xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายฯ จี้กำราบ "ผับบาร์" จัดแข่งดื่มเบียร์ สธ.แจงเคสดับ บริษัทจัดเลี้ยงเอง ไม่ผิด กม.คุมเหล้า

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เครือข่ายต้านเหล้า จี้ สธ.เอาผิดร้านค้าทั่วประเทศจัดแข่งดื่มเบียร์ ฝาก สตช.บังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด สธ.แจงแข่งดื่มเบียร์จนดับ เป็นการจัดเลี้ยงของบริษัท ไม่เข้าข่ายผิด กม.ควบคุมเหล้า แต่อาจผิดทางอาญา ฐานประมาทเลินเล่อ คาดเสียชีวิตเพราะสำลักอุดหลอดลม และฤทธิ์แอลกอฮอล์กดการหายใจ

​วันนี้ (3 ก.ค.) นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจแอลกอฮอล์ พร้อมด้วย นายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ และเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ กว่า 30 คน ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อเรียกร้องให้ สธ.บังคับใช้กฎหมายกับสถานประกอบการ ร้านค้า ที่จัดกิจกรรมแข่งขันดื่มเบียร์ จนเป็นเหตุให้ผู้เข้าร่วมแข่งขันเสียชีวิต รวมถึงผับบาร์รายอื่นๆ ที่มีการจัดกิจกรรมลักษณะเดียวกัน เพราะเข้าข่ายผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 โดยได้นำหลักฐานการจัดกิจกรรมแข่งขันดื่มเบียร์ทางสื่อออนไลน์มามอบให้ สธ.เพื่อใช้เอาผิดด้วย โดยมี นพ.กิตติศักดิ์ กลับดี ที่ปรึกษา รมว.สธ.เป็นผู้รับเรื่อง

นายคำรณ กล่าวว่า การแข่งขันดื่มเบียร์กำลังเป็นที่นิยมในสถานบันเทิง สถานประกอบการเกี่ยวกับธุรกิจแอลกอฮอล์ หรือแม้แต่กิจกรรมงานเลี้ยงต่างๆ โดยผู้ที่ร่วมกิจกรรมอาจจะยังไม่รู้ถึงพิษภัย อาจจะด้วยความคึกคะนองหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จนเป็นอันตรายถึงชีวิต ประกอบกับกลุ่มธุรกิจสุราหรือสถานบันเทิง ได้ฉวยโอกาสในการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการขายและเชิญชวนให้ผู้บริโภคเข้าร้านเพื่อร่วมแข่งขันชิงรางวัล ซึ่งเข้าข่ายผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ในหลายมาตรา สธ.ซึ่งมีบทบาทหน้าที่โดยตรง เครือข่ายฯ จึงขอแสดงจุดยืนและข้อเรียกร้องดังนี้

1.เร่งติดตามตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ว่าเข้าข่ายละเมิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 30(4) มาตรา 30(5) ว่าด้วยการห้ามส่งเสริมการขาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 29(2) ว่าด้วยการห้ามขายให้คนเมาครองสติไม่ได้ รวมทั้งอาจผิดมาตรา 32 เรื่องการโฆษณาตราสัญลักษณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีปรับไม่เกิน 500,000 ปรับ รวมถึงปรับรายวันอีกวันละ 50,000 บาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง 2.สั่งการให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขตรวจสอบการจัดกิจกรรมลักษณะการส่งเสริมการขายโดยการแข่งขันดื่มเบียร์ สุรา หรือกิจกรรมรูปแบบอื่นๆ เช่น โปรโมชั่นเบียร์บุฟเฟ่ต์ในสถานประกอบการทั่วประเทศ และเร่งประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกฎหมาย

3.เร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อผลกระทบและอันตรายต่อการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก หรือการจัดแข่งขันการดื่ม เพราะอาจเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ และ 4.ขอเรียกร้องผ่านไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ให้บังคับใช้กฎหมายกับผู้จัดงานขั้นเด็ดขาดเนื่องจากมีผลกระทบถึงขั้นเสียชีวิต ต้องมีผู้รับผิดชอบต่อความสูญเสียเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง เครือข่ายได้เตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือในทางกฎหมายทั้งทางเพ่งและอาญากับครอบครัวผู้ที่สูญเสียหากได้รับการร้องขอ

ด้าน นายชูวิทย์ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมลักษณะนี้มีอันตรายและมีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตได้ ด้วยเป็นการดื่มในปริมาณมากหรือเข้มข้นเกินไป ในระยะเวลาอันจำกัด ที่น่าห่วง คือ หากพฤติกรรมการดื่มแข่งขันแบบนี้ระบาดลงไปในกลุ่มเด็กและเยาวชนจะอันตรายมาก ด้วยวัยที่คึกคะนอง จึงมีความจำเป็นที่ต้องป้องปราม เรามีกฎหมายอยู่แล้วแต่ต้องทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่เสือกระดาษ เจ้าหน้าที่ต้องไม่เพิกเฉยจนลุกลามบานปลาย กระแสแบบนี้ผลประโยชน์จะตกกับผู้ผลิตและผู้จำหน่ายเพียงฝ่ายเดียว ด้วยการกระตุ้นโหมทำการตลาดที่ขาดความรับผิดชอบ แต่ผลกระทบทางสังคมและความสูญเสียจะเกิดกับผู้บริโภคอย่างแน่นอน เหตุการณ์นี้ไม่ว่าใครจะเป็นคนจัด ต้องมีผู้รับผิดชอบ ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยต้องเรียกร้องให้ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ร้านเหล้าผับบาร์ทั้งหลายรับผิดชอบให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ไม่ใช่โทษแต่ผู้บริโภค ส่งผลให้คนผิดตัวจริงลอยนวล

นพ. กิตตศักดิ์ กล่าวว่า ปกติร่างกายจะมีการตอบสนองไม่เหมือนกัน โดยสามารถทนต่อฤทธิ์แอกอฮอล์ได้ประมาณ 300 มิลลิกรัม แต่กรณีที่เกิดขึ้นพบว่า มีปริมาณแอลกอฮอล์มากถึง 400 มิลลิกรัม และเป็นการดื่มอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้แอลกอฮอล์ไปกดการหายใจ ทำให้หยุดหายใจ ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีการตรวจสอบแน่นอน และขอเตือนเยาวชน การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่มากก็น้อยล้วนมีผลต่อสุขภาพ ยิ่งช่วงนี้มีกิจกรรมรับน้องของสถานศึกษา ต้องระมัดระวัง และยิ่งใกล้เข้าเทศกาลเข้าพรรษา การไม่ดื่มแอลกอฮอล์ยิ่งดี

นพ.พงษ์ธร ชาติพิทักษ์ รองผอ.สำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบในพื้นที่ พบว่า ผู้ตายเป็นพนักงานของบริษัทแห่งหนึ่ง และมีการจัดกิจกรรมจัดเลี้ยงสังสรรค์ในโรงแรม โดยเป็นการว่าจ้างบริษัทจัดเลี้ยงมาดำเนินการ และมีการจัดแข่งขันดื่มแอลกอฮล์ ซึ่งผู้ตายระหว่างดื่มไม่รู้สติ ตั้งแต่อยู่ที่เกิดเหตุ และได้นำตัวส่งโรงพยาบาล เพราะหายใจเองไม่ได้ ทางโรงพยาบาลได้ใส่ท่อช่วยหายใจ แต่ติดปัญหามีสิ่งกีดขวาง จึงได้ดูดเอาออกจากคอ พบทั้งเศษอาหารและเบียร์ ดังนั้น จึงมองว่า มีอยู่ 2 สาเหตุ คือ เกิดจากการสำลัก อุดหลอดลม และฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ที่ส่งผลให้เสียชีวิต จึงต้องมีการพิสูจน์สาเหตุ คาดว่าใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน แต่แอลกอฮอล์ล้วนเกี่ยวข้องและเป็นสาเหตุทั้งสิ้น ทั้งนี้ต้องดูว่า บริษัทรับจัดเลี้ยงและบริษัทที่ทำงานของผู้เสียชีวิต อาจมีความผิดทางอาญาฐานประมาทเลินเล่อ แต่ไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์





กำลังโหลดความคิดเห็น