xs
xsm
sm
md
lg

“วราวุธ” ชนแขน “ชัชชาติ” ผนึกกำลังแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม 6 มิติ โครงการนำร่องเห็นผลในสิ้นปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมหารือนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมใน 6 มิติ ตั้งคณะทำงานร่วมเห็นผลสิ้นปีนี้ เผยเรื่องแรกหาต้นตอฝุ่นพิษ PM 2.5

วันนี้ (22 ก.ค.) เมื่อเวลา 16.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมร่วมกับ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เขตพญาไท โดยมี นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหาร กทม. และสำนักสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้บริหาร ทส. กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ร่วมประชุม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า วันนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ได้ให้เกียรติมาแลกเปลี่ยนและหารือกันว่าจะทำงานร่วมกันได้ในมิติใดบ้าง ต้องขอบคุณผู้ว่าฯ กทม. ที่มีความรวดเร็วในการที่จะตั้งคณะทำงานระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และกรุงเทพมหานคร เพื่อให้เกิด pilot project (โครงการนำร่อง) และเพื่อให้เห็นงานเป็นรูปธรรมภายในสิ้นปีนี้

ด้านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจอันดับ 1 อาทิ PM2.5 ขยะ น้ำเสีย สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ประชาชนต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงในกรุงเทพมหานคร วันนี้น่าดีใจมาก เพราะหลาย ๆ เรื่อง ทาง ทส. ได้ทำไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น นักสืบฝุ่น การหาต้นตอฝุ่น การปลูกต้นไม้ การทำแอปพลิเคชันปลูกต้นไม้ โดยหลายเรื่องนั้นสามารถร่วมมือกันและทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งทางกทม.ทำงานคนเดียวไม่มีทางสำเร็จ หากสามารถร่วมมือกับกระทรวงหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ก็จะดี

“สำหรับเรื่องที่ท่านรัฐมนตรีพูดถึง ประกอบด้วย เรื่อง PM2.5 เรื่องขยะมูลฝอย เรื่องน้ำเสีย เรื่อง Net Zero หรือ Carbon Credit เรื่องการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และเรื่องการเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน ซึ่งเป็น 6 เรื่องเริ่มต้นที่เราจะทำงานด้วยกัน โดยตั้งคณะทำงาน ไม่ต้องใหญ่มาก แต่ว่าแต่ละเรื่องให้มี prototype หรือมีต้นแบบให้มันเกิดผลได้ โดยท่านรัฐมนตรีได้สั่งการว่า ภายในสิ้นปีต้องเห็นผลเป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้น หลายเรื่องเราทำได้เลย น่าจะเดินไปด้วยกันได้ และเห็นผล เป็นประโยชน์กับประชาชนได้อย่างรวดเร็ว” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า แนวทางของ ทส. และ กทม. คล้ายคลึงกัน โดย กทม.มีนโยบายในการหาต้นตอของ PM2.5 ส่วนทาง ทส.ก็มีอาจารย์ที่ทำวิจัยเรื่องนี้อยู่ ซึ่งสามารถมาทำร่วมกันให้เป็นแผนระยะยาวได้ การติดตั้งเซ็นเซอร์วัดฝุ่น ทส.มีเซ็นเซอร์ 12 จุด ส่วนกทม.ก็มีแนวคิด cloud censor คือให้ประชาชนมาร่วมทำเซ็นเซอร์ ให้จำนวนมากขึ้น กทม.อยากทำโมเดลการทำนายฝุ่น ซึ่งทส.ก็มีโมเดลที่ทำได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น หลาย ๆ อย่างสามารถนำมาทำรวมกันได้

“ส่วนเรื่องฝุ่นที่ข้ามจังหวัด ก็เป็นเหตุผลที่กทม. ต้องทำงานร่วมกับ ทส. เพราะกระทรวงจะดูฝุ่นของทั้งประเทศ จะรู้ว่าฝุ่นที่เกิดจากการเผาชีวมวล ฝุ่นจากโรงงานอุตสาหกรรม แต่ละจังหวัดเป็นอย่างไร และอาจจะอาศัยกรมควบคุมมลพิษเป็นผู้บังคับใช้นอกพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและเห็นภาพว่าเรามีข้อมูลตรงนี้อยู่มากพอสมควรแล้ว ในส่วนของประชาชน ก็อาจจะต้องให้เจ้าของรถยนต์ดูแลเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งหากเรามีมาตรการชัดเจนก็จะรีบแจ้งให้พี่น้องประชาชนทราบ จะได้เตรียมตัว โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ใช้รถบรรทุก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ปล่อย PM2.5 เยอะ" ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

ด้าน รมว.ทส. กล่าวเสริมว่า ปัญหาเรื่องฝุ่นของกทม. เป็นปัญหาที่คล้ายกับทั้งประเทศไทยพบเจอ บางครั้งกทม.ไม่ได้ผลิตเอง แต่โดนในปริมณฑลพัดเข้ามา แต่ยังดีที่สามารถประสานกับกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการทำความเข้าใจกับประชาชนในปริมณฑลได้ นอกจากนี้บางครั้งกทม.ก็ได้รับฝุ่นที่มาจากนอกประเทศเช่นกัน ซึ่งทาง ทส.ต้องแจ้งไปยังเลขาธิการอาเซียนในการขอความร่วมมือไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

"เป็นสิ่งที่น่ายินดีว่า กว่า 200 นโยบายที่ท่านผู้ว่าฯ ได้ให้ไว้กับพี่น้องประชาชนชาวกทม. นั้น มีกว่า 60 เรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวง และวันนี้เราก็จะได้สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะสนับสนุนการทำงานของทางกทม. เพราะว่ากทม.เป็นเขตปกครองพิเศษ ซึ่งมีหลายอย่างที่กระทรวงอยากเข้าไปทำ วันนี้ได้รับการตอบรับอย่างดี และเราจะได้ทำงานร่วมกันทั้ง 6 มิติ ที่ท่านผู้ว่าฯ ได้กล่าวไปเมื่อสักครู่" รมว.ทส. กล่าว

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่อง Carbon Credit ทาง ทส.มีองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) อยู่แล้ว ซึ่งเป็นพื้นฐานของการทำ carbon footprint ส่วนกทม.จะต้องเริ่มจากการทำ carbon footprint ว่าเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกแต่ละปีเท่าไร ต้องมีการอัปเดตตัวเลข เพื่อเป็นพื้นฐานในการทำมาตรการต่อไป

“จริง ๆ แล้ว มีหลายคลองที่กระทรวงทำอยู่ ซึ่งทางรัฐมนตรีก็มีข้อมูลแล้วว่า น้ำเสียในคลองมาจากดินที่มันเน่า ที่เป็นตะกอนอยู่ข้างล่าง เราอาจจะเริ่มเล็ก ๆ ก่อน เช่นเราอาจจะ prototype คลองหัวลำโพง ซึ่งเป็นคลองสั้น ๆ อยู่ตรงคลองเตย เป็นต้นแบบในการลองทำร่วมกัน เข้าไปวัดน้ำ หาวิธีที่จะปรับปรุงน้ำ ลองดูว่าจะกำจัดต้นตอของเสียยังไง ซึ่งอยู่ในสเกลที่ทำได้ ก็อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการที่จะบำบัดน้ำ” ผู้ว่าฯ กทม. ตอบคำถามสื่อมวลชน

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมปลูกได้เยอะกว่ากรุงเทพมหานคร ตอนนี้ได้ประมาณ 100 กว่าล้านต้น ส่วนของกทม.มีคนเสนอตัวมา 1 ล้าน 6 แสนต้น ปลูกจริงแล้วกว่า 6 หมื่นต้น กทม.ต้องขอคำแนะนำจาก ทส. เพิ่มเติม เพราะมีข้อมูลเยอะ มีกล้าไม้ มีข้อมูลการดูแลรักษาต้นไม้ การปลูก อย่างต้นไม้บางต้น ทำ carbon footprint ได้ ทำ Carbon Credit ได้ แต่ต้นไม้เล็กทำไม่ได้ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องร่วมมือกัน

“ดีใจมาก วันนี้การที่ผู้ว่าฯ ให้เกียรติยกทีมมาพบปะ ซึ่งจะทำให้การต่อยอดนโยบายของพวกเราได้ลงไปถึงพี่น้องชาวกทม. โดยทุก ๆ กรมในกระทรวงพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของพี่น้องชาวกทม.” รมว.ทส. กล่าวทิ้งท้าย




















กำลังโหลดความคิดเห็น