xs
xsm
sm
md
lg

สธ.แจงแผนกระจายวัคซีนโควิด-19 ยัน 7 มิ.ย. เริ่มฉีดทั่วไทย เตรียมทำสัญญาซื้อวัคซีนไฟเซอร์-จอห์นสันฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.ยันไม่เลื่อน ยัน 7 มิ.ย. เริ่มฉีดทั่วไทย ย้ำแต่ละจังหวัดต้องมี ซิโนแวค- แอสตร้าเซนเนก้า” บริการประชาชน แจงแผนกระจายวัคซีนโควิด-19 ปีนี้ 100 ล้านโดส ได้ทั่วประเทศ

วันนี้ (4 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงถึงการกระจายวัคซีนโควิด-19 ว่า วันนี้เป็นวันที่น่ายินดี ที่กรมควบคุมโรคได้รับมอบวัคซีนจากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย จำนวน 1.8 ล้านโดส ซึ่งเป็นวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทยและได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานระดับสากล โดยแผนการกระจายวัคซีนตามเป้าหมายในวันที่ 7 มิถุนายน ที่จะมีการฉีดพร้อมกันทั่วประเทศ ตามนโยบายที่นายกรัฐมนตรีให้ไว้ว่า คนในประเทศไทยทั้งคนไทยและคนต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทย สมัครใจจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนโดยไม่มีคิดมูลค่าภายในปี 2564 ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาที่เรามีการฉีดวัคซีนครั้งแรกของบริษัท ซิโนแวค จนบัดนี้เราฉีดไปแล้วเกินกว่า 4 ล้านโดส โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการระบาดมากเช่นกรุงเทพมหานคร มีการฉีดไปแล้วกว่า 1 ล้านโดส ซึ่งก็สามารถยับยั้งการระบาดได้ส่วนหนึ่ง
ทั้งนี้ ตามเป้าหมายที่นายกรัฐมนตรีได้ให้ไว้ว่าภายในปี 2564 จะต้องหาวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดส ในปี 2565 อีก 50 ล้านโดส และต้องเผื่อไว้สำหรับอาจต้องฉีดเพิ่มเพื่อกระตุ้นอีกหนึ่งเข็มหรือกรณีการกลายพันธุ์ของเชื้อจึงต้องมีแผนเตรียมไว้อย่างน้อยอีก 50 โดสในปี 2565 ไม่ต้องห่วงว่างบกระทรวงสาธารณะสุขจะเป็นอย่างไรแต่รัฐบาลจะหาเงินมาให้ได้อย่างแน่นอนไม่ว่าจะเป็นเงินกู้หรือเงินใดๆ

อธิบดีกรมควบคุมโรค ยืนยันว่า วัคซีน 2 ชนิด ที่ฉีดให้กับประชาชนอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นซิโนแวค หรือแอสตร้าเซนเนก้าได้รับการรับรองแล้วจากทั้งองค์การอนามัยโลก (WHO) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่า เป็นวัคซีนที่ใช้ได้ในภาวะฉุกเฉินเหมือนกันทั่วโลก และคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการ ยังระบุว่าวัคซีนทั้ง 2 ชนิด สามารถฉีดได้กับประชาชนอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จนถึงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปได้ ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งส่งผลให้สามารถบริหารจัดการวัคซีนได้ง่ายขึ้น
นพ.โอภาส กล่าวว่า ตามแผนจัดหาวัคซีน 100 ล้านโดส ในปีนี้เราได้รับของซิโนแวคแล้ว 1 ล้านโดส และลงนามในสัญญากับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทยอีก 60 ล้านโดส ซึ่งขณะนี้ส่งมาแล้ว 2 ล้านโดส รวมแล้วเรายังขาดอีกสาม 33 ล้านโดส ซึ่งนายกฯ ได้มอบนโยบายให้เร่งจัดหาเพิ่มเติม โดยคาดว่าในสัปดาห์หน้าจะมีการลงนามสัญญาการจองวัคซีนกับบริษัทไฟเซอร์ ขณะที่บริษัท จอนห์สัน แอนด์ จอนห์สัน ก็อยู่ในขั้นตอนการเตรียมร่างสัญญาลงทะเบียนจองวัคซีน ทั้งสองยี่ห้อคาดว่าจะได้ทั้งหมด 25 ล้านโดส และจะมีแผนการจัดซื้อวัคซีนจากซิโนแวคอีกอย่างน้อย 8 ล้านโดส ก็จะครบ 100 ล้านโดส ตามแผน
สำหรับการกระจายวัคซีน เป็นการกระจายในภาวะฉุกเฉินทั่วโลก ฉะนั้นจึงไม่มีการเก็บค้างเป็นการกระจายทันทีเมื่อผลิตเสร็จ แผนที่วางไว้จึงมีการเคลื่อนไปทุกสัปดาห์ แต่เราจะกระจายให้ได้ในทุกสัปดาห์ เพื่อการฉีดเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของแอสตราเซนเนกา เราได้มีการกระจายไปทั่วประเทศแล้วล็อตแรก 2 แสนโดส จังหวัดละประมาณ 3,600 โดส ที่ได้มาใหม่อีก 1.8 ล้านโดส ก็จะเริ่มกระจายต่อไป โดยขณะนี้ เรามีวัคซีนของซิโนแวคอีก 1.5 ล้านโดส โดยรวมทั้งหมดเรามีวัคซีนอยู่ในมือแล้ว 3,540,000 โดส จากกระจายไปจังหวัดต่างๆ และในสัปดาห์ที่สามเราจะมีวัคซีนอีก 8.4 แสนโดส ในสัปดาห์ถัดไปอีก 2,580,000 ตัวเลขที่เราตกลงกับบริษัทเบื้องต้นอาจจะมีการเพิ่มหรือลดขึ้นอยู่กับขั้นตอนการผลิต นั้นในภาพรวมเดือนมิถุนายนเราจะมีวัคซีนมากกว่า 6 ล้านโดส ซึ่งเป็นไปตามแผน ภายในปลายปีนี้คาดว่าเราจะฉีดให้ประชาชนประมาณ 10 ล้านโดส

ทั้งนี้ แผนการกระจายจะเป็นไปตามอัตราจำนวนประชากร และสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อในจังหวัดนั้น ที่มีการจัดวัคซีนเสริมเข้าไป รวมถึงจุดที่มีการระบาด เช่นเรือนจำ อีกส่วนคือจังหวัดกลุ่มเป้าหมายพิเศษ เช่น การท่องเที่ยว โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ต ถ้าเทียบกับจำนวนประชากร เป็นจังหวัดที่มีการฉีดวัคซีนมากที่สุดประเทศไทยขณะนี้เกิน 50% เพื่อเป็นการเตรียมตัวเปิดรับนักท่องเที่ยวตามแผนพิเศษ รวมถึงกลุ่มแรงงานที่มีการระบาดในหลายแห่ง ซึ่งจำเป็นต้องใส่วัคซีนเสริมเข้าไป เช่นจังหวัดชลบุรี ระยอง และจังหวัดชายแดน เช่น จังหวัดตาก
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า เพื่อเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานผู้ประกันตนก็จะมอบให้สำนักงานประกันสังคมจัดสรรวัคซีน จำนวน 1 ล้านโดส ให้กับผู้ประกันตนในเดือนมิถุนายน ซึ่งผู้จองลงทะเบียนในหมอพร้อมพร้อม ยืนยันว่าวันที่ 7 - 9 มิถุนายน ท่านจะได้ฉีดอย่างแน่นอนไม่มีการเลื่อน ในส่วนของกรุงเทพมหานครเรามีการจัดสรรวัคซีนให้ 1 ล้านโดส การจัดสรรในกลุ่มอื่นๆเพิ่มเติมเช่นสำนักงานประกันสังคม 1 ล้านโดส กลุ่มมหาวิทยาลัยต่างๆ 5 แสนโดส โดยรวมกรุงเทพมหานครจะมีวัคซีน 2.5 ล้านโดส ซึ่งมีการกระจายไปแล้วตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เรามีจุดฉีดในต่างจังหวัดทั้งหมด 993 จุด ที่พร้อมให้บริการในวันที่ 7 มิถุนายน กรุงเทพมหานครมี 25 จุด และสำนักงานประกันสังคมอีก 25 จุด ในส่วนของมหาวิทยาลัยอีก 11 แห่ง ที่มีโควตาการฉีดวัคซีนบุคลากรของตนเองและประชาชนบริเวณโดยรอบ 5 แสนโดส ที่อยู่ระหว่างการทบทวนจุดฉีด

นอกจากนี้ ยังมีจุดฉีดกลางอีก 10 แห่ง เช่น สถานีกลางบางซื่อ สถาบันราชานุกูลสำหรับเด็กพิเศษและผู้ด้อยโอกาสผู้พิการ ศูนย์กลางแพทย์บางรัก จุดฉีดสำหรับต่างชาติ เป็นต้น จะมีการประกาศออกไป โดยแต่ละจุดฉีดจะมีการปรับเปลี่ยนได้ต่อไป โดยสามารถติดตามได้จากพื้นที่จังหวัดนั้นๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น