xs
xsm
sm
md
lg

ดึงนานาชาติแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ก่อนวางตลาดจีเอ็มโอไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ไบโอเทค" จัดประชุมนานาชาติ ระดมความรู้เกี่ยวกับพืชดัดแปลงพันธุกรรมจากหลายประเทศที่สามารถผลิตเชิงพาณิชย์ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการผลิตสู่ตลาดของไทย หวั่นประเทศอื่นๆ ค้าพืชจีเอ็มโอแซงหน้า ทั้งๆ ที่ไทยมีศักยภาพทางการเกษตร

วานนี้ (17 มิ.ย.) นายกร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดการประชุม “Global Sharing of Knowledge and Experience on Crop Biotechnology” ซึ่งจัดโดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมกับสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์และไอซา ( ISAAA : International Service for the Acquisition of Agri-biotech Applications) ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

นายกร ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงานว่า การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามความก้าวหน้าสถานภาพการใช้ประโยชน์พืชดัดแปลงพันธุกรรม หรือ จีเอ็มโอ (GMOs) เพื่อการค้าในระดับสากล และเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็นและประสบการณ์ของประเทศที่มีการปลูกพืชจีเอ็มโอในเชิงพาณิชย์

"ศักยภาพการผลิตพืชผลทางการเกษตรของไทยกำลังถูกหลายๆประเทศที่ผลิตพืชจีเอ็มโอล้ำหน้าไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องระดมความรู้ และประสบการณ์ ก่อนที่ไทยจะดำเนินการผลิตพืชดัดแปลงพันธุกรรมในเชิงพาณิชย์" นายกรกล่าว พร้อมทั้งย้ำว่า ทคโนโลยีชีวภาพเป็นเรื่องหนึ่งในวาระแห่งชาติ

"ประเทศเราทำการเกษตร เศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับภาคเกษตรด้วย เราต้องเพิ่มความสามารถในการหาความรู้ ต้องเพิ่มงานวิจัยในระดับชาติ ประเทศเราเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก แต่ทำไมชาวนายังจน ในเมื่อขายข้าวได้มากที่สุดในโลก เราจะรักษาตำแหน่งได้อย่างไร ในเมื่อเวียดนามก็มาแรง ส่วนจีนเขาก็ก้าวหน้า เขาให้ทุนวิจัยมากในเรื่องข้าว” รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ระบุ

นอกจากนี้ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ยังชี้อีกว่า รัฐควรหาความรู้ใหม่ๆ จากต่างประเทศ เราต้องการแนวทางกฏหมายด้านการผลิตพืชจีเอ็มโอที่ครอบคลุมและเหมาะสม ก่อนที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา อีกทั้งก่อนที่จะดำเนินการในเชิงพาณิชย์ เราต้องมีเครื่องมือ ซึ่งก็คือความรู้ด้านไบโอเทค และการประชุมเพื่อพัฒนาพันธุ์พืชจะทำอย่างไรต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย

ทางด้านรศ.ดร. ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการ สวทช.กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมดังกล่าวสืบเนื่องมากจากการประชุมวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา ในหัวข้อ “เทคโนโลยีชีวภาพการเกษตร” โดย ดร.คลีฟ เจมส์ ( Dr.Clive James) ประธานบริหารองค์กรไอซาได้นำเสนอสถานภาพโดยรวมของพื้นที่เพาะปลูกพืชจีเอ็มโอ ซึ่งที่นิยมปลูกมากได้แก่ ถั่วเหลือง ข้าวโพด ฝ้ายและคาโนลาในปัจจุบันมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกมากกว่าในอดีตถึงร้อยละ 20 หรือเพิ่มมากขึ้น 80 ล้านกว่าไร่ และตัวเลขในปี 2547 มีเกษตรกรที่ปลูกพืชจีเอ็มโอราว 9.50 ล้านคน ใน 18 ประเทศ

"แสดงให้เห็นว่าประเทศอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนาได้ประจักษ์ถึงประโยชน์ของพืชดัดแปลงพันธุกรรมในแง่เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สุขภาพและสังคม และการดำเนินการแบบพาร์เนอริง ( Partnering) ระหว่างภาครัฐและเอกชน จะช่วยเร่งให้การศึกษาสำเร็จลุล่วงได้เร็วขึ้น" ผอ. สวทช.กล่าว

ด้านนางดารุณี เอ็ดเวิดล์ รองผู้อำนวยการไบโอเทค กล่าวว่า หากจะเดินหน้าการวิจัยพืชจีเอ็มโอต่อไปจะต้องเข้าสู่การทดลองในระดับไร่นา จึงจะได้ผลการวิจัยที่สมบูรณ์ โดยมีมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพไม่ให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนในอนาคตหากได้ข้อสรุปว่าพืชจีเอ็มโอชนิดใดมีประโยชน์จริง และพร้อมที่จะเข้าสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ ก็จะต้องผ่านกระบวนการทดสอบความปลอดภัยต่อผู้บริโภคก่อน จึงไม่ควรที่จะกังวลในการวิจัยพืชจีเอ็มโอ ให้เป็นทางเลือกหนึ่งควบคู่กับการปลูกพืชแบบธรรมชาติดังเดิม

ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวได้เชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทางด้านจีเอ็มโอ และธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากนานาชาติ ในหัวข้อต่างๆ อาทิ สถานการณ์การค้าพืช GMO โลก, กฎหมายโลกเกี่ยวกับไบโอเทคโนโลยี, บทบาทของพืชจีเอ็มโอเพื่อการผลิตที่พอเพียง,พืชจีเอ็มโอกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการอภิปราย “แบ่งปันความรู้และประสบการณ์เรื่องพืชจีเอ็มโอ จากตัวแทน 6 ประเทศได้แก่ ฟิลิปปินส์ บราซิล สหรัฐอเมริกา อาเจนตินา อินเดียและจีน
กำลังโหลดความคิดเห็น