางวัลทุนการศึกษา 50,000 บาท และ 100,000 บาท ตามลำดับ พร้อมรับถ้วยเกียรติยศจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

นายชัชพล ที่ 1 จากการแข่งขันระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย-ปวช. เผยว่า ทางบ้านได้เปิดร้าน C.com Services ซึ่งเป็นร้านซ่อมคอมพิวเตอร์ร้านเล็กๆ อยู่บนไอทีมอลล์ ฟอร์จูนทาวน์ ถ.รัชดาภิเษก จึงได้ใช้ความรู้และประสบการณ์การช่วยงานในร้านมาช่วยในการแข่งขัน นอกจากนี้ เขายังเคยร่วมการแข่งขันตอบปัญหาคอมพิวเตอร์มาหลายครั้งแล้ว อาทิ การแข่งขันของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยเอแบค ซึ่งล้วนแต่เป็นการแข่งขันประเภททีม โดยทีมของเขาสามารถคว้าที่ 3 จากการแข่งขันทั้ง 2 รายการ โดยเฉพาะการแข่งขันของมหาวิทยาลัยเอแบ็ค ที่เขาได้ทุนศึกษาต่อในโครงการ Science Technology ด้วย

“การแข่งขันในครั้งนี้ ผมรู้สึกดีใจและตื่นเต้นมาก ได้รับความรู้เพิ่มเติม รวมถึงมิตรภาพและความสามัคคี โดยส่วนตัวไม่คิดว่าตัวเองจะได้รางวัล โดยเฉพาะการแข่งขันในรอบแรกๆ ที่ไม่คิดด้วยซ้ำว่าจะผ่านเข้ารอบพันคนมาได้ เป็นเพราะดวงช่วยทำให้เจอแต่คำถามที่ตอบได้ ทั้งนี้ เมื่อเรียนจบชั้น ม.ปลายแล้วอยากเรียนต่อในสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เช่น ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นก็อยากเข้าทำงานที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และอยากเก่งแบบบิลล์ เกตส์” นายชัชพล กล่าว

ด้าน นายอธิษฐ์ ผู้ชนะเลิศในระดับอุดมศึกษา-ปวส. กล่าวว่า ส่วนตัวเป็นคนที่สนใจเรื่องคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว โดยจะศึกษาด้วยตัวเอง และชอบแก้ปัญหาคอมพิวเตอร์ให้เพื่อนๆ สาเหตุที่เข้าร่วมในการแข่งขันครั้งนี้เนื่องจากต้องการหาประสบการณ์ให้กับตัวเอง โดยก่อนหน้านี้ไม่เคยเข้าร่วมการแข่งขันใดๆ มาก่อน และในการแข่งขันครั้งนี้ก็ไม่ได้เตรียมตัวอะไรเป็นพิเศษ คือเรียนในห้องเรียนและอ่านนิตยสารด้านคอมพิวเตอร์-อิเล็กทรอนิกส์ตามปกติ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไม่ได้คาดหวังชัยชนะ แต่ก็ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการแข่งขันไปมากมาย

“ปูน” นักประกอบคอมพ์ หญิงหนึ่งเดียวที่ผ่านเข้ารอบ

ด้าน “น้องปูน” หรือนางสาวอนันดา ภู่ระหงษ์ โรงเรียนเทคโนโลยีภาคตะวันออก ปวส.ปี 1 ซึ่งเป็นเยาวชนหญิงคนเดียวที่สามารถฝ่าฟันจนเข้าสู่รอบรองชนะเลิศ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้จะกลัวคอมพิวเตอร์มาก เพราะเป็นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ แต่เมื่อได้เรียนการประกอบคอมพิวเตอร์ก็อยากทดสอบความสามารถ โดยมีเพื่อนผู้หญิงชวนเข้าร่วมแข่งขัน จนสุดท้ายได้กลายเป็นผู้หญิงคนเดียวที่ผ่านเข้ามารอบรองชนะเลิศ ซึ่งก็รู้สึกแปลกใจ อย่างไรก็ดี ไม่ได้คาดหวังที่จะเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ แต่อยากได้รับประสบการณ์และสามารถกลับไปประกอบคอมพิวเตอร์ที่บ้านได้อย่างสมบูรณ์

แม้จะไม่ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ แต่ “ท็อป” นายสรวิศ เทศวิเชียรชัย โรงเรียนอัสสัมชัญ ม.5 ก็เผยถึงเหตุผลที่ตัดสินใจร่วมแข่งขันว่า เพราะต้องการทราบว่าอยู่ในระดับไหน เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาต่อไป เนื่องจากชอบการประกอบคอมพิวเตอร์ โดยเรียนรู้จากหนังสือ ซึ่งในอนาคตอยากเป็นนักโปรแกรมเมอร์และผู้ดูแลระบบ

ส่วน นายอาสาฬ์หะ จันทนศร หรือ “น้องอ๋อง” คณะวิศวะคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า โดยส่วนตัวชอบการประกอบคอมพิวเตอร์มานานแล้ว เมื่อเข้าร่วมการแข่งขันก็ทำให้ได้รับความรู้ใหม่ๆและเทคนิคจากเพื่อนคนอื่นๆ ส่วนความมั่นใจประมาณ 50-50 รู้สึกว่าทำได้ดีแต่ยังไม่มาก


คลิกที่ไอคอน Manager Multimedia
เพื่อรับชมภาพเพิ่มเติม


ดูภาพชุดจาก Manager Multimedia







กำลังโหลดความคิดเห็น