xs
xsm
sm
md
lg

ไม่เคว้งแล้ว!! ประกันสังคมขยายสิทธิรักษา "โควิด" ทางไกลผ่าน 3 แอปฯ ได้เหมือนบัตรทอง-ขรก.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดีเดย์!! วันนี้ประกันสังคมให้สิทธิผู้ประกันตนป่วยโควิด รักษาแบบทางไกล Telemedicine ผ่าน 3 แอปฯ ได้เหมือนสิทธิบัตรทองและข้าราชการ

เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การดูแลผู้ป่วยโควิดระบบการแพทย์ทางไกลหรือ Telemedicine ผ่านแอปพลิเคชัน 3 ตัว คือ Good Doctor , MorDee (หมอดี) และ Clicknic (คลิกนิก) เริ่มตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ป่วยโควิด ทั้งกลุ่มสีเขียวและกลุ่ม 608 ที่อาการไม่มาก เข้ารับบริการถึงวันที่ 17 ส.ค. แล้ว 5,388 ราย แต่ที่ผ่านมาครอบคลุมบริการเฉพาะผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง สิทธิพนักงานส่วนท้องถิ่น และข้าราชการเท่านั้น ซึ่งพบว่ามีผู้ป่วยที่เป็นผู้ประกันตนร่วมลงทะเบียนในระบบ เพื่อรับบริการนี้จำนวนมากด้วย สปสช.จึงประสานไปยังสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพื่อดำเนินการให้ผู้ประกันตนที่เป็นผู้ป่วยโควิดสามารถใช้สิทธิรับบริการนี้ได้

"ได้รับแจ้งว่า สปส.ว่า ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์การดูแลผู้ติดเชื้อโควิดฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่ครอบคลุมการให้บริการระบบการแพทย์ทางไกล จะทำให้ผู้ประกันตนที่ป่วยโควิดเข้ารับบริการนี้ที่ สปสช. ดำเนินการร่วมกับทั้ง 3 แอปพลิเคชันได้ เช่นเดียวกับสิทธิบัตรทองและข้าราชการ เริ่มตั้งแต่วันนี้ จะช่วยเพิ่มความสะดวกในการเข้ารับการรักษาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยอาการเล็กน้อย ซึ่งผู้ให้บริการทั้ง 3 แอปพลิเคชันแจ้งความพร้อมระบบในการรองรับบริการแล้ว” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

ทั้งนี้ แอปฯ Clicknic รับผู้ป่วยโควิดทั่วประเทศ กลุ่มสีเขียวและกลุ่ม 608 , แอปฯ MorDee (หมอดี) รับเฉพาะผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียวทั่วประเทศ ไม่รับกลุ่ม 608 และ แอปฯ Good Doctor Technology รับเฉพาะผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียว ไม่รับกลุ่ม 608 ในพื้นที่ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ เท่านั้น เมื่อลงทะเบียนแล้วรอเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับเพื่อยืนยันตัวตนเข้ารับบริการ คัดกรอง ประเมินอาการเบื้องต้น และปรึกษาแพทย์ออนไลน์ ให้คำแนะนำการดูแลตัวเอง จัดส่งยาตามความจำเป็นให้กับผู้ป่วย บางรายอาจได้รับยาฟาวิพิราเวียร์หรือยาโมลนูพิราเวียร์ขึ้นอยู่กับอาการและดุลยพินิจของแพทย์ เมื่อรับการดูแลครบ 48 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่จะพูดคุยกับผู้ป่วยอีกครั้งเพื่อสอบถามอาการ และแนะนำให้ผู้ป่วยดูแลตัวเองให้ครบ 10 วัน เมื่อดีขึ้นแล้วก็จะออกจากระบบการดูแลได้ ระหว่างนี้หากมีอาการมากขึ้นจะส่งข้อมูลต่อให้กับ สปสช. เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น