xs
xsm
sm
md
lg

สวทช.รุกอิสานกะเทาะแนวคิด "เทคโนโลยีที่เหมาะสม" ไม่จำเป็นต้อง "โลเทค"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผอ.สวทช. เยือนถิ่นคูณเสียงแคน แจงการพัฒนาอีสานด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมไม่ใช่แค่เรื่อง “โลเทค” บางเรื่องต้องใช้เทคโนโลยี “ไฮเทค” สร้างความก้าวหน้า ซึ่งคนในพื้นที่เข้าใจปัญหาได้ดีที่สุด จึงอยากให้แต่ละสังคมตัดสินใจด้วยเหตุผลของตัวเองไม่จำเป็นต้องเชื่อแต่นักวิทยาศาสตร์ ทิ้งท้ายไม่ควรสุดโต่งที่ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติจนไม่เกิดการพัฒนาหรือนำความรู้ไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนอย่างเดียว

เมื่อกล่าวถึงเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการพัฒนาท้องถิ่นอีสาน คนทั่วไปมักจะนึกถึงภูมิปัญญาชาวบ้านที่ถ่ายทอดกันมารุ่นต่อรุ่นและเป็นเทคโนโลยีขั้นต่ำ (Low Technology) แต่ รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) ชี้แจงว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป โดยกล่าวไว้ในการบรรยายพิเศษหัวข้อ “สวทช.กับการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (11 ก.พ.) ณ งานประชุมวิชาการประจำปี 2547 จ.ขอนแก่น

คนส่วนใหญ่มองว่าเทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriated Technology) เป็นเรื่อง “โลเทค” (Low Technology: เทคโนโลยีขั้นต่ำ) ซึ่งความจริงแล้วไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป อาจเป็นเทคโนโลยีประเภท “ไฮเทค” (High Technology: เทคโนโลยีขั้นสูง) ก็ได้ ดังนั้นเราต้องพิจารณาคำว่า “ความเหมาะสม” กันใหม่ เช่นบางพื้นที่ต้องการเพาะปลูกเพื่อการค้าก็ต้องใช้เทคโนโลยี “ไฮเทค” เพื่อเพิ่มผลผลิต” รศ.ดร.ศักรินทร์กล่าว

“ไม่ควรแยกว่า “โลเทค” หรือ “ไฮเทค” เป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพราะแต่ละปัญหามีความเหมาะสมในการแก้ไขไม่เหมือนกัน ทั้งนี้การพิจารณาต้องมุ่งเข้าหาฐานความรู้ (Knowledge base) เพื่อตัดสินใจว่าจะเลือกใช้อย่างไร และไม่ควรเชื่อแต่นักวิทยาศาสตร์หรือนักเทคโนโลยี เพราะสังคมควรจะตัดสินด้วยเหตุและผลของตัวเอง แต่ก็นับว่าเป็นเรื่องยากที่จะไม่พึ่งพานักวิชาการเหล่านั้น ในเบื้องต้นควรจะรับฟังไว้ก่อน อย่าง สวทช.ก็มีนักวิทยาศาสตร์ที่หน้าที่นี้อยู่แล้ว” ผอ.สวทช.กล่าว

รศ.ดร.ศักรินทร์ให้เหตุผลที่ไม่ควรเชื่อนักวิทยาศาสตร์หรือนักเทคโนโลยีโดยไม่คิดด้วยเหตุผลของท้องถิ่นว่า นักวิชาการเหล่านั้นอาจจะมีความรู้ความสามารถจริง แต่บางครั้งความรู้นั้นๆ ก็ไม่เหมาะสมกับสภาพของแต่ละพื้นที่หรืออาจจะไม่เข้าใจว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร การสร้างองค์ความรู้ของสังคมที่เป็นวิทยาศาสตร์เพื่อตัดสินใจด้วยตัวเองจึงเป็นสิ่งจำเป็น พร้อมกันนี้ ผอ.สวทช.ยังได้อธิบายให้เห็นถึงความแตกต่างของศาสตร์แต่ละประเภท

วิทยาศาสตร์เป็นการวิเคราะห์ วิจัย สืบหาสาเหตุปัญหาอย่างเป็นระบบ เป็นสากลไม่ขึ้นกับวัฒนธรรม ชัดเจนและเป็นไปเพื่อเข้าใจธรรมชาติ ในขณะที่เทคโนโลยีไม่เป็นสากลเพราะการนำไปใช้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นที่ เกี่ยวข้องกับชีวิตและความเป็นอยู่ของคน ส่วนภูมิปัญญาเป็นเรื่องรวมๆ ที่เกิดจากความพยายามที่จะอยู่กับสิ่งแวดล้อมของคนและเป็นความรู้ที่ใช้ประโยชน์ได้ อย่างการหมักอาหาร เรารู้ว่าทำอย่างไรจึงจะเก็บอาหารไว้ได้นาน แต่อาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น” รศ.ดร.ศักรินทร์ชี้แจง

อย่างไรก็ดี หน้าที่ของ สวทช.ในการนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น รศ.ดร.ศักรินทร์กล่าวว่าหนีไม่พ้นเรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานในพื้นที่ เพราะคนท้องถิ่นจะทราบปัญหาของตนเองได้ดีที่สุด สวทช.จึงทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ให้การสนับสนุนจากส่วนกลางซึ่งมีหน่วยงานในสังกัด 4 ศูนย์คอยให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการ

4 ศูนย์ดังกล่าวประกอบไปด้วย 1.ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ที่ดูแลเทคโนโลยีทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ 2.ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ดูแลการปรับปรุงสิ่งมีชีวิตในระดับดีเอ็นเอและเทคโนโลยีชีวภาพ 3.ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) รับผิดชอบในการพัฒนาวัสดุ และ 4.ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ที่ดูและเทคโนโลยีใหม่อย่างนาโนเทค

สุดท้าย รศ.ดร.ศักรินทร์กล่าวถึงการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ว่า ควรจะพิจารณาบนพื้นฐานความเหมาะสมที่จะก่อประโยชน์กับมนุษย์และสิ่งแวดล้อม โดยไม่สุดโต่งจนเกินไปคือไม่ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติหรือปฏิเสธวิทยาการจนไม่เกิดการพัฒนา อีกทั้งไม่นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนโดยไม่คำนึงถึงผู้อื่น

สำหรับการประชุมวิชาการดังกล่าวจัดขึ้นโดยเครือข่ายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (วท.ตอน.) และเครือข่ายบริหารการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้การสนับสนุนของ สวทช.และสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อเป็นการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนความรู้ในการนำวิทยาการมาพัฒนาท้องที่ภาคอีสาน
กำลังโหลดความคิดเห็น