xs
xsm
sm
md
lg

แจง WHO ประกาศภาวะฉุกเฉิน "อีโบลา" เพื่อระดมความช่วยเหลือ ไทยพร้อมยกระดับเข้มขาเข้า-ขาออก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมควบคุมโรคแจง WHO ประกาศภาวะฉุกเฉิน "อีโบลา" ระบาดคองโก เพื่อจัดการความเสี่ยง ไม่ให้แพร่ไปประเทศอื่น และระดมความช่วยเหลือ ไม่ได้กีดกันการเดินทาง ส่วนไทยยังเสี่ยงต่ำ แต่พร้อมยกระดับ 2 มาตรการ เข้มคนที่มาจากประเทศระบาด ต้องติดตามได้ตลอดในประเทศไทย และคนไปพื้นที่ระบาด

วันนี้ (19 ก.ค.) นพ.สุวรรณชัย​ วัฒนายิ่งเจริญชัย​ อธิบดีกรมควบคุมโรค​ (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ที่ประเทศคองโก ซึ่งมีผู้เสียชีวิตกว่า 1,600 คน เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา ว่า​ สาเหตุที่ WHO ออกประกาศดังกล่าว เนื่องจากพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในประเทศคองโกต่อเนื่อง ตั้งแต่ ส.ค. 2561 กระทั่งล่าสุดพบว่า มีผู้ป่วยกระจายไปยังเมืองโกมา ซึ่งเป็นเมืองหลักที่มีประชากรจำนวนประมาณ 2 ล้านคน เป็นเมืองที่มีเขตแดนติดกับประเทศอื่น และมีสนามบิน ดังนั้น จึงมีความเสี่ยงที่โรคจะกระจายออกนอกประเทศ WHO จึงได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เพื่อให้สามารถดำเนินการใน 2 ส่วน คือ 1.จัดการความเสี่ยงด้านสาธารณสุข ไม่ให้โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาลุกลามไปยังประเทศอื่น และ 2.เพื่อให้สามารถระดมความช่วยเหลือระหว่างประเทศไปยังพื้นที่ระบาด

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การประกาศดังกล่าวไมได้มุ่งหวังให้เกิดการกีดกันการเดินทาง แต่เพื่อให้มีการตระหนักและผู้ป่วยจะได้ไม่หลบอยู่ใต้ดิน ซึ่งจะทำให้เกิดผลเสียต่อการควบคุมโรค และการประกาศครั้งนี้ ความเสี่ยงยังอยู่ในพื้นที่คองโก ยังไม่ได้เป็นความเสี่ยงระดับโลก เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ยังคงมีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งที่ผ่านมาเรามีการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และมีการรายงานเข้าสู่คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อแห่งชาติ ทุกครั้งมีการประเมินความเสี่ยง ยังไม่ถึงขั้นต้องประกาศในนามประเทศไทย แต่เมื่อองค์การอนามัยโลกประกาศออกมาเช่นนี้ในส่วนของไทยเองก็ต้องยกระดับความเข้มข้นมาตรการเดิมที่เคยปฏิบัติมาในสองมิติ คือ

1.ผู้ที่เดินทางจากประเทศที่มีการระบาด จะต้องมีการตรวจสอบประวัติอย่างเข้มงวด โดยร่วมมือกับสายการบิน ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และท่าอากาศยาน ต้องคัดกรองผู้ที่เดินทางเข้ามาว่ามีไข้ต้องสงสัยอย่างไรหรือไม่ ระหว่างที่พำนักอยู่ในประเทศไทย ต้องสามารถติดตามและตรวจสอบได้ โดยเฉพาะในช่วงระยะฟักตัวของโรค ซึ่งที่ผ่านมามีผู้เดินทางมาจากคองโกนับตั้งแต่ ส.ค. 2561 ถึงปัจจุบัน มีจำนวน 664 ราย ตรวจสอบไม่พบผู้ป่วยหรือผู้ต้องสงสัย และ 2.ผู้ที่จะเดินทางไปยังประเทศเสี่ยงหรือมีการระบาด จะต้องทราบถึงแนวทางการปฏิบัติตัว ทั้งแง่ของการป้องกันโรค การติดต่อของโรค อาการต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า มีจำนวนไม่มาก


กำลังโหลดความคิดเห็น