xs
xsm
sm
md
lg

สสส. ร่วมถกบนเวทีนานาชาติ APACPH ครั้งที่ 51 ชี้มาตรการสร้างเสริมสุขภาพช่วยแก้ปัญหาโดยรวมได้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมวิชาการสาธารณสุขนานาชาติ ครั้งที่ 51 หรือ 51st APACPH conference SDGs in Reality ที่จัดงานโดย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพทั้งในและต่างประเทศ ในหัวข้อหลัก “SDGs and Public Health : At Present” เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการสาธารณสุข : ณ ปัจจุบัน ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพทั้งในและต่างประเทศกว่า 800 คน จากกว่า 20 ประเทศ ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ

โดย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้กล่าวว่า “ในการที่มาร่วมประชุมในครั้งนี้โดยภาพรวมมีการคุยกันเรื่องการเชื่อมโยงในทางด้านสาธารณสุข และเป้าหมายการพัฒนาอย่างอย่างยืน ซึ่งมี 17 เป้าหมายที่จะทำให้โลกในศตวรรษที่ 21 มีความสมดุลย์ในการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งทางด้านสุขภาพ ก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้น โดยในการแลกเปลี่ยนมีการชี้ชัดว่า การสร้างเสริมสุขภาพที่ทำให้คนสุขภาพดีในความหมายปัจจุบัน มีการพบว่า คนจะสุขภาพดีไม่ได้ ถ้าปัจจัยที่ว่ามานั้น ไม่เอื้อต่อภารกิจที่ว่า ซึ่งในการที่เราทำงานอยู่แล้ว เราคิดว่าเป้าหมายของ SDGs มาสนับสนุนให้การขับเคลื่อนในทางนี้ของเรา มีความชัดเจนขึ้นและง่ายขึ้น”

“อย่างโลกยุคเดิม สมัยเดิม เราพูดถึงเชื้อโรคเป็นหลัก พูดถึงหมอหรือยา ถึงจะดูแลในเรื่องสุขภาพ แต่ในปัจจุบัน ในกว่า 76% ที่มีคนเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อ หรือ โรคที่มีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม มันไม่สามารถที่จะหนีพ้นได้ ดังนั้นเราจะต้องจัดการสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบตัวของเขา ที่จะทำให้นำมาสู่วิถีชีวิตสุขภาพ ถึงจะมีสุขภาพดีได้ ตรงนี้เองครับ การที่มีองค์ประกอบของการพัฒนาสังคมด้านอื่นๆ มีความสำคัญมากเลย เช่น เรามีงานที่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของแรงงาน มีการพูดถึงความเท่าเทียมทางเพศ ฯลฯ ถือว่าเป็นปัจจัยประกอบทั้งนั้น ซึ่งการมีเป้าหมายของ SDGs ก็ช่วยสนับสนุนให้งานสร้างสนับสนุนจากที่ผมพูดถึง ไปได้ง่ายขึ้น”

“เรามีภาคีที่ร่วมกันกว่า 20000 องค์กร แล้วจำนวนคนในภาคีนั้น ก็มีประมาณหลักแสน และจำนวนคนที่รับผลประโยชน์จากตรงนี้ ก็เป็นจำนวนหลักล้านคน ซึ่งปีก่อนหน้านี้ ก็มีการสนับสนุนไปกว่า 5 พันกว่าโครงการ แต่ก็มีโครงการที่เล็ก หรือ ใหญ่ที่ต่างกัน แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่ว่า สมมุติว่าถ้าให้คนไทยเลิกกินเหล้า ทางการแพทย์ก็ช่วยได้นิดเดียว มันก็ยังไปเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรมต่างๆ รวมถึงการเก็บภาษี และอีกสารพัดเรื่องเลย ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับกระทรวงฯ ก็เกิน 10 เรื่องแล้ว แถมภาคส่วนทางสังคม ก็เต็มไปหมด จากที่ว่ามา เลยทำให้ต้องมีการร่วมมือกัน เพราะว่าถ้าให้ทำแค่ส่วนใดส่วนหนึ่ง มันเอาไม่อยู่หรอกครับ”

“สำหรับความคาดหวังในการประชุมนั้น ก็เป็นเวทีวิชาการที่สำคัญที่จะช่วยหนุนเสริมให้มีการหนุนภาคหลักทางด้านนวิชาการ แล้วก็ศึกษาบทเรียนจากบทต่างๆ ที่ผ่านมา ให้มีการพัฒนาต่อไปครับ”

ทางด้าน ดร.ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า “ในเรื่องสุขภาพของประเทศไทยนั้น ประเทศไทยยังมีช่องว่างโดยเฉพาะมิติด้านสุขภาพ ได้แก่ การส่งเสริมทางด้านสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาโรค และ การฟื้นฟูสุขภาพ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการบรรลุเป้าหมายของ SDGs ฉะนั้น โจทย์ในเรื่องของความท้าทายสำหรับความเท่าเทียมของระบบบริการสุขภาพ บวกกับ ปัญหาความยากจนในประชากรผู้สูงวัยที่เริ่มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ที่พ่วงด้วยการเกิดปัญหาการเกิดโรคติดต่อไม่เรื้อรังของผู้สูงวัยเองที่พบมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเป็นความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”

“ซึ่งหากมีความเป็นไปได้ ก็อยากที่จะให้มีการจัดทำแผนจัดการความเสี่ยง เพื่อรองรับปัญหาดังกล่าว พร้อมกันนี้ ยังเรียกร้องให้มีการนำเสนอความคิดสร้างสรรค์ในเรื่องนวัตกรรมในเชิงนโยบายใหม่ๆ และอยากให้มีการติดตามการประเมินผลจากการนำเสนอที่ว่ามา เพื่อเกิดการตอบรับผลสนองให้ถูกกลุ่มเป้าหมาย และขอให้มีการร่วมมือกันระหว่างฝ่ายภาครัฐและฝ่ายเอกชน เพื่อเกิดการสัมฤทธิ์ผลทางด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนดั่งที่ตั้งใจไว้”

ดร. แดเนียล เคอร์เทส ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ถ้าหากมีการเปรียบเทียบในเรื่องของระบบสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศนั้น ประเทศไทยถือได้ว่ามีศักยภาพที่ดีกว่าในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางประเทศอื่นๆ แต่ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็ยังเผชิญกับการพัฒนาในเรื่องต่างๆ ทั้งในเรื่องของการประกันสุขภาพที่ถือได้ว่าเป็นประเทศต้นแบบให้กับชาติอื่นๆ, การมีระบบในเรื่องของการจัดข้อมูลที่ดี และการดึงภาคส่วนต่างๆ ให้เข้ามาร่วมให้มีส่วนร่วมด้วย ฉะนั้นหากมีการพัฒนาในสามส่วนนี้ จะทำให้อาจจะมีการบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาที่ว่านี้ได้”




















กำลังโหลดความคิดเห็น