xs
xsm
sm
md
lg

วธ.หนุนงานวิจัยวัฒนธรรมสร้างสรรค์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วธ.หนุนงานวิจัยวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ด้าน นักวิจัย ม.สวนดุสิต ออกแบบลวดลายสื่อเอกลักษณ์ไทยบนเซรามิก เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ชาวดอนไก่ดี

วันนี้ (21 ส.ค.) ที่หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) จัดการประชุมวิชาการทางวัฒนธรรมแห่งชาติ “วิจัยวัฒนธรรม ครั้งที่ 9”เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้งานวิจัยด้านมิติทางวัฒนธรรม ก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ส่งผลให้เกิดการต่อยอดนำไปใช้ประโยชน์สร้างความตระหนักเกี่ยวกับวัฒนธรรมที่มีลักษณะคล้ายกัน รวมทั้งการสร้างสรรค์พื้นที่ทางวัฒนธรรมในฐานะมรดกร่วมของกลุ่มประเทศอาเซียน

นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ในฐานะประธานเปิดการประชุมฯ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนามิติด้านวัฒนธรรม โดยการนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ในโอกาสที่ไทยเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรมจึงมีความสำคัญต่อการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมวัฒนธรรมของอาเซียนควบคู่ไปพร้อมกับการอนุรักษ์วัฒนธรรมวิถีชีวิตของผู้คนในประชาคมอาเซียนด้วย การที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ให้ทุนอุดหนุนการวิจัยในหัวข้อประชาคมอาเซียนกับงานวัฒนธรรม ตั้งแต่ปี 2558-2561 และในครั้งที่ 9 นี้ เน้นงานวิจัยในหัวข้อ“สร้างพื้นที่วัฒนธรรม มรดกร่วมอาเซียน”ถือเป็นการให้ความสำคัญในความหลากหลายทางวัฒนธรรม และเป็นการสานต่อนโยบายของรัฐบาลในการเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นของอาเซียนตามแนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” โดยไทยเป็นแกนหลักสนับสนุนให้เกิดสันติสุขและความเจริญยั่งยืนในภูมิภาคสืบไป

ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ขอชื่นชมนักวิจัยซึ่งเป็นผู้รักรากเหง้าในภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และได้สนับสนุนคนในท้องถิ่นเข้ามาเรียนรู้ ทำให้งานวิจัยตอบโจทย์ความต้องการอย่างแท้จริง โดยการนำภูมิปัญญามาต่อยอด พัฒนา สืบสานไปสู่รุ่นต่อๆ ไป ที่สำคัญสามารถสร้างมูลค่าในทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้แก่ประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ยกตัวอย่างงานวิจัยเรื่องผ้าจากธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์เซรามิกมาเขียนลวดลายสอดแทรกความเป็นไทยและสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง

"โครงการดีๆ เช่นนี้ อยากให้มีการสานต่อ ส่งเสริมและขยายไปยังพื้นที่ต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เพราะผมเชื่อว่าทุนทางวัฒนธรรมเรามีทุกพื้นที่และมีเอกลักษณ์ของตัวเอง สิ่งเหล่านี้คือมรดกที่ต้องต่อยอด ขยายผลไปยังลูกหลาน จึงขอความร่วมมือจากนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ส่งโครงการเข้ามาหรือส่งโปรเจ็กใหม่ๆ โดยนำทุนทางวัฒนธรรมมาตอบโจทย์กับสังคมได้" ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.ปฤณัต นัจนฤตย์ นักวิจัยมหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า ตนได้ทำการวิจัยโดยนำเอกลักษณ์ไทยมาออกแบบลวดลายบนผลิตภัณฑ์เซรามิกกว่า 15 แบบ เพื่อเป็นต้นแบบ ให้ชาวบ้านดอนไก่ดี จ.สมุทรสาคร นำไปเขียนลายบนภาชนะเซรามิก ซึ่งมีทั้งลายนกยูง ช้าง พวงมาลัย ดอกมะลิ ดอกชบา ดอกกล้วยไม้ ดอกบัวและอื่นๆ อีกมากมาย อย่างไรก็ตาม ลวดลายเหล่านี้ได้รับความสนใจจากโรงแรมหลายแห่งสั่งจำนวนมาก สร้างรายได้ให้ชาวบ้าน ปัจจุบันมีชาวบ้านแห่ง ที่เคย เห็นผลงานที่ดอนไก่ดี ติดต่อให้ผมไปถ่ายทอดองค์ความรู้ให้คนในชุมชนของเขาบ้าง

"เซรามิกเราสั่งทำให้เป็นพิเศษ มีขนาด ลักษณะแตกต่างกันออกไป ตามการใช้งาน โดยมีทั้ง ชุดน้ำชา จาน ชาม แก้วน้ำ ของตกแต่งบ้าน ลำโพงและอื่นๆ ลวดลายบนเซรามิกแต่ชิ้นนั้นเป็นงานฝีมือที่ประณีต ซึ่งงานบางชิ้นยังถอดแล้วนำมาประกอบกันได้อีกด้วย เช่น พวงมาลัย ที่ตกแต่งให้ดูสวยงามนี้สามารถถอดออกได้ หรือรูปสัตว์ที่ติดอยู่บนภาชนะเราใช้น็อตสกู เวลาจะล้างก็ถอดน็อตสกูออกทำให้สะดวกต่อการล้าง รวมถึงการเก็บด้วย" ผศ.ดร.ปฤณัต กล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น