xs
xsm
sm
md
lg

ทางเลือกเพื่อสุขภาพ หรือการตลาดอาบยาพิษ! “บุหรี่ไฟฟ้า และเบียร์ไร้แอลกอฮอล์”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

แฉ! กลยุทธ์ธุรกิจ
“บุหรี่ไฟฟ้า และเบียร์ไร้แอลกอฮอล์”
แท้จริงแล้วคือทางเลือกเพื่อสุขภาพ
หรือเป็นเพียงการตลาดอาบยาพิษ!

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ และเครือข่ายปกป้องเด็กและเยาวชน ลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม ได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ “จากบุหรี่ไฟฟ้า ถึงเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ ทางเลือกเพื่อสุขภาพหรือการตลาดอาบยาพิษ”

โดย ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) จากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคติน ที่ก่อให้เกิดการเสพติดเหมือนบุหรี่ และจากผลการวิจัยของต่างประเทศตั้งแต่ปี 2493 ก็พบว่า นิโคตินมีคุณสมบัติก่อให้เกิดการเสพติดสูงกว่าเฮโรอีน แอลกอฮอล์ และกัญชา ซึ่งอุตสาหกรรมยาสูบทราบดี แต่ปิดบังความจริงนี้ไว้

“สารนิโคติน เป็นสารที่ก่อให้เกิดการเสพติด โดยสารนี้ก็ตรวจพบอยู่ในบุหรี่ไฟฟ้าด้วยเช่นกัน และนั่นคือสิ่งที่ทำให้หลายฝ่ายกังวล เพราะอาจก่อให้เกิดการเสพติดต่อเยาวชนได้ นอกจากนั้นยังมีงานวิจัยออกมารองรับว่า เมื่อมีการเสพบุหรี่ไฟฟ้าที่มีสารนิโคตินแล้ว อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเสพบุหรี่จริงๆ

“และอีกหนึ่งผลกระทบต่อมา คืออาจเปลี่ยนผ่านไปสู่ยาเสพติดประเภทอื่นๆ ด้วย นอกจากนั้นสารนิโคติน ยังมีลักษณะที่ส่งผลต่อร่างกายในเรื่องของอัตราการเต้นของหัวใจ และยังสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และเส้นเลือดสมองตีบถึง 71% และในผลวิจัยของเกาหลีใต้ ก็มีงานวิจัยศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการใช้บุหรี่ไฟฟ้ากับภาวะซึมเศร้าและพฤติกรรมการฆ่าตัวตายในวัยรุ่น พบว่า กลุ่มวัยรุ่นที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มที่จะพยายามฆ่าตัวตาย มากกว่าวัยรุ่นที่สูบบุหรี่ธรรมดากว่า 6 เท่า”

ในปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้าบางยี่ห้อ มีสารนิโคตินสูงเทียบเท่าบุหรี่แบบปกติถึง 20 มวน และการพัฒนาผลิตภัณฑ์เริ่มจากใช้แล้วทิ้ง ตลอดการพัฒนาให้มีการชาร์จได้ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถให้นิโคตินเร็วขึ้น 2.7 เท่าเมื่อเทียบกับบุหรี่ไฟฟ้ายี่ห้ออื่นๆ เพื่อให้เกิดการเสพติดได้ง่ายขึ้น จึงไม่แปลกใจที่กลุ่มธุรกิจนี้หรือกลุ่มผู้สนับสนุน พยายามผลักดันให้ประเทศไทยสามารถเสพบุหรี่ไฟฟ้าได้ด้วยข้ออ้างสารพัด

“อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีมาตรการที่ดีที่สุดคือ ห้ามนำเข้า ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งล่าสุดขอขอบคุณนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่แสดงจุดยืนที่ชัดเจน ไม่ให้มีการนำเข้า และจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า” ดร.วศิน กล่าว

ด้าน ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า ศวส. สำรวจกลุ่มตัวอย่างที่เคยดื่มเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ ระหว่างเดือนมิถุนายน - สิงหาคม จำนวน 4,000 คนจากทั่วประเทศ พบว่า 69% ที่เคยดื่มเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ยังคงดื่มเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ตามปกติเท่าเดิม

ส่วนคนที่ดื่มเบียร์ไร้แอลกอฮอล์มาดื่มแทนเบียร์ปกติ มีเพียง 4% กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ หรือประมาณ 3 ใน 4 เมื่อได้เห็นแพ็คเกจเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ ทำให้นึกถึงเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ยี่ห้อของบริษัทเดียวกัน และอีกทั้ง 40% ระบุว่า เมื่อเห็นโฆษณาเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ ยิ่งทำให้อยากซื้อเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ยี่ห้อเดียวกัน และอีก 36% บอกว่าอยากดื่มเบียร์ยี่ห้อนั้น

อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างกว่า 63% เห็นด้วยกับการห้ามโฆษณาเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ และอีก 69% เห็นด้วยกับการจำกัดอายุผู้ซื้อ รวมไปถึงสถานที่และเวลาซื้อ ส่วนอีก 63% เห็นด้วยที่จะให้เยาวชนต่ำกว่า 20 ปี ดื่มเบียร์ไร้แอลกอฮอล์

ดร.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวว่า สิ่งที่จะระบุในกฎหมายของประเทศไทย เกี่ยวกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และที่ไม่มีแอลกอฮอล์ หรือเรียกอีกชื่อว่า เครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์ โดยกฎหมายระบุว่า เครื่องดื่มใดๆ ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ไม่เกิน 0.5 ดีกรีไม่ถือว่าเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปัญหาคือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีกฎหมายเข้ามากำหนด และถูกจัดประเภทอย่างชัดเจน

“แต่ในทางกลับกัน เป็นเครื่องดื่มที่คล้ายกัน แต่ไม่มีแอลกอฮอล์ กฎหมายไม่สามารถนำมาใช้กับส่วนนี้ได้ โดยผู้ประกอบการซึ่งมีความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม แต่การกระทำเช่นนี้ถือเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่หาช่องโหว่ทางกฎหมาย การแฝงโฆษณา การใช้สัญลักษณ์ แพ็คเกจที่เหมือนหรือคล้ายกับเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ เพื่อหวังขยายฐานลูกค้า ทำกำไร ผลกระทบระยะยาวคือ การเพิ่มยอดขายให้เบียร์เพราะกฎหมายทำอะไรไม่ได้ ชื่อและตราสัญลักษณ์คล้ายกัน จนแทบจะแยกไม่ออก ขณะที่คนใช้เบียร์ไร้แอลกอฮอล์เพื่อดื่มทดแทนมีน้อยแค่ 4% เท่านั้น แต่ผลกระทบมีมากกว่าอย่างชัดเจน

“ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องควบคุมเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ ต้องฝากภาครัฐให้รู้เท่าทัน กำกับดูแลไม่ให้จดทะเบียนการค้า หรือใช้ตราสัญลักษณ์ที่ใกล้เคียงกัน ต้องแยกประเภทให้มีความแตกต่าง คำนึงถึงผลกระทบ เพราะหากมีการโฆษณามากขึ้น เท่ากับกระตุ้นการดื่ม ซึ่งปัจจัยที่ทำให้คนดื่มมี 3 อย่าง คือ ราคา การโฆษณา และการเข้าถึง เมื่อมีการดื่มแอลกอฮอล์ยิ่งมาก ผลกระทบและอันตรายจะยิ่งทวีคูณ”

ด้าน ดร.บุญอยู่ ขอพรประเสริฐ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้าตามกฎหมายห้ามมีโฆษณาอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ภาคธุรกิจทำคือ ใช้ปรากฏในสื่อออนไลน์ เน้นให้ข้อมูลเชิงวิชาการผ่านบทความเชิงให้ความรู้ โดยแฝงว่าจะช่วยลดการสูบบุหรี่ได้ และบุหรี่ไฟฟ้ามีโทษน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา ซึ่งธุรกิจใช้เทคนิคการเขียนแบบเนียนๆ แล้วเผยแพร่ผ่านสื่อสาธารณะ ผ่านโซเชียลมีเดีย จนทำให้เกิดกระแส แต่จริงๆ แล้วเป็นกลยุทธ์แฝงโฆษณา ทำให้คนส่วนหนึ่งแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอาจเชื่อได้ว่าเป็นเรื่องจริง อยากฝากเจ้าหน้าที่ให้ควบคุมเข้มงวด ห้ามนำเข้า ใช้ข้อบังคับตามกฎหมายห้ามโฆษณาเด็ดขาด

สำหรับเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ในปัจจุบัน ดร.บุญอยู่ กล่าวว่า “จริงๆ ฟันธงได้เลยว่า นี่คือกลยุทธ์ทางการตลาด ปัจจุบันธุรกิจแอลกอฮอล์โดยเฉพาะตลาดเบียร์ แข่งกันเรื่องแบรนด์ ไม่ได้กลัวกฎหมายอย่างเห็นได้ชัด กลับกันสิ่งที่ผู้ประกอบการหลายๆ รายกลัวมากกว่ากฎหมายคือ การไม่สามารถนำแบรนด์ไปสู่ตลาดได้ ดังนั้นการสร้างแบรนด์ให้แข็งแรงจึงเป็นสิ่งสำคัญในยุคนี้ ในเมื่อพ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กำหนดว่า ไม่สามารถโฆษณาได้ ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องหาวิธีเพื่อนำแบรนด์ของตนเองไปปรากฏในพื้นที่การตลาดให้มากที่สุด”

ดร.บุญอยู่ กล่าวต่อไปว่า ปรากฏการณ์เบียร์ไร้แอลกอฮอล์ที่เป็นกระแสแรงในขณะนี้ เพราะมีการโหมการตลาด จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ทำโฆษณาทางสื่อ แม้ยอดขายเบียร์ไร้แอลกอฮอล์น้อย แต่การโฆษณาได้ผล ชัดเจนว่าเป็นการจงใจโฆษณาเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ เพราะใช้แบรนด์ดีเอ็นเอเดียวกันกับเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ พยายามเอาผลิตภัณฑ์ที่ไม่อยู่ในเกณฑ์ของกฎหมายมาสื่อสาร สร้างการรับรู้ ทั้งที่จริงๆ แล้วคือยี่ห้อเดียวกัน โลโก้เหมือนกันมาก เข้าข่ายเป็นการโฆษณาเลี่ยงกฎหมาย ซึ่งคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องนำประเด็นนี้เข้าไปพิจารณา หรือปรับแก้กฎหมายพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เพื่อควบคุมเรื่องนี้อย่างจริงจัง

“น่าเป็นห่วงที่เบียร์ไร้แอลกอฮอล์ทำให้เด็กดื่มได้ เป็นการปลูกฝังให้เด็กชินกับเบียร์ ถ้าพ่อแม่ไม่รู้เท่าทันจะบ่มเพาะนิสัยเพิ่มดีกรีเมื่อเด็กโตขึ้น เหมือนสอนเด็กจากที่ดื่มเบียร์ไม่เป็น ให้ดื่มเบียร์ได้ จึงอยากเรียกร้องให้ธุรกิจเบียร์ว่าให้ทำการตลาดอย่างมีธรรมาภิบาล ยึดหลักจริยธรรมตรงไปตรงมา และน่าเป็นห่วงว่าหากต่อไปเด็กนักเรียนนักศึกษาอาจจะนิยมกินดื่มกันในสถานศึกษา ซึ่งไม่มีกฎหมายห้าม ย่อมเกิดปัญหาและความยุ่งยากตามมาแน่นอน” ดร.บุญอยู่ กล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น