รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ เยี่ยมชมต้นแบบการแยกขยะ EXIM Bank ต้นแบบการแยกขยะ เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี ตรวจความเรียบร้อยจุดผ่อนผันซอยอารีย์และจุดทบทวนถนนสาลีรัฐวิภาค สำรวจพื้นที่จัดทำสวน 15 นาที พร้อมทางเดินวิ่งภายในสวนหย่อมปากซอยร่วมมิตร จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจตรวจจุดเสี่ยงภัย ดูแลความปลอดภัยประชาชน
(7 ก.ย.65) เวลา 14.00 น.นายจักกพันธ์ุ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตพญาไท ประกอบด้วย ต้นแบบการแยกขยะธนาคาร EXIM Bank จุดผ่อนผันทำการค้าซอยพหลโยธิน 7 (อารีย์ฝั่งซ้าย) จุดทบทวนทำการค้าถนนสาลีรัฐวิภาค สวน 15 นาทีสวนหย่อมปากซอยร่วมมิตร และจุดเสี่ยงภัยสะพานลอยหน้ากระทรวงการคลัง
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) (Export-Import Bank of Thailand หรือ EXIM Bank) เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการคลัง ประกอบธุรกิจอันเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการส่งออก การนำเข้า และการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งสำนักงานเขตพญาไท ได้ร่วมกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมกับ ธนาคาร EXIM Bank อยู่เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง โดยธนาคาร EXIM Bank ได้ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ 1. จัดกิจกรรมรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติก ยกเลิกการใช้กล่องโฟม ถุงพลาสติกหูหิ้ว ณ บูธจำหน่ายอาหารของธนาคาร ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา 2. ผลิตเครื่องกำจัดเศษอาหารเป็นปุ๋ย และนำปุ๋ยที่ผลิตได้ไปใช้ในงานบริเวณสวนหย่อมของธนาคาร 3. กิจกรรมส่งมอบกระดาษเหลือย่อยให้บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) เพื่อส่งเสริมการจัดการขยะ นำกลับไปเป็นทรัพยากรหมุนเวียน ด้วยกระบวนการรีไซเคิลที่เหมาะสม 4. เข้าร่วมโครงการแปรรูปขวดพลาสติกเป็นผ้าบังสุกุลจีวรกับวัดจากแดง โดยติดตั้งถังรับขวดพลาสติกไว้บริเวณห้องแพนทรี เพื่อร่วมรณรงค์ส่งเสริมการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก 5. เข้าร่วมกิจกรรมขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) กับ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) โดยติดตั้งจุดรับขยะอิเล็กรอกนิกส์ (E-Waste) บริเวณทางเดินเข้าออก Service Way ชั้น G เพื่อร่วมรักษาสิ่งแวดล้อม โดยนำขยะไปรีไซเคิลและทำลายอย่างถูกวิธี 6. ดำเนินการคัดแยกขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล และขยะอันตราย รวมถึงเริ่มบันทึกข้อมูลปริมาณการทิ้งขยะทั้ง 3 ประเภท ภายในธนาคารทั้งสำนักงานใหญ่และ 9 สาขา เพื่อให้ธนาคารมีการบริหารจัดการขยะอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นทาง 7. เข้าร่วมโครงการ “วน” กับ บมจ.ทีพีไอ โดยตั้งถังรับถุงหรือฟิล์มพลาสติกสะอาด บริเวณทางเดินเข้า-ออก Service Way ชั้น G อาคารสำนักงานใหญ่ เพื่อนำไปรีไซเคิล ซึ่งถุงที่นำมารีไซเคิลกับโครงการจำนวน 1 กิโลกรัม จะเท่ากับเงิน 5 บาท โดยจะนำไปบริจาคให้แก่มูลนิธิด้านสิ่งแวดล้อม และ 8. จัดทำโครงการสวนผักรักษ์พอเพียงร่วมกับสำนักงานเขตพญาไท และ 3 ชุมชน ในพื้นที่เขตพญาไท ณ สวนพญาไทภิรมย์ เพื่อเป็นแหล่งอาหารที่ปลอดภัย ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน สร้างความสัมพันธ์อันดีในชุมชน และเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับนำไปปรับใช้ในครัวเรือน อย่างไรก็ตาม ก่อนดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ในปี 2563 ธนาคาร EXIM Bank มีจำนวนขยะรวม 69,926.10 กิโลกรัม ปัจจุบันมีจำนวนขยะรวม 24,153.90 กิโลกรัม (มกราคม 2565-กรกฎาคม 2565) จะเห็นได้ว่าหลังจากมีกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ธนาคาร EXIM Bank สามารถลดปริมาณขยะได้เป็นจำนวนมาก โดยเขตฯ จัดรถเก็บขนมูลฝอยเข้าเก็บขยะทุกวัน ปริมาณขยะที่จัดเก็บได้ประมาณวันละ 100-180 กก.
เดิมสำนักงานเขตพญาไท มีจุดผ่อนผัน 33 จุด ผู้ค้า 807 ราย ต่อมาได้ยกเลิก 16 จุด คงเหลือ 17 จุด และได้ทยอยยกเลิกทีละจุด รวม 14 จุด ปัจจุบันมีจุดผ่อนผันที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เห็นชอบและประกาศเป็นพื้นที่อนุญาตทำการค้า 3 จุด ได้แก่ 1. ซอยพหลโยธิน 7 (อารีย์ฝั่งซ้าย) มีผู้ค้า 84 ราย (กลางวัน /กลางคืน) ทางเท้ากว้าง 3.15 ม. จุดผ่อนผันดังกล่าว เป็นต้นแบบในการจัดระเบียบผู้ค้า โดยตั้งแต่ปี 2560 เขตฯ ได้ลงนามความตกลงร่วมกับธนาคารออมสินสำนักงานใหญ่ จัดทำแผงค้าให้เป็นรูปแบบและมีขนาดเดียวกัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม ซึ่งเขตราชเทวีได้มาศึกษาข้อมูลและนำไปปรับใช้บริเวณจุดผ่อนผันซอยรางน้ำ และในปี 2565 สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ได้เข้ามาตรวจสอบและออกป้ายมืออาชีพให้ร้านค้า เพื่อใช้รับรองคุณภาพและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ซื้ออาหารในบริเวณดังกล่าวว่ามีความสะอาด ปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ และมีรสอร่อย 2. ถนนประดิพัทธ์ ฝั่งคู่ (ขาออก) มีผู้ค้า 28 ราย (กลางคืน) ทางเท้ากว้าง 3.25 ม. และ 3. ถนนประดิพัทธ์ฝั่งคี่ (ขาเข้า) มีผู้ค้า 68 ราย (กลางคืน) ทางเท้ากว้าง 3.40 ม. นอกจากนี้ เขตฯ ขอพิจารณาจุดทบทวนใหม่ 3 จุด อยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนของหลักเกณฑ์ผู้ค้า ได้แก่ 1. ถนนสาลีรัฐวิภาค (จุดผ่อนผันเดิม) ทางเท้ากว้าง 2.50 ม. จุดดังกล่าวเคยได้รับคัดเลือกให้เป็นจุดผ่อนผันตัวอย่างของกรุงเทพมหานคร 2. ซอยพหลโยธิน 9 (จุดผ่อนผันเดิม) 3. หน้าสำนักงาน ปปส.ปากซอยบุญอยู่ (จุดผ่อนผันเดิม) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพหานคร ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่เทศกิจ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อย รวมทั้งประสานภาคเอกชนสนับสนุนร่มและแผงค้า บริเวณถนนประดิพัทธ์ ฝั่งคู่ (ขาออก) ถนนประดิพัทธ์ฝั่งคี่ (ขาเข้า) ให้เป็นรูปแบบและมีขนาดเดียวกัน เหมือนบริเวณซอยพหลโยธิน 7 (อารีย์ฝั่งซ้าย)
ทั้งนี้ ในพื้นที่เขตพญาไท มีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ 1. สวนพญาไทภิรมย์ เนื้อที่ 10 ไร่ ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตทางพิเศษศรีรัช ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย บริเวณใต้ทางด่วนซอยริมคลองสามเสน โดยมีการทำสัญญาขอใช้พื้นที่กับการทางพิเศษฯ เป็นระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 ถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 ได้รับงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 อยู่ระหว่างการปรับปรุง และ 2. สวนอารีย์สัมพันธ์ เนื้อที่ 9 ไร่ ตั้งอยู่ภายในพื้นที่ของกรมประชาสัมพันธ์ โดยทำบันทึกข้อตกลงกับกรมประชาสัมพันธ์ในการจัดทำเป็นสวนสาธารณะ ไม่มีกำหนดระยะเวลา ปัจจุบันสวนมีสภาพดี มีประชาชนมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก สำหรับสวนหย่อมปากซอยร่วมมิตร ทั้ง 2 ฝั่งถนน เนื้อที่รวม 3 งาน 47 ตารางวา ตั้งอยู่บริเวณ 2 ฝั่งถนนย่านพหลโยธิน เป็นพื้นที่ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย โดยทำสัญญาขอใช้พื้นที่กับการทางพิเศษฯ เป็นระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ วันที่ 16 มิถุนายน 2563 ถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2568 ปัจจุบันมีสภาพทรุดโทรม ซึ่งเขตฯ จะปรับปรุงเป็นสวน 15 นาที โดยการปลูกไม้พุ่ม สร้างรั้วกั้นบริเวณโดยรอบพื้นที่สวนหย่อม เพื่อเป็นแนวขอบเขตที่ชัดเจน และสร้างลู่วิ่งให้ประชาชนได้ใช้วิ่งหรือเดินออกกำลังกาย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ประสานสำนักสิ่งแวดล้อม สำรวจพื้นที่เพื่อปลูกต้นไม้เพิ่มเติม รวมถึงพิจารณาออกแบบทางเดินวิ่งภายในสวน เพื่อจัดสรรพื้นที่ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน
สำหรับสะพานลอยหน้ากระทรวงการคลัง จะมีบางส่วนอยู่ใต้ทางด่วน ซึ่งเป็นจุดที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอ อาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่ประชาชนผู้ใช้สะพานลอย โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน ส่วนจุดเสี่ยงในพื้นที่เขตพญาไท มีจำนวน 5 จุด ได้แก่ 1. ซอยราชครู 2. สะพานลอยแยกสะพานควาย 3. สะพานลอยหน้ากระทรวงการคลัง 4. สะพานลอยปากซอยบุญอยู่ 5. สะพานลอยกองดุริยางค์ทหารบก ทั้งนี้ เขตฯ จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจตรวจความปลอดภัยวันละ 2 เวลา (กลางวัน-กลางคืน) โดยสลับเจ้าหน้าที่เข้าตรวจ และลงลายมือชื่อในการบันทึกวัน เวลา และเหตุการณ์ขณะตรวจ โดยจะเน้นตรวจสอบด้านความปลอดภัยแก่ประชาชน เช่น ไฟฟ้าส่องสว่าง ความสะอาด กล้อง CCTV รวมถึงสังเกตเหตุการณ์โดยรอบ เพื่อเป็นการป้องกันอาชญากรรม โดยหากพบเหตุการณ์ต่างๆ จะรายงานให้ฝ่ายที่รับผิดชอบรับทราบทางไลน์ เพื่อความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหา
ในการลงพื้นที่ในวันนี้มี นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักเทศกิจ ผู้บริหารสำนักงานเขตพญาไท ผู้บริหารธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูลเพิ่มเติม