xs
xsm
sm
md
lg

ไทยเร่งตั้ง กก.ระดับชาติศึกษาเสต็มเซลล์ - อีก 1 เดือนคลอดกรอบจริยธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพินิจ จารุสมบัติ รมว.สาธารณสุข สั่งการให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการบูรณาการดูแลเรื่องสเต็มเซลล์ขึ้น
สธ.จัดเวิร์กช็อปสเต็มเซลล์ ระดมกึ๋นตั้งคณะกรรมการระดับชาติดูแลกำหนดแนวทางการศึกษาวิจัยเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์ ให้เป็นระบบทั้งด้านการแพทย์ จริยธรรม การนำเข้าและส่งออกสเต็มเซลล์ ป้องกันการลักลอบนำสเต็มเซลล์หาประโยชน์ หวั่นซ้ำรอยเหมือนกรณีข้าวหอมมะลิที่ถูกต่างชาติจดสิทธิบัตรพันธุ์ข้าว แพทยสภาเผยใน 1 เดือน กรอบจริยธรรมจะแล้วเสร็จ ขณะที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เร่งเดินหน้าให้ความรู้เรื่องสเต็มเซลล์แก่สาธารณชนภายใน 3 เดือน

ในเวลานี้ เซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์ (Stem Cell) ถือเป็นวิทยาการโลกใหม่ที่ไม่มีใครกล้าปฏิเสธอีกต่อไป วานนี้ (25 ม.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "การกำหนดแนวทางการศึกษาวิจัยด้านสเต็มเซลล์" ขึ้น โดยมีนายพินิจ จารุสมบัติ รมว.สาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานพร้อมมอบนโยบายการศึกษาวิจัยสเต็มเซลล์ในประเทศไทยแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

นายพินิจ กล่าวว่า การใช้ประโยชน์จากสเต็มเซลล์นับเป็นเรื่องใหม่ทางการแพทย์ เป็นความหวังที่จะนำไปรักษาโรคร้ายแรงที่ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้แต่พบว่า มีการส่งเลือดคนไทยไปแยกหาสเต็มเซลล์ในต่างประเทศเพื่อส่งกลับมารักษาโรค เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โดยไม่มีกฎหมายรองรับ ลักษณะนี้ตนหวั่นถูกจะขโมยข้อมูลสเต็มเซลล์ไปใช้ประโยชน์จดสิทธิบัตรหรือทางการค้าเหมือนกับการวิจัยพันธุ์ข้าวหอมมะลิ

“กระทรวงพาณิชย์ถามมายังกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับการนำเข้าสเต็มเซลล์เพราะมีคนต้องการนำเข้า เขาก็ถามมายังเรา เรื่องนี้สำคัญต้องหาแนวปฏิบัติที่ชัดเจน อย.ต้องวางมาตรการเรื่องการนำเข้า แพทยสภากำกับดูแลจริยธรรมแพทย์ในการรักษา” นายพินิจ กล่าว

นอกจากนี้ รมว.สธ.ยังเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งที่บูรณาการผู้รู้จากหลายหน่วยงานเข้ามาร่วมกันเป็นกองกลางเพื่อดูแลเรื่องการศึกษาวิจัยสเต็มเซลล์ในประเทศไทยโดยเฉพาะ อีกทั้งให้แพทยสภากำกับดูแลจริยธรรมเมื่อนำสเต็มเซลล์มารักษาโรค การบูรณาการวิจัยและพัฒนา ลดความซ้ำซ้อน เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วย มีการศึกษาอย่างเป็นระบบ เป็นบริการทางการแพทย์ที่ทุกคนเข้ารับบริการได้

ทางด้าน นพ.ไพจิตร์ วราชิต อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สธ. ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ในการแต่งตั้งคณะกรรมการจะมีภารกิจแยกย่อยอื่นๆ โดยแบ่งออกเป็นคณะอนุกรรมการย่อยชุดต่างๆ ที่ต้องมีเจ้าภาพดูแลอย่างชัดเจน 6 ด้านด้วยกันคือ 1.ด้านการวิจัยพัฒนาขั้นพื้นฐาน เช่น การวิจัยในห้องปฏิบัติการจะเป็นหน้าที่ของโรงเรียนแพทย์ต่างๆ และการวิจัยพัฒนาด้านการเตรียมเซลล์เพื่อไปใช้จะเป็นหน้าที่ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ส่วนการวิจัยพัฒนาทางคลินิกจะเป็นหน้าที่ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานปลัด กระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ และโรงพยาบาลต่างๆ

2.ด้านการทำคลังสเต็มเซลล์จากเลือด (Cord Blood Bank) จะเป็นหน้าที่ของสภากาชาดไทย 3. ด้านการดูแลการใช้บริการเป็นหน้าที่ของสำนักงานปลัด กระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ โรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลเอกชน 4.ด้านการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยและให้บริการเป็นหน้าที่ของแพทยสภาและสภาเทคนิคการแพทย์ 5.ด้านมาตรฐานการวิจัยและให้บริการจะแบ่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ดูแลมาตรฐานในห้องปฏิบัติการ ส่วน อ.ย. และกองประกอบโรคศิลป์จะดูแลในส่วนของสถานบริการต่างๆ และ 6. ด้านการสนับสนุนงบประมาณจะมี 2 หน่วยงานดูแลคือ วช. และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ทีเซลล์)

จากนั้นได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับสเต็มเซลล์โดยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยกันหลายประเด็น โดยประเด็นหนึ่งคือ ปัญหาด้านการรู้จักและเป็นที่ยอมรับของสเต็มเซลล์ต่อสาธารณชนที่ขณะนี้ประชาชนยังไม่รู้จักสเต็มเซลล์หรือรู้จักแต่ยังสับสนมาก ซึ่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะพยายามเร่งดำเนินการในเรื่องนี้ภายในระยะเวลาประมาณ 2-3 เดือนข้างหน้า โดยอาจเป็นการให้ความรู้แก่สาธารณชนผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

นอกจากนี้ ในการประชุมยังมีการพูดถึงสเต็มเซลล์ด้วยว่า เป็นวิทยาการที่สามารถนำมาใช้เพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ ดังนั้นการดำเนินการต่างๆ ในเรื่องนี้จึงไม่ควรเป็นการปิดช่องทางทางธุรกิจไปด้วย แต่ควรมีการกำหนดกรอบมาตรฐานและจริยธรรมต่างๆ ให้เป็นที่น่าเชื่อถือในระดับสากลแทน

ส่วนปัญหาอื่นๆ ที่มีการหยิบยกมาพูดถึงได้แก่ ปัญหาการขาดโครงสร้างขั้นพื้นฐานเรื่องสเต็มเซลล์ เช่น คณะกรรมการที่ทำหน้าที่ดูแลโดยเฉพาะ ซึ่งไม่ได้ดึงบุคลากรจากส่วนอื่นมาดูแล เพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพ และปัญหาการควบคุมดูแลการดำเนินการของสถานบริการเอกชนที่ยังไม่ทั่วถึงทำให้เกิดการละเมิดกฎหมายได้

อย่างไรก็ดี ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่เลขา นายกแพทยสภา เปิดเผยว่า ที่สหรัฐยังไม่อนุญาตให้นำสเต็มเซลล์รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ พบว่ามีชาวต่างชาติเข้ามารักษาโรคนี้ในโรงพยาบาลเอกชนด้วยสเต็มเซลล์โดยเจาะเลือดคนไข้ส่งไปแยกสเต็มเซลล์ในต่างประเทศ จากนั้นนำกลับมาฉีดให้คนไข้โดยไม่มีกฎหมายรองรับ ไม่มีข้อมูลความปลอดภัยและมาตรฐานการรักษา เพราะดำเนินการในรูปของการทดลอง หากประเทศไทยจะพัฒนาสเต็มเซลล์ต้องมีเกณฑ์กำกับดูแล เพราะมีบริษัทเอกชนจากต่างประเทศติดต่อเข้ามาจำนวนมาก ต้องการตั้งห้องปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาสเต็มเซลล์ในไทย

ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการ นพ.ไพจิตร์ เปิดเผยว่าจากการหารือกับ ศ.นพ.สมศักดิ์แล้วเห็นว่ากรอบจริยธรรมการวิจัยและให้บริการด้านสเต็มเซลล์ของแพทยสภาคาดว่าจะทำให้แล้วเสร็จภายในเวลา 1 เดือนเพื่อมีผลบังคับใช้กับแพทย์ผู้นำสเต็มเซลล์ไปใช้รักษาผู้ป่วย อย่างไรก็ดี ในส่วนของกรอบจริยธรรมที่มีผลบังคับใช้กับนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยนั้น นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่าเป็นหน้าที่ของสภาเทคนิคการแพทย์ซึ่งยังไม่มีการพูดคุยเรื่องนี้แต่อย่างใด

ที่ผ่านมา ในประเทศไทยมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการศึกษาวิจัยสเต็มเซลล์ อาทิ 1. วช. ให้การสนับสนุนงบประมาณวิจัยเชิงบูรณาการนำร่อง และสร้างระบบเครือข่ายสเต็มเซลล์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ 2. ศูนย์บริการโลหิต สภากาชาดไทย ทำการศึกษาวิจัยให้บริการเก็บสเต็มเซลล์และจัดตั้งธนาคารเลือดจากรก 3. คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มีการจัดตั้งห้องปฏิบัติการเพื่อเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์และการศึกษาวิจัยด้านการรักษาด้วยสเต็มเซลล์

4.ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทยให้การสนับสนุนโครงการพัฒนาระบบเครือข่ายการเก็บข้อมูล และโครงการธนาคารสเต็มเซลล์ (National Cord Blood Bank) 5.มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติร่วมกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) จัดทำ “โครงการชีวจริยธรรมกับการวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่” 6.แพทยสภาได้ดำเนินการจัดแนวทางด้านจริยธรรมของการรักษาพยาบาล

และ 7. กระทรวงสาธารณสุขมีโครงการวิจัยและพัฒนาห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์ ดูแล และตรวจสอบคุณภาพมาตรฐาน รวมทั้งจัดเตรียมสเต็มเซลล์ที่มีคุณภาพเพื่อนำไปใช้ในการวิจัยทางคลินิกผ่านศูนย์ปฏิบัติการและโรงพยาบาลโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ การวิจัยทางคลินิกโดยกรมการแพทย์ และการจัดทำมาตรฐานการให้บริการโดยกรมสนับสนุนบริการสาธารณสุข
นพ.ไพจิตร์ วราชิต อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ทางกรมฯ จะเร่งให้ความรู้เรื่องสเต็มเซลล์แก่สาธารณชน
การจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการกำหนดแนวทางการศึกษาวิจัยด้านสเต็มเซลล์ที่ระดมกึ๋นมาเวิร์กช็อปกันโดยเฉพาะ
บรรยากาศในงาน: มีผู้บริหารและผู้แทนจากหลายหน่วยงานมาร่วมการประชุม
การอภิปรายเรื่องเสต็มเซลล์เป็นไปอย่างเข้มข้น มีประเด็นปัญหามากมายที่ถูกกล่าวถึงในการประชุมครั้งนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น