ถ้าวันหนึ่งเราเดินไปตลาดแล้วต้องซื้อมังคุดลูกละ 70 บาท คงต้องเก็บความอยากแล้วเดินกลับบ้านเป็นแน่ แต่ถ้าเป็นเกษตรกรแค่ยิ้มจนแก้มปริดูจะน้อยเกินไป เรื่องที่สมมติขึ้นนี้ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น เพราะนักวิชาการไทยสามารถผลิตเครื่องทำแห้งสำหรับพืชผักและผลไม้ด้วยระบบสุญญากาศที่เย็นกว่าจุดเยือกแข็งถึง 50 องศาเซลเซียส และผลิตภัณฑ์ที่ได้ก็เป็นที่ชื่นชอบของตลาดต่างประเทศ อีกทั้งยังนำไปเป็นอาหารสำหรับนักบินอวกาศอีกด้วย
นายสมศักดิ์ เปรมประสงค์ จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้ร่วมกับทีมพัฒนา “เครื่องทำแห้งเยือกแข็งสุญญากาศ” (Vacuum Freeze Dryer) ซึ่งสามารถทำแห้งผลผลิตทางการเกษตรได้ถึง 50 ลิตร และมีราคาราว 1 ล้านบาท นับว่าถูกกว่าเครื่องจักรจากต่างประเทศที่มีความจุเพียง 9 ลิตร แต่มีราคาสูงกว่า 3 เท่า และทีมพัฒนาชุดเดียวกันนี้ยังได้ประดิษฐ์ “อุโมงค์สุญญากาศ” ที่ทางผู้จัดการวิทยาศาสตร์พึ่งนำเสนอไป
นายสมศักดิ์กล่าวว่า น้ำหนักของผลิตผลที่ผ่านการทำแห้งด้วย “เครื่องเย็นสุญญากาศ” นี้จะหายไปถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ยังคงรสชาติและคุณค่าอาหาร อีกทั้งยังเป็นที่ชื่นชอบของตลาดต่างประเทศ แต่คงขายในประเทศไม่ได้เพราะมังคุดลูกหนึ่งมีราคาสูงถึง 70 บาท และเป็นอาหารที่นำส่งขึ้นไปให้แก่นักบินอวกาศ เนื่องจากน้ำหนักที่น้อยกว่าปกติถึง 8 เท่า และเก็บไว้ได้นานนับสิบปี
“เชื่อไหม ทุเรียนที่ผ่านการทำแห้งด้วยเครื่องนี้สามารถเก็บได้นานถึง 10 ปีเชียวนะ ก็เพราะน้ำหายไปหมดเชื้อแบคทีเรียก็โตไม่ได้ แต่เวลาทานนี้ต้องอมนานๆ หน่อยนะ ให้ละลายในปาก” นายสมศักดิ์โฆษณาสรรพคุณของผลไม้ที่ผ่านการทำแห้ง พร้อมกับเชิญชวนให้ทดลองรับประทานผลไม้ที่น้ำส่วนใหญ่หายไป และเหลือเพียงเนื้อที่มีน้ำหนักเพียงไม่กี่กรัม
สำหรับการทำงานของเครื่องอาศัย 2 หลักการคือ 1.การทำให้เป็นสุญญากาศ และ 2.การถ่ายเทความร้อน โดยนายสมศักดิ์อธิบายว่าการเป็นสุญญากาศของเครื่องจะทำให้โมเลกุลของน้ำถูกดึงออกมา ซึ่งระบบภายในเครื่องถูกทำให้มีความดันที่ติดลบประมาณ 1-2 บรรยากาศ (torr) และอุณหภูมิภายในเครื่องที่ต่ำถึง -50 องศาเซลเซียส จะเร่งให้เกิดการถ่ายเทพลังงานจากตัววัตถุดิบสู่ระบบและดึงน้ำที่ระเหยออกมาได้เร็วขึ้น
“เคยเอานิ้วไปจิ้มน้ำแข็งในตู้ไอติมไหม หรือน้ำแข็งในตู้เย็นที่เย็นจัดๆ ก็ได้ พอจิ้มลงไปนิ้วเราจะติดหนึบดึงไม่ออกเลยใช่ไหม นั่นเป็นเพราะมีการถ่ายเทพลังงาน (ความร้อน) จากนิ้วเราไปน้ำแข็ง” นายสมศักดิ์อธิบาย พร้อมกับเสริมว่าบางครั้งจำเป็นต้องใช้รังสีอินฟาเรด (คลื่นความร้อน) กระตุ้นให้ผลิตภัณฑ์คลายน้ำออกด้วย สำหรับสารที่ใช้ทำความเย็นคือ R22 พร้อมกับอุปกรณ์ทำความเย็นพิเศษที่เป็นรูปรังผึ้ง 6 เหลี่ยม
ส่วนค่าไฟฟ้าที่ต้องจ่ายไปสำหรับเครื่องทำแห้งรุ่นนี้นั้น ทางทีมพัฒนายังไม่ได้ตัวเลขที่ชัดเจน แต่ในรุ่นที่พัฒนามาก่อนหน้านี้นั้นจะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าไปชั่วโมงละ 3 บาท และหากผู้ประกอบการรายใดสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ ฝ่ายวิศวกรรม วว. โทรศัพท์ 0-2577-9257-8 และโทรสาร 0-2577-2386 ในวันเวลาราชการ หรือ www.tistr.or.th, mailto: tistr@tistr.or.th