xs
xsm
sm
md
lg

12 รพ.ยังไม่จ่าย “ยากัญชา” เหตุของเพิ่งทยอยส่งถึง แต่เปิดให้คำปรึกษาแล้ว คาดจ่ายได้จริง ก.ย.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ยังไม่จ่าย ยากัญชาองค์การเภสัชฯ เหตุของเพิ่งเริ่มทยอยถึง 12 รพ.ศูนย์ บางแห่งได้รับแล้ว บางแห่งยังรอรับ รพ.ขอนแก่น เริ่มให้บริการวันที่ 20 ส.ค. ด้าน รพ.ระยอง ให้คำปรึกษาคัดกรองผู้ป่วย ก่อนเริ่มจ่ายจริง 4 ก.ย. ส่วน รพ.สระบุรี เริ่มปลาย ส.ค.นี้ จ่ายยาจริง ก.ย.เช่นกัน เหตุต้องเตรียมพร้อมระบบ ด้าน อย.จัดระบบติดตามใช้ยา 2 ส่วน

วันนี้ (19 ส.ค.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการเปิดให้บริการกัญชาทางการแพทย์ในโรงพยาบาลศูนย์ 12 แห่ง เริ่มวันที่ 19 ส.ค.นี้ ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ ยังไม่ได้มีการรายงานเข้ามาว่าเป็นอย่างไร แต่คาดว่าน่าจะมีการรายงานเข้ามาเบื้องต้นว่าโรงพยาบาลแต่ละแห่งจะดำเนินการอย่างไรบ้างในวันที่ 21 ส.ค.นี้ซึ่งเป็นการประชุมวอร์รูมเกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์ โดยประชุมทุกสัปดาห์ในวันพุธ

นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น กล่าวว่า สารสกัดกัญชาทางการแพทย์สูตรทีเอชซีสูงจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) จะส่งมาถึง รพ.ขอนแก่นในช่วงบ่ายวันที่ 19 ส.ค. เนื่องจากล็อตของ รพ.ขอนแก่น เป็นรถคันที่ 3 ที่ออกมาหลังสุด หลังจากส่งสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ให้ รพ.ขอนแก่นแล้ว ก็จะเลยไปยัง รพ.อุดรธานีต่อไป ดังนั้น ในวันนี้จึงยังไม่มีการให้บริการจ่ายยากัญชาทางการแพทย์แต่อย่างใด คาดว่าจะเริ่มให้บริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์อย่างเป็นทางการได้ในวันที่ 20 ส.ค.นี้ คลินิกกัญชา รพ.ขอนแก่น จะเปิดทุกวันอังคารช่วงเวลาบ่าย ส่วนวันนี้จะเป็นการบริการให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยไปก่อน ซึ่งก็มีผู้ป่วยเข้ามารับคำปรึกษาบ้าง แต่ยังไม่ได้รับรายงานชัดๆ ว่ามีจำนวนมากน้อยเท่าไหร่ โดยจะให้คำแนะนำและคัดกรอว่ามีอาการเข้าได้กับที่ต้องใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์หรือไม่


นพ.ภูษิต ทรัพย์สมพล รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ รพ.ระยอง กล่าวว่า รพ.ระยองได้ออกใบสั่งซื้อสารสกัดกัญชาทางการแพทย์สูตรทีเอชซีสูงต่อ อภ.ไปเมื่อสัปดาห์ก่อน ขณะนี้ตนมาราชการที่ต่างจังหวัด จึงไม่แน่ใจว่าสารสกัดกัญชามาถึงแล้วหรือไม่ แต่ตามกำหนดคือของน่าจะมาถึงวันที่ 19 ส.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคลินิกกัญชาทางการแพทย์ รพ.ระยอง มีการวางแผนว่าจะเปิดให้บริการในการจ่ายยากัญชาในวันที่ 4 ก.ย.นี้ เนื่องจากต้องเตรียมความพร้อม ทั้งเรื่องของการจัดส่งยาทั้งจาก อภ. และอีกส่วนจาก รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร และจะมีเพิ่มจำนวนแพทย์และเภสัชกรที่สามารถสั่งใช้ยากัญชาเพิ่มเติมด้วย ซึ่งตอนนี้โรงพยาบาลมีแค่แพทย์ 1 คน และเภสัชกร 1 คน ที่ผ่านการอบรม โดยสัปดาห์หน้าจะส่งแพทย์และเภสัชกร 4-5 ราย เข้าอบรมผ่านระบบออนไลน์ของกรมการแพทย์

นพ.ภูษิตกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ รพ.ระยองจะให้บริการคำปรึกษากัญชาทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยว่าอาการเป็นอย่างไร เข้าได้กับโรคที่มีข้อบ่งชี้หรือไม่ หากอาการเข้าได้และมีความจำเป็นต้องรับยากัญชาก็จะส่งเข้าคลินิกเพื่อจ่ายยากัญชาต่อไป ซึ่งเบื้องต้นตนได้รับรายงานจากทีมว่า วันนี้มีผู้ป่วยขอรับคำปรึกษาประมาณ 9-10 ราย โดยมีอาการเข้าได้กับโรคที่จำเป็นต้องใช้กัญชาประมาณ 4 ราย

นพ.อนันต์ กมลเนตร ผู้อำนวยการ รพ.สระบุรี กล่าวว่า ขณะนี้ รพ.สระบุรี ได้รับสารสกัดกัญชาจาก อภ.แล้ว แต่ยังไม่ได้มีการจ่ายยาแต่อย่างใด คาดว่าอาจจะเกิดความเข้าใจผิด คือ สารสกัดกัญชาทางการแพทย์จาก อภ.จะจัดส่งมาถึงโรงพยาบาลศูนย์ทั้ง 12 แห่งภายในวันที่ 19 ส.ค.นี้ ดังนั้น จึงยังไม่สามารถจ่ายยากัญชาได้ เพราะต้องมีการเตรียมความพร้อมระบบต่างๆ และทำความเข้าใจหารือถึงวิธีในการใช้ก่อน ซึ่งตามที่มีการเวิร์กชอปร่วมกัน กรมการแพทย์จะเป็นผู้จัดทำแพคเกจการให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วย เพื่อสื่อสารเข้าใจอย่างตรงกัน เช่น โปสเตอร์ที่จะติดในคลินิก รายละเอียดเอกสารการให้คำแนะนำ รวมไปถึงใบยินยอมรับการรักษาที่ต้องให้ผู้ป่วยเซ็น เพราะสารสกัดกัญชาแม้จะผลิตอย่างปลอดภัย ก็ยังเป็นยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงจะต้องมีการทำความเข้าใจกับผู้ป่วย หากอาการเข้าได้กับข้อบ่งชี้ในการรักษา ก็จะมีการเซ็นใบยินยอมนี้

นพ.อนันต์กล่าวว่า ทั้งนี้ รพ.สระบุรี จะเริ่มเปิดให้บริการคำปรึกษาในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของ ส.ค.นี้ โดยจะเปิดให้บริการในวันจันทร์ วันพุธ และวันศุกร์ เพื่อให้คำปรึกษาและคัดกรองผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้สารสกัดทีเอชซี ซึ่งข้อบ่งชี้ คือ กลุ่มผู้ป่วยมะเร็งที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการรับยาคีโม โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มจ่ายยากัญชาได้จริงคือช่วง ก.ย.เป็นต้นไป ก็จะพอดีกับการที่ รพ.สระบุรี จะส่งแพทย์และเภสัชกรไปอบรมกัญชาทางการแพทย์เพิ่มเติม โดยขณะนี้ รพ.สระบุรี มีแพทย์ 2 คน แพทย์แผนไทย 2 คน และเภสัชกร 1 คนที่ผ่านการอบรมแล้ว

ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ระบบติดตามการใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์นั้น ในระยะแรก อย.ได้ดำเนินการใน 2 ส่วน ได้แก่ 1. การติดตามปริมาณการสั่งใช้สารสกัดกัญชา ซึ่งตามระบบจะต้องรายงานมายัง อย.เป็นรายเดือน แต่ในช่วงเริ่มต้นจะให้มีการรายงานเร็วขึ้น โดยให้รายงานทุก 2 สัปดาห์ และ 2. รายงานในส่วนของผู้ป่วยทั้งในผู้ที่รับบริการเสร็จสิ้นแล้ว และผู้ที่เริ่มใช้สารสกัดกัญชาในการรักษา โดยให้รายงานเป็นกรณีเฉพาะ เพื่อติดตามดูสถานการณ์ว่ามีปัญหาหรือผลกระทบอะไรหรือไม่ในการให้บริการระยะแรก

“ระบบติดตามที่ อย.วางไว้นั้น จะทำให้ทราบข้อมูลภาพรวมทั้งประเทศว่า ผู้ป่วยมีความต้องการใช้จริงๆ กี่คน และใช้ปริมาณเท่าไร เพื่อให้ทราบความต้องการที่แท้จริง ในการนำมาจัดระบบสนับสนุนการให้บริการ ซึ่งระยะแรกที่เป็นการให้บริการแบบวิจัยช่องทางพิเศษ หรือ Special Access Scheme หรือ SAS ผลดีคือจะทำให้ทราบถึงผลการรักษาต่อกลุ่มโรค รวมถึงภาวะแทรกซ้อนว่ามีอะไรเกิดขึ้นหรือไม่อย่างไร” นพ.ธเรศกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 12 โรงพยาบาลศูนย์ที่ได้รับสารสกัดกัญชาจาก อภ. ประกอบด้วย 1. รพ.ลำปาง 2. รพ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก 3. รพ.สวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ 4. รพ.สระบุรี 5. รพ.ราชบุรี 6. รพ.ระยอง 7. รพ.ขอนแก่น 8. รพ.อุดรธานี 9. รพ.บุรีรัมย์ 10. รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี 11. รพ.สุราษฎร์ธานี และ 12. รพ.หาดใหญ่ จ.สงขลา


กำลังโหลดความคิดเห็น