xs
xsm
sm
md
lg

คาดสัปดาห์หน้าอาจพบป่วย "ฝีดาษลิง" รายแรกในไทย หลังจัดงาน Pride ย้ำไม่ใช่โรคทางเพศ แต่ติดจากสัมผัสใกล้ชิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมควบคุมโรคเผยต่างชาติ 3 ราย สงสัย "ฝีดาษลิง" แต่เป็น "เริม" หายป่วย ออกจาก รพ.แล้ว ในไทยยังไม่พบผู้ป่วยสงสัยหรือเข้าข่ายเพิ่มเติม แต่คาดสัปดาห์หน้าอาจพบผู้ป่วยฝีดาษลิงได้ จากการจัดงาน Pride ใน กทม.ที่จะมีต่างชาติมาร่วมงานมาก ย้ำไม่ใช่โรคติดต่อทางเพศแต่มาจากการสัมผัสใกล้ชิด มาตรการเว้นระยะห่างช่วยได้

เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังและคัดกรองโรคฝีดาษวานรหรือฝีดาษลิง (Monkeypox) ในประเทศไทย ขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยยืนยัน ผู้ป่วยสงสัยและผู้ป่วยเข้าข่ายเพิ่มเติม ส่วนชาวต่างชาติ 3 รายที่ตอนแรกสงสัยและผลการตรวจพบว่าเป็นโรคเริม ซึ่งรักษาตัวที่สถาบันบำราศนราดูรได้รักษาจนหายและกลับบ้านไปตั้งแต่วันที่ 29 พ.ค. 2565 ทั้งนี้ โรคฝีดาษลิงไม่ใช่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่เป็นโรคติดต่อจากการสัมผัสใกล้ชิด แต่ในการเฝ้าระวังนั้น กรมควบคุมโรคก็ได้ประสานไปยัง รพ. คลินิกเฉพาะทาง เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคผิวหนังว่า หากพบผู้ป่วยที่เข้านิยามให้ส่งข้อมูลมาส่วนกลาง ขณะนี้ส่วนใหญ่ยังไม่เข้านิยาม เช่น ไม่มีตุ่ม ไม่ออกผื่น อย่างไรก็ตาม โรคฝีดาษลิงไม่ใช่โรคติดต่ออันตราย ยังอยู่ในโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังเทียบได้กับโรคไข้เลือดออก

เมื่อถามว่าหากประเมินสถานการณ์โรคฝีดาษลิงทั่วโลก คาดว่าไทยจะพบผู้ป่วยช่วงใด นพ.จักรรัฐกล่าวว่า การพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงเริ่มต้นใน พ.ค.จากเทศกาลไพรด์ (Pride Festival) ประเทศสเปน ซึ่งสัปดาห์นี้ประเทศไทยจะมีการจัดงานไพรด์พาเหรดขึ้น เราจำเป็นต้องเฝ้าระวังเที่ยวบินตรงจากประเทศที่พบการติดเชื้อในประเทศแล้ว ตอนนี้มี 5 ประเทศ จากเดิม 3 ประเทศ คือ อังกฤษ โปรตุเกส สเปน แคนาดา และเยอรมนี นอกเหนือจากประเทศในแอฟริกาที่มีการระบาดอยู่แล้ว ทั้งนี้ ผู้เดินทางเข้าประเทศไทยเฉลี่ยวันละ 1 หมื่นกว่าคน

"คาดว่าสัปดาห์หน้าจะพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในไทย เนื่องจากสัปดาห์นี้จะมีการเดินขบวนพาเหรดงานไพรด์ในไทย ที่ กทม. ซึ่งจะมีผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเข้าร่วมงาน ก็อาจจะพบผู้ป่วยเข้ามาอย่างแน่นอน" นพ.จักรรัฐกล่าว

เมื่อถามถึงมาตรการที่ต้องเตรียมในการจัดงานไพรด์พาเหรด นพ.จักรรัฐกล่าวว่า ขณะนี้ผู้ที่จัดงานยังไม่ได้ประสานข้อมูลมา แต่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) วางแผนระบบเฝ้าระวังสถานพยาบาลใน กทม. พร้อมประสานเครือข่ายผู้ดูแลงานโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพื่อเฝ้าระวังผู้ป่วยที่เข้าไปรักษาในคลินิกเฉพาะทางด้วย แต่ย้ำว่าโรคฝีดาษลิงไม่ได้เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่ติดต่อจากการสัมผัสใกล้ชิดโดยตรง ดังนั้นมาตรการ Universal Prevention (UP) ด้วยการเว้นระยะห่างกันจะดีที่สุด

ถามว่าผู้เข้าร่วมงานไพรด์พาเหรดต้องเฝ้าระวังตนเองกี่วัน นพ.จักรรัฐกล่าวว่า หากมั่นใจว่าไม่ได้ใกล้ชิดผู้ที่อาการป่วย ออกผื่นก็ไม่น่ากังวล แต่หากใกล้ชิดกันโดยไม่ได้สังเกตก็เป็นความเสี่ยง ฉะนั้นหากพบผู้ที่มีอาการผื่นก็ขอให้พามาตรวจที่ รพ. เพื่อยืนยันว่าไม่ใช่โรคฝีดาษลิง ซึ่งระยะฟักตัวของโรคคือ 5-21 วัน ดังนั้น หากจะเฝ้าระวังตัวเองก็ต้องอย่างน้อย 3 สัปดาห์หลังจากมีความเสี่ยง อาการเบื้องต้น 10 วันแรกจะเป็นไข้ หลังจากนั้นจะเป็นผื่นขึ้น ก็ขอให้รับการตรวจที่ รพ.

“ช่วงงานไพรด์พาเหรด แม้คนที่ร่วมงานยังไม่มีผื่น แต่ถ้าจะให้ดียังคงต้องทำ UP เว้นระยะห่างจากคนให้มากที่สุด เพื่อลดความเสี่ยง ซึ่งมีความกังวลว่าหลังจากจบงานแล้วจะมีการเที่ยวกันต่อหลายวัน มีการสัมผัสใกล้ชิดมากๆ ก็อาจติดเชื้อได้” นพ.จักรรัฐกล่าว

เมื่อถามถึงแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงต้องป้องกันตัวด้วยชุด PPE หรือไม่ นพ.จักรรัฐกล่าวว่า ไม่มีความจำเป็น เพราะไม่ใข่โรคติดต่อจากระบบทางเดินหายใจ แต่ติดจากการสัมผัสสารคัดหลั่งแบบใกล้ชิด เช่น การกอด การจูบ ฉะนั้นคนทั่วไปที่เดินผ่านคนมีอาการผื่น ก็ไม่มีความน่ากังวล เพียงแต่เดินห่างๆ ก็พอ เพราะระยะแพร่เชื้อส่วนใหญ่จะเป็นช่วงที่ออกผื่นแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น