xs
xsm
sm
md
lg

"อนุทิน" หนุนดูแล "คนไทยไร้สถานะ" เล็งทำทะเบียนให้ชัด จ่อของบประมาณดูแล

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


"อนุทิน" หนุนดูแลคนไทยไร้สถานะ เข้าถึงบริการสุขภาพ จ่อของบประมาณตามข้อเสนอ ทั้งวัคซีน ยา ป้องกันโรคติดต่อร้ายแรง เร่งทำทะเบียนให้ชัดเจน ขยายกองทุนคืนสิทธิให้ครอบคลุม ตั้งกองทุนรักษาพยาบาลคนไทยไร้สถานะ ชดเชยให้หน่วยบริการ ช่วยเข้าถึงการรักษาระหว่างรอพิสูจน์สถานะ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า การประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา ตนได้รับทราบผลการดำเนินงานพัฒนาการเข้าถึงบริการระบบหลักประกันสุขภาพ ของกลุ่มคนที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน หรือ “คนไทยไร้สถานะ” และเห็นชอบข้อเสนอในเชิงงบประมาณแล้ว ซึ่งเป็นไปหลักการเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Living no one behind) และเรื่องสุขภาพการรักษาพยาบาลคงปฏิเสธกันไม่ได้ จึงขอรับข้อเสนอไปผลักดันต่อ ส่วนของงบประมาณจะนำมาจากไหนนั้น แม้ว่าทางสำนักงบประมาณจะปิดงบประมาณปี 2563 ไปแล้ว แต่ยังมีงบกลางอยู่ที่สามารถแปรญัตติได้ เป็นหน้าที่ของตนในการเดินหน้าเรื่องนี้ 

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) ในฐานะประธานคณะทำงานบูรณาการการเข้าถึงบริการระบบหลักประกันสุขภาพของกลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน กล่าวว่า คนที่เข้าไม่ถึงบริการแยกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มคนที่มีหลักฐานว่าเป็นคนไทย เช่น มีบัตรประชาชน สูติบัตร แต่เข้าไม่ถึง  2.กลุ่มคนที่มีปัญหาสถานะเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยและสันนิษฐานว่าเป็นคนไทย อาจมีหลักฐานไม่เพียงพอและอยู่ระหว่างรอพิสูจน์สถานะ และ 3.กลุ่มคนที่ไม่ใช่คนไทย คณะทำงานได้จัดทำแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยกลุ่มแรกแก้ปัญหาได้ง่ายที่สุด โดยประสานกับสำนักบริหารการทะเบียน มท. จัดตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหา ทั้งที่อำเภอและเทศบาล พร้อมประสาน สปสช.ในการย้ายสิทธิให้สามารถเข้ารับบริการยังหน่วยบริการในพื้นที่ได้

นายบุญธรรม กล่าวว่า กลุ่มที่ 2 จะทำสำรวจค้นหาคนที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน จัดทำระบบลงทะเบียนบุคคลที่หน่วยบริการ เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สถานะ จัดทำข้อเสนอแนวทางการพัฒนาการเข้าถึงบริการเพื่อให้มีงบประมาณรองรับ และประสานกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนงบประมาณการตรวจดีเอ็นเอ และกลุ่มที่ 3 ให้ประสาน สธ.เพื่อพัฒนาระบบสุขภาพแรงงานต่างด้าวให้ครอบคลุม แต่ระหว่างนี้เพื่อป้องกันโรคติดต่อรุนแรง ให้ สธ.จัดทำคำของบประมาณเพิ่มเติมสำหรับวัคซีน ยาต้านไวรัส และยาต้านวัณโรค ให้กับประชากรทั้ง 3 กลุ่มก่อน

นายบุญธรรม กล่าวว่า ส่วนข้อเสนอแนวทางการพัฒนาการเข้าถึงบริการระบบหลักประกันสุขภาพของกลุ่มคนที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนที่อยู่ระหว่างรอพิสูจน์สิทธิ์ ให้มีงบประมาณวงเงิน 100-120 ล้านบาทเพื่อรองรับ โดยมี 2 ทางเลือก คือ 1.เพิ่มกลุ่มเป้าหมายคนไทยไร้สถานะในกองทุนคืนสิทธิ สธ.ทำคำของบประมาณเพิ่มเติม และ 2.ตั้งงบประมาณเพื่อชดเชยให้กับหน่วยบริการที่ดูแลคนที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน หรือที่เรียกว่ากองทุนรักษาพยาบาลคนไทยไร้สถานะ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม เสนอให้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่างหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง พร้อมให้ สปสช.ทำหนังสือประสานไปยัง สธ.เพื่อให้พิจารณากลุ่มเป้าหมายและตั้งงบประมาณในกองทุนคืนสิทธิ เพื่อดูแลสุขภาพกลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน และสนับสนุนให้หน่วยบริการและกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) สำรวจและลงทะเบียนกลุ่มคนไทยไร้สถานะ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการดำเนินงานพิสูจน์สถานะ พร้อมกันนี้ให้ สปสช. ทำหนังสือถึง มท. ในการขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตั้งงบประมาณสำหรับการตรวจดีเอ็นเอให้กับกลุ่มคนไทยไร้สถานะในพื้นที่ และสนับสนุนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาคนที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนผ่านศูนย์ประสานงานเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหา

นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ กรรมการ สปสช. กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญในประเด็น Living no one behind เพราะคนไร้สถานะเป็นกลุ่มคนที่ถูกลืมมากที่สุด เนื่องจากไม่ถูกระบุสัญชาติ ว่าเป็นประชากรของประเทศใด แต่คนเหล่านี้เป็นมนุษย์ ตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ไทยให้การยอมรับอยู่ ดังนั้น เราจึงต้องทำให้คนเหล่านี้ได้สิทธิเข้าถึงบริการสุขภาพ เช่นเดียวกับที่ได้ให้สิทธิการศึกษากับกลุ่มเด็กที่ไร้สถานะขณะนี้จำนวน 50,000-60,000 คน และเรื่องนี้ได้เคยนำเสนอเข้า ครม.มาแล้ว แต่ถูกดึงออกไป

พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร และกรรมการ สปสช. กล่าวว่า การดำเนินการเรื่องนี้ มองว่าข้อมูลคนไทยไร้สถานะที่ได้ยังไม่ครอบคลุมทุกจังหวัด มีเพียง 55 จังหวัดเท่านั้น จึงต้องดำเนินการให้ครบถ้วน เพื่อที่จะได้นำเสนอพิจารณาในคราวเดียวกัน รวมถึงให้ครอบคลุมในทุกสถานพยาบาล ทั้งโรงเรียนแพทย์ รพ.สังกัดหน่วยงานต่างๆ ไม่แต่เฉพาะ รพ.สังกัด สธ. เพราะเรื่องนี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน


กำลังโหลดความคิดเห็น