xs
xsm
sm
md
lg

“อัศวิน” ติงขับบนทางเท้า เป็นพวกไม่เคารพกติกา อย่าเอาเปรียบสังคม รับไม่อยากปรับ แต่ต้องทำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้ว่าฯ กทม. เผยเพิ่มค่าปรับผู้ที่กระทำผิดจากปรับ 2,000 บาท เพิ่มเป็น 3,000 บาท แล้ว จำเป็นต้องมีมาตรการบังคับผู้ฝ่าฝืนอีก ระบุกระทำผิดปรับได้มากสุด 5,000 บาท พบแยกลำสาลียังมีจักรยานยนต์ขี่ขึ้นมาบนทางเท้า ย้ำ เจ้าหน้าที่จะเพิ่มความเข้มงวดให้มาก



วันนี้ (23 ส.ค.) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีที่ยังคงมีผู้ขี่รถจักรยานยนต์ฝ่าฝืนขี่บนทางเดินเท้าต่อเนื่อง ว่า แม้ กทม.จะมีมาตรการเพิ่มค่าปรับผู้ที่กระทำผิดซ้ำๆ จากปรับ 2,000 บาท เพิ่มเป็น 3,000 บาท ส่วนรายอื่นๆ ที่ทำผิด ก็จะยังคงปรับ 2,000 บาท ยืนยันว่ามาตรการจับปรับ เป็นสิ่งที่ไม่อยากทำมากที่สุด แต่เมื่อคนในสังคมไม่เคารพกฎกติกา ก็จำเป็นต้องมีมาตรการบังคับ ซึ่งตามกฎหมาย กทม.สามารถจับปรับผู้ฝ่าฝืน กระทำผิดได้มากสุดที่ 5,000 บาท

"ผมว่ามันเป็นมนุษย์ ไม่รับกติกาของสังคม ห้ามก็จะขี่ เป็นอะไร เลยนิสัยไปแล้ว ตีความเอาเองว่าจะทำอย่างไร ทำไมจะต้องใช้สายสะพายดึง ความตระหนักรู้ของมนุษย์ ต้องรู้ว่าทางเท้า ถ้าบอกทางมอเตอร์ไซค์ก็วิ่งไปเต็มที่ ฝากให้ช่วยกัน ทางเท้าอย่าไปเอาเปรียบสังคม การปรับไม่อยากให้ทำ เริ่มจากตักเตือน 2 ครั้ง ปรับ 500 บาท เพิ่มเป็นพันบาทและ 2 พันบาท เรื่องนี้ไม่รู้จะพูดอย่างไร จิตมนุษย์ จิตสำนึก คิดกันเอาเอง อย่าให้มันเลยนิสัยเยอะกว่านั้นอีก" พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว

รายงานข่าวเพิ่มเติมว่าบริเวณเขตบางกะปิ จุดบริเวณแยกลำสาลี จุดที่ นางสาวเมกุมิ โมริโมโตะ นิสิตปี 1 คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ที่โซเชียลเน็ตเวิร์กแห่ชื่นชมนักศึกษาสาวหลังขึ้นไปขวางบนฟุตปาธไล่รถจักรยานยนต์ขี่ขึ้นทางเท้า โดยยังพบว่ามีจักรยานยนต์ขี่ขึ้นมาบนทางเท้า ในช่วงเวลารถติดไฟแดงไม่กี่นาที มีผู้ฝ่าฝืนขึ้นมาวิ่งไม่ต่ำกว่า 10 คัน ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเพิ่มความเข้มงวดให้มากขึ้นกว่านี้ เพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำ

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักเทศกิจในช่วงประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา สามารถจับผู้กระทำผิดไปได้แล้วกว่า 700 คน คิดเป็นเงินค่าปรับกว่า 1 ล้านบาท

นายจิรวัฒน์​ แพงมา ผู้อำนวย​การสำนักเทศกิจ​ กทม. กล่าวว่า ที่ผ่านมา กทม. ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เทศกิจทั้ง 50​ สำนักงานเขต เข้มงวดกวดขันผู้ฝ่าฝืนขับขี่หรือจอดรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์บนทางเท้าอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยตั้งจุดจับปรับผู้ที่ฝ่าฝืน จำนวน 233 จุด ​ทั้งเช้าและเย็น ​ให้ครอบคลุมในทุกถนนของเขต รวมทั้งมีนโยบายที่จะติดตั้งกล้อง ​CCTV​ ในถนนที่มีการกระทำความผิดจอดหรือขับขี่รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์บนทางเท้า​เป็นจำนวนมาก โดยนำร่อง​ 2​ ถนน​ คือ ถนนสุขุมวิทและถนนพหลโยธิน และบางจุดที่มีกล้อง CCTV อยู่แล้ว จะปรับมุมกล้องให้จับภาพบนทางเท้าเป็นบางส่วน​ โดยพิจารณาให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และปัญหา​

นอกจากนี้ กทม. ได้ประสานการทำงานร่วมกัน ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ กองบังคับการตำรวจจราจร เจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจนครบาลท้องที่ กรมการขนส่งทางบก และเจ้าหน้าที่เทศกิจ สำนักงานเขตในการบูรณาการกวดขันจับกุมผู้กระทำความผิด ที่ฝ่าฝืนขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า ซึ่งได้ดำเนินการร่วมกันไปแล้ว เช่น บริเวณถนนพระราม 4 เขตคลองเตย, บริเวณถนนลาดพร้าว เขตวังทองหลาง เป็นต้น

ขณะนี้สำนักเทศกิจอยู่ระหว่างบูรณาการร่วมกับกรมการขนส่งทางบกและกองบัญชาการตำรวจนครบาลในการวางมาตรการพักใช้ใบอนุญาตและเพิกถอนใบอนุญาตกับผู้ที่กระทำผิดซ้ำ อย่างไรก็ตาม การกระทำผิดของผู้ขับขี่จักรยานยนต์บนทางเท้า ปัญหาหลักอยู่ที่จิตสำนึกและการเคารพกฎหมาย ซึ่งสำนักเทศกิจได้รณรงค์ประชาสัมพันธ์ สร้างจิตสำนึกที่ดีต่อสังคม รวมทั้งประชาสัมพันธ์ช่องทางการแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดทางโทรศัพท์ แอปพลิเคชันไลน์ เฟซบุ๊ค และในอนาคตจะเพิ่มช่องทางการแจ้งให้มากขึ้นต่อไป

นายพานุรักษ์ กลั่นนุรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. กล่าวว่า กทม. ให้ความสำคัญในการสร้างจิตสำนึกเรื่องระเบียบวินัยจราจรและความรับผิดชอบต่อสังคมมาโดยตลอด โดยจัดฝึกอบรมวินัยจราจรให้กับนักเรียน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 1,800 คน/ปี และมีแผนฝึกอบรมวินัยจราจรให้กับนักเรียนเพิ่มขึ้นให้ได้ปีละ 20,000 คน โดยครอบคลุมถึงโรงเรียนเอกชนใน กทม. ด้วย นอกจากนี้ ยังได้ตีเส้นจราจรขยายเลนซ้ายสุด เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ขับขี่รถจักรยานและรถจักรยานยนต์แล้ว 28 ถนน พร้อมทั้งสร้างกิจกรรมผ่านสื่อสังคมออนไลน์รณรงค์ให้เคารพสิทธิสาธารณะ คาดจะช่วยให้การทำผิดวินัยจราจรลดลง

ด้าน นายณัฐพงศ์ ดิษยบุตร ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม. กล่าวว่า สำนักการศึกษา และองค์การช่วยเหลือเด็กร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมเพื่อปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกเรื่องระเบียบวินัยและความรับผิดชอบต่อสังคมให้แก่เด็กและเยาวชน ประกอบด้วย 1) ส่งเสริมความปลอดภัยทางถนนสำหรับเด็ก 2) ส่งเสริมความรู้ความปลอดภัยด้านถนนให้คุณครูในโรงเรียนสังกัด กทม. โดยบูรณาการเข้ากับการจัดการเรียนสอนและกิจกรรมนอกเวลาเรียน 3) จัดกิจกรรมประชุมเชิงปฎิบัติการเขตนำร่องเพื่อให้เกิดพื้นที่โรงเรียนปลอดภัย โดยนำร่องใน 4 เขต ได้แก่ สำนักงานเขตภาษีเจริญ สำนักงานเขตดอนเมือง สำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และสำนักงานเขตประเวศ ร่วมกับคุณครู ผู้ปกครอง ชุมชน ผู้แทนจากสำนักเทศกิจ และเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร 4) ประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม. เข้าร่วมกิจกรรม “นักข่าวรุ่นจิ๋ว : เด็กไทยซ้อนท้ายใส่หมวก” และ 5) ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กทม. เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ เรื่อง “ความปลอดภัยทางถนนและการสวมหมวกนิรภัย”

นายณัฐพงศ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ สำนักการศึกษา ได้วางแนวทางการปลูกฝังการสร้างจิตสำนึกเรื่องระเบียบวินัยและความรับผิดชอบต่อสังคมแก่เด็กและเยาวชนโดยเฉพาะการสอดแทรกเรื่องวินัยจราจรและการเคารพสิทธิสาธารณะในการจัดการเรียนการสอนของนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม. โดยได้กำหนด 9 มาตรการรักษาความปลอดภัยในสถานศึกษา ดังนี้ 1) กำหนดให้เรื่องความปลอดภัยในโรงเรียน เป็นนโยบายสำคัญของโรงเรียน 2) ดำเนินการเรื่องความปลอดภัยในโรงเรียนร่วมกับชุมชนและผู้ปกครอง 3) กำหนดแผนและขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในโรงเรียนอย่างเป็นระบบและมีคู่มือปฏิบัติสำหรับบุคลากรเพื่อความปลอดภัย 4) จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบมาตรการความปลอดภัยในโรงเรียน 5) จัดระบบการดูแลคุ้มครองเด็กที่ดี 6) จัดระบบความปลอดภัยด้านอาคารและสถานที่โดยรอบของโรงเรียน 7) กำหนดการเดินทางไปกลับโรงเรียนอย่างถูกวิธี มีความปลอดภัยจากการ จราจร 8) บันทึกข้อมูลอุบัติภัยในโรงเรียนอย่างเป็นระบบ และ 9) จัดให้มีหลักสูตร “จิตสำนึกความปลอดภัย”


กำลังโหลดความคิดเห็น