xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์นาโนจุฬาฯ แปรฝันจิ๋วสู่ความจริง “ไม่ทำเองก็ซื้อเขา แพงแค่ไหนก็ต้องจ่าย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์นาโน จุฬาฯ อีกหนึ่งสร้างสถาบันที่ร่วมกันแปรความฝันของเทคโนโลยีจิ๋วๆ สู่ความจริง หัวหน้าโครงการเผยมีงานวิจัยหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มที่กำลังพัฒนายาชาแบบทาและตัวพายารักษาโรคเอดส์ กลุ่มพัฒนาเซนเซอร์ติดกล่องอาหารบอกวันหมดอายุ หรือกลุ่มพัฒนาเสื้อผ้ากันยุง หากจะไม่ทำเองก็ได้แต่ต้องซื้อเขา แพงแค่ไหนก็ต้องจ่าย

ทุกวันนี้เราได้เราได้เห็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้นาโนเทคโนโลยีซึ่งทำให้เกิดคุณสมบัติมหัศจรรย์ต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องอากาศที่มีอนุภาคนาโนซึ่งสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ เสื้อผ้าที่ไม่เปียกน้ำ เครื่องสำอางจำพวก “ครีมหน้าเด้ง” ทั้งหลาย แต่กว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้ ต้องอาศัยการค้นคว้าวิจัยจำนวนไม่น้อย ซึ่งมีหลายสถาบันในประเทศไทยที่พุ่งความสนใจไปศึกษาเรื่องดังกล่าว

ศูนย์นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เป็นอีกสถาบันหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการค้นคว้าทางด้านเทคโนโลยีจิ๋วนี้ โดย รศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว อาจารย์จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการของงานวิจัยในหลายๆ โครงการเล่าถึงความเป็นมาของนาโนเทคโนโลยีในรั้วจามจุรีว่าเดิมนั้นนักวิจัยหลายคนในสถาบันก็ศึกษาเกี่ยวโมเลกุลอยู่ก่อนแล้ว และเริ่มต้นจริงจังกับนาโนเทคโนโลยีเมื่อประมาณต้นปี พ.ศ.2547 ซึ่งก็เหมือนกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เริ่มในช่วงเวลาดังกล่าว

“เวลาพูดถึงนาโนเทคโนโลยีก็เหมือนพูดถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพียงแต่ย่อส่วนลงไปเล่นในระดับโมเลกุล งานทางด้านวิศวกรรม แพทย์ วิทยาศาสตร์ไม่ว่าจะเป็น ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ก็เป็นนาโนได้หมดเลย กลุ่มเราก็มารวมตัวกันมองว่ามีแหล่งทุนที่ไหนบ้าง เริ่ม 47 ต้น กลุ่มอื่นๆ ก็จะเริ่มพอๆ กัน” และตอนนี้ทางกลุ่มก็มีนักวิจัยอยู่ประมาณ 70-80 คน และงานวิจัยของศูนย์ฯ ก็มีอยู่หลายกลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มนาโนพอลิเมอร์ซึ่งเป็นกลุ่มแรกๆ ที่มีงานวิจัยออกมา

ทั้งนี้ อาจารย์สุพจน์ได้ยกตัวอย่างงานวิจัยในกลุ่มนาโนพอลิเมอร์ของ รศ. ดร.สุวบุญ จิรชาญชัย นักวิจัยจากวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาฯ ซึ่งมีแนวคิดที่จะนำไคติน-ไคโตซานมาผลิตเป็นตัวนำส่งยาชาและยารักษาโรคเอดส์ขนาดนาโน ทั้งนี้ไคติน-ไคโตซานเป็นผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ที่ได้จากเปลือกกุ้งซึ่งเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมกุ้งเป็นจำนวนมากและได้รับการพิสูจน์ว่าร่างกายไม่ต่อต้าน ทั้งยังมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ อีกเหตุผลหนึ่งคือโมเลกุลพอลิเมอร์จะเป็นฝอยๆ ยาวๆ เหมือนฝอยขัดหม้อหรือฟองน้ำซึ่งยาก็จะเข้าไปอยู่ได้ และจะพายาผ่านรูขุมขนเข้าไปในร่างกายโดยไม่เป็นอันตราย

อาจารย์สุพจน์ได้เล่าถึงเหตุผลที่พัฒนาการส่งยาชาในระดับนาโนว่าเพราะลูกของ ดร.สุวบุญร้องไห้เมื่อต้องฉีดยาชา จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ ดร.สุวบุญคิดที่จะผลิตยาชาแบบใช้ทา ซึ่งหากสำเร็จจะทำให้หลายๆ คนมีความสุขขึ้นมาก และที่คิดจะนำไปใช้กับโรคเอดส์เพราะปัญหาอย่างหนึ่งของการพัฒนายารักษาเอดส์คือยาที่สามารถฆ่าเชื้อเอชไอวีได้ดีนั้นหลายตัวไม่ละลายน้ำ จึงต้องมีตัวพายาไปยังเชื้อโรคโดยตรง

และยังการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ฉลาดหรือสมาร์ทแพ็กเกจจิง (Smart Packaging) ซึ่งจะผลิตกล่องอาหารที่สามารถบอกได้ว่าอาหารภายในบรรจุภัณฑ์นั้นเน่าเสียหรือยัง โดยการพัฒนานาโนเซนเซอร์ติดกล่องอาหารและทำให้มีคุณสมบัติเฉพาะซึ่งไวต่อก๊าซที่จะบ่งว่าอาหารนั้นบูดหรือไม่ เช่น ก๊าซแอมโมเนีย เป็นต้น หรือการผลิตเสื้อผ้าที่สามารถกันยุง หรือมีกลิ่นหอม ด้วยการพัฒนาแคปซูลขนาดเล็กกว่าเส้นใยที่สามารถบรรจุสารต่างๆ ลงไปได้และนำไปติดกับเสื้อผ้า ซึ่งเป็นหนึ่งในงานวิจัยด้านนาโนพอลิเมอร์

ทั้งนี้งานวิจัยที่กล่าวมาข้างต้น เป็นสิ่งที่ต่างประเทศก็ทำวิจัยอยู่เช่นกัน แต่ รศ.ดร.สุพจน์กล่าวว่าเราจำเป็นต้องค้นคว้าวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นของเราเอง เพราะหากนักวิจัยของชาติสามารถวิจัยผลิตภัณฑ์ใดออกมาได้ เขาย่อมไม่เปิดเผยว่าทำได้อย่างไร และถ้าเราจะซื้อก็ซื้อในราคาที่กำหนดเท่านั้น

“ถ้าหวังจะรอซื้อของเขามันก็ได้ เราไม่ต้องทำก็ได้ เวลาเขาทำมาเราก็ซื้อใช้ หรือถ้าเราจะผลิตบ้างก็จ้างคนเข้ามาเลย ตั้งโรงงาน มาผลิตขาย แต่อย่างนั้นเขาอยากจะกำหนดราคาเท่าไหร่ก็ได้ ถ้าเราทำเอง เรารู้ว่าพวกนี้เวลาทำจริงๆ ต้นทุนไม่ได้แพงหรอก ถ้าเราทำไม่ได้ เท่าไหร่เราก็ต้องยอม เราก็ต้องซื้ออย่างเดียว”

อย่างไรก็ดี รศ.ดร.สุพจน์กล่าวว่านักวิจัยที่จะหันมาทำทางด้านนาโนเทคโนโลยีนั้น ไม่จำเป็นต้องละทิ้งงานวิจัยที่ตนเองทำอยู่ เพราะความรู้ทุกด้านสามารถลงไปแตะระดับนาโนได้ทั้งหมด ซึ่งเป็นงานวิจัยแบบบูรณาการที่ทุกคนสามารถนำความเชี่ยวชาญที่มีอยู่มาสร้างนวัตกรรมทางด้านนี้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น