xs
xsm
sm
md
lg

จิงโจ้หัวใสใช้ "คาร์บอน" จากพลาสติกผลิตเหล็ก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ - นักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลียประสบความสำเร็จในการนำพลาสติกเหลือใช้มาช่วยผลิตเหล็กกล้า ซึ่งอาจส่งผลดีต่อกระบวนการรีไซเคิลเศษเหล็ก ที่คิดเป็นร้อยละ 40 ของการผลิตเหล็กในปัจจุบัน

ศาสตราจารย์วีนา สหัชวัลลา (Professor Veena Sahajwalla) แห่งมหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ (University of New South Wales) ผู้คิดค้นวิธีการนี้ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศผลงานวิทยาศาสตร์ยอดเยี่ยมประจำปีล่าสุดของออสเตรเลีย เผยว่า พลาสติกใช้แล้วจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นถุงใส่ของ ขวดน้ำยาล้างจาน หรือแม้แต่ขวดน้ำดื่ม มีปริมาณคาร์บอนในระดับเพียงพอสำหรับใช้ผลิตเหล็กกล้า

ทั้งนี้ คาร์บอนถือเป็นส่วนประกอบสำคัญในการเพิ่มความแข็งให้กับเหล็ก โดยปริมาณคาร์บอนที่สูงขึ้นจะยิ่งทำให้เหล็กมีความแข็งแกร่งมากขึ้น และยืดหยุ่นน้อยลงโดยในกระบวนการรีไซเคิล พลาสติกไร้ค่าจะถูกป้อนเข้าสู่เตาหลอมโลหะแบบอิเล็กทรอนิก เพื่อเป็นแหล่งพลังงานทางเลือกของคาร์บอน และทำให้เกิดความร้อนในอุณหภูมิสูงถึง 1,600 องศาเซลเซียส

"สารประกอบคาร์บอนที่อยู่ในพลาสติกคือสิ่งที่เราต้องการ ขณะที่มันอยู่ในอุณหภูมิสูง เราสามารถทำปฏิกิริยากับมันเพื่อใช้คาร์บอนในพลาสติกได้ เหมือนกับการที่คุณเติมถ่านหินเข้าไป" สหัชวัลลา ศาสตราจารย์จากคณะวัสดุศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ (School of Materials Science and Engineering) กล่าว

ด้านไคล์ด เฮนเดอร์สัน (Clyde Henderson) ตัวแทนภาคอุตสาหกรรมถ่านหิน ระบุว่า เทคโนโลยีนี้คล้ายกับการใช้เม็ดพลาสติกเป็นเชื้อเพลิงในสถานีจ่ายกระแสไฟฟ้าของญี่ปุ่น และว่า "ผมไม่คิดว่าอุตสาหกรรมถ่านหินจะมองเรื่องนี้เป็นภัยคุกคาม ผมว่ามันส่งผลดีในแง่สิ่งแวดล้อมมากกว่า"

สหัชวัลลา บอกอีกว่า กระบวนการของเธอไม่ใช่การนำพลาสติกมาใช้แทนถ่านหินในการผลิตเหล็ก แต่เป็นการใช้ทั้งสองอย่างผสมกัน นอกจากนี้ เธอยังหวังว่า เทคนิกที่ค้นพบใหม่จะช่วยให้ขยะพลาสติกที่สร้างปัญหาปวดหัวแก่สิ่งแวดล้อม กลายเป็นทรัพยากรอันมีค่า

ปัจจุบัน ออสเตรเลียเป็นชาติส่งออกถ่านหินอันดับหนึ่งของโลก โดยปีที่ผ่านมา แดนจิงโจ้ขายถ่านหินเกรดสำหรับผลิตโลหะผสมได้ถึง 122 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 9,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ขณะเดียวกัน ออสเตรเลียยังใช้พลาสติกราวล้านตันต่อปี โดยขยะพลาสติกจำนวนมากถูกกำจัดด้วยการฝังดิน

"หากคุณมีขยะพลาสติกจำนวนมากซึ่งจุดจบคือการถูกถมดิน ไม่ใช่แค่ในออสเตรเลีย แต่รวมถึงทั่วโลก มันกำลังมีเทคโนโลยีทางเลือกที่ใช้จัดการกับสิ่งนี้อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม" สหัชวัลลากล่าวหลังผลงานของเธอได้รับรางวัลเมื่อวันอังคาร (9 ส.ค.) ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี เธอเตือนว่า พีวีซีเป็นหนึ่งในพลาสติกไม่กี่ชนิดซึ่งไม่เหมาะแก่การนำมาใช้ในกระบวนการนี้ เนื่องจากมันจะปล่อยสารก่อมะเร็งออกมาเมื่อถูกเผาไหม้
กำลังโหลดความคิดเห็น