xs
xsm
sm
md
lg

กรมแพทย์แผนไทย ร่วม สวก.พัฒนา "กัญชา-กัญชง" สมุนไพร 96 ชนิด ใช้ทำยา อาหาร เครื่องดื่ม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมแพทย์แผนไทย จับมือ สวก.พัฒนาสมุนไพร 96 ชนิด รวมกัญชาและกัญชง หวังใช้ทำยา อาหาร เครื่องดื่ม รองรับตลาดหลังปลดล็อกซีบีดีออกจากยาเสพติด

วันนี้ (21 ส.ค.) นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และนายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร และผลักดันงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง

นพ.มรุต กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้จะมีการพัฒนา วิจัยต่อยอดสมุนไพรอีกกว่า 96 ชนิด เพื่อต่อยอดเชิงเศรษฐกิจของประเทศต่อไป หนึ่งในนั้นจะศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับกัญชงและกัญชา อย่างกัญชาต้องดูว่า ประเทศไทยมีกี่สายพันธุ์ สายพันธุ์อะไรบ้างที่เป็นสุดยอด รวมถึงการศึกษาหาสารสำคัญเพิ่มเติมจากที่ทราบอยู่ เช่น ทีเอชซี ซีบีดี ซีบีเอ็น ซีบีซี เป็นต้น ส่วนกัญชงที่ปัจจุบันเราปลูกเพื่อเอาเส้นใย จริงๆ ก็มีทั้งซีบีดี และโอเมกา 3 ซึ่งเป็นส่วนที่มีประโยชน์ ดังนั้น ต้องมีการศึกษาต่อยอด และนำมาสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพหลายอย่างทั้งยา อาหาร เครื่องดื่ม เพื่อรองรับการปลดล็อกสารซีบีดีออกจากยาเสพติด ที่คาดว่าจะปลดได้จริงภายใน 2-3 เดือนนี้ ซึ่งอาจจะช่วยให้ไทยส่งออกได้ โดยในเอเชียมีประเทศที่ยอมรับการใช้สารซีบีดี คือ ญี่ปุ่น

"หากไทยมีการสนับสนุนกัญชง ซึ่ง สวก.ได้มีการวิจัยกัญชงในพื้นที่สูงในหลายปีที่ผ่านมา แต่ผลวิจัยพบสายพันธุ์กัญชงในไทย ส่วนใหญ่จะใช้แต่เส้นใยในส่วนของลำต้น แต่ถ้าจะปลูกให้คุ้ม จะต้องได้ทั้งส่วนของดอก เป็นน้ำมันเฮมพ์ หรือ น้ำมันเมล็ดเฮมพ์ จะสามารถส่งขายได้ราคาสูง” นพ.มรุต กล่าวและว่า อีกทั้ง ในการลงนามครั้งนี้ จะร่วมมือในการการวิจัยสมุนไพรไทยตัวอื่น ที่ทางกรมฯ ต้องการอีกมากเพื่อผลิตปรุงยาแพทย์แผนไทย ทั้งในผลิตภัณฑ์แชมเปียน ได้แก่ กระชายดำ ไพล ขมิ้นชัน และบัวบก ตลอดจนสูตรตำรับยาไทยที่มีส่วนผสมของกัญชา รวม 16 ตำรับ ซึ่งจะต้องใช้สมุนไพรถึง 94 ชนิด

ด้านนายสุวิทย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางสถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (สวพส.) มีแผนพัฒนาและวิจัยสายพันธุ์กัญชงในไทย และมีผลศึกษาระดับหนึ่ง สามารถนำข้อมูลมาใช้ในการศึกษาวิจัยได้ โดยความร่วมมือครั้งนี้ จะร่วมมือบูรณาการการทำงานร่วมกันในการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมการจัดการห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรและตำรับยาแผนไทยให้ครบวงจรให้เป็นรูปธรรม ตั้งแต่การเริ่มต้นการปลูก เทคโนโลยีการปลูก ขั้นตอนการผลิต การเก็บรักษาและการแปรรูป และการผลักดันสู่ตลาด โดยให้กรมแพทย์แผนไทยฯ ยื่นเรื่องในการขอสนับสนุนทุนวิจัย เพื่อนำไปสู่การส่งเสริมและขยายผล และสามารถขอให้ทาง สกว. สนับสนุนให้มีการนำเสนอผลงานวิจัยทางวิชาการ อีกทั้ง สนับสนุนในการนำผลงานวิจัยไปร่วมนิทรรศการต่างๆ การส่งผลงานเข้าร่วมประกวดในเวทีนานาชาติ และการยื่นขอจดทรัพย์สินทางปัญญา อีกทั้ง ยังสนับสนุนการวิจัยในเชิงนโยบาย






กำลังโหลดความคิดเห็น