xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.เผย "อนุทิน" พร้อมดูแลกองทุนนอกงบเหมาจ่าย หลังคนรักหลักประกันร้องทวงคืน 676 ล.บาท

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เลขาธิการ สปสช. เผย "อนุทิน" พร้อมดูแลกองทุนนอกงบเหมาจ่าย หลังกลุ่มคนรักหลักประกันร้องขอคืน 676 ล้านบาท ระบุกระบวนก่รยังไม่จบ ต้องทำหนังสือเข้าสภา เพื่อสรุปความต้องการงบ แจงปีนี้ได้เพิ่มขึ้น ยืนยันยื่นขอตามตัวเลขเดิม

วันนี้ (17 ส.ค.) นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เรียกร้องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) คืนงบกองทุนนอกเหมาจ่าย 676 ล้านบาท เพราะสำนักงบประมาณเสนอต่ำกว่าที่ตกลงกันไว้ ซึ่งทั้งที่ครม.ชุดก่อนอนุมัติไปแล้ว ว่า เรื่องนี้ยังไม่มีการสรุปเป็นทางการ แต่ที่ผ่านมติ ครม.ก็มีการรับรองในกรอบตัวเลขตามที่เสนอประมาณ 2 แสนล้านบาท ไม่ได้ตัด หรือลดลงแต่อย่างใด แต่ก็ให้ สปสช. ไปหารือและตกลงกับสำนักงบประมาณในรายละเอียดต่างๆ ต่อ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ก็ต้องมาเข้ากระบวนการของสภา โดย รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. ก็ต้องทำหนังสือผ่านเข้าไปอีกครั้งหนึ่ง เพื่อสรุปว่ามีความต้องการงบฯ เท่าไร ซึ่งทาง รมว.สาธารณสุขเบื้องต้นยืนยันว่า จะดูแลตรงส่วนนี้ให้

“ถ้าพูดจริงๆ งบที่ขอไปปีนี้ได้รับเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนที่เราเสนอไปก็เพิ่มขึ้น หรือตัวเลขของสำนักงบประมาณก็เพิ่มขึ้น เพราะว่ามีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้น เลยต้องดำเนินการขอประมาณนี้ ดีกว่าดำเนินการไปแล้วต้องมาตามของบประมาณกลางในภายหลัง จะมีปัญหามากกว่า แต่เรียนตรงๆ ว่าเรื่องนี้ทางการยังไม่จบ ต้องผ่านอีกหลายกระบวนการ ซึ่งคงใช้เวลาไม่น่าจะนาน แน่นอนทางเรายืนยันตัวเลขเดิมที่เสนอขอไปตามที่ผ่านมติ ครม.ก่อนนี้อยู่แล้ว ส่วนทางเอ็นจีโอเรามีการชี้แจงกันตลอดอยู่แล้ว” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ปัจจุบันกองทุนเฉพาะ หรือกองทุนนอกงบเหมาจ่ายรายหัว มีอยู่ 6 กองทุน คือ 1.กองทุนผู้ป่วยเอดส์ วัณโรค 2.กองทุนผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง 3.กองทุนผู้ป่วยไตวาย 4.กองทุนเงินเสริมสภาพคล่องสถานพยาบาลในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร 5.กองทุนผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และ 6.กองทุนบริการปฐมภูมิ ซึ่งเป็นกองทุนที่ตั้งขึ้นเมื่อ 2 ปี ที่ผ่านมาตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาในการของบประมาณนอกงบเหมาจ่ายรายหัวจะมีการคำนวณตามจำนวนผู้ป่วย และราคาทุน หรือเรียกว่าราคาคูณต่อหน่วยเพื่อไปตกลงกับสำนักงบฯ ยกตัวอย่าง สมมติทั้งปีจะมีผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง 1.2 แสนคน คูณกับอัตราค่าดูแล 5,000 บาท ต่อหัวก็คูณเข้าไป แล้วก็ต้องส่งผลงานให้สำนักงบฯ ด้วย ซึ่งจะเป็นตัวเลขที่ชัดเจน ที่ได้จากการคำนวณตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย ซึ่งเรื่องนี้ต้องดูเป็นเรื่องๆ ว่ามีตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้น หรือลดลงอย่างไร หากผู้ป่วยลดลงงบก็ลดลงด้วยเป็นปกติ แต่ไม่มีแนวคิดที่จะยุบกองทุนใดกองทุนหนึ่ง การยุบกองทุนเป็นไปได้ยาก


กำลังโหลดความคิดเห็น