xs
xsm
sm
md
lg

"ขนส่งสาธารณะ" ไม่เอื้อ 8 ประชากรกลุ่มเฉพาะ วอนขอระบบที่สะดวก ปลอดภัย เข้าถึงได้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


"ระบบขนส่งสาธารณะ" ปัญหาใหญ่ 8 ประชากรกลุ่มเฉพาะ วอนขอระบบที่ทุกคนเข้าถึงได้ สะดวก ปลอดภัย เป็นธรรม ครอบคลุมทั่วถึง นักวิจัยทีดีอาร์ไอ ชี้ป้ายรถเมล์กว่า 30 % ไม่สมบูรณ์ ไม่เอื้อผู้สูงอายุ คนพิการ คนจนเมือง

ในเวทีการประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน :ประชากรกลุ่มเฉพาะ (Voice of the voiceless :the vulnerable populations ) จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส. ) และภาคีเครือข่าย ระหว่างวันที่ 12-13 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่อิมแพค เมืองทองธานี มีการจัดเวทีสาธารณะ “ระบบขนส่งสาธารณะปลอดภัย ทุกคนเข้าถึงได้” โดยภาคีเครือข่าย อาทิสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย เครือข่ายสลัม 4 ภาค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สมาพันธ์ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งประเทศไทย เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง กลุ่มปั้นเมืองพร้อมประกาศเจตนารมย์เพื่อขับเคลื่อนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการเดินทางได้จัดบริการขนส่งสาธารณะอย่างเท่าเทียม ปลอดภัย และสะดวกให้กับประชากรกลุ่มเฉพาะ

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า สสส.และภาคีเครือข่ายประชากรกลุ่มเฉพาะทั้ง 8 กลุ่ม ได้แก่ ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้หญิง คนไร้บ้าน ผู้ต้องขัง ผู้มีสถานะปัญหาสถานะบุคคล/ประชากรข้ามชาติ และมุสลิม เห็นตรงกันว่า จะร่วมกันผลักดันให้มีระบบรถสาธารณะที่ปลอดภัย โดยทุกคนพร้อมที่จะร่วมกันเปลี่ยนแปลงสังคม ให้ทุกคนได้เข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะอย่างเท่าเทียม ปลอดภัย ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของสสส. ที่ระบุว่าประเทศไทยมีสาเหตุการตายจากท้องถนนติดอันดับ 2 ของโลก ปัจจุบันระบบขนส่งสาธารณะกลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุไม่ได้รับความสะดวกไม่ได้เป็นมิตรกับทุกคน อีกทั้งกลุ่มผู้หญิงยังถูกคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะบนรถโดยสารประจำทาง นอกจากนี้ราคาค่าโดยสารยังไม่เป็นธรรมกับกลุ่มคนจนเมือง

นายสว่าง ศรีสม แกนนำเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนเข้าถึงได้(Transportation For All) กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคประชาชนและนักวิชาการ มีความพยายามจัดทำข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของการออกแบบระบบขนส่งสาธารณะและค่าโดยสาร และการสร้างอาสาสมัครเพื่อเฝ้าระวังป้องกัน แจ้งเหตุการคุกคามทางเพศบนรถโดยสารสาธารณะ โดยมีเป้าหมายให้ทุกคนเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยในราคาที่เข้าถึงได้ คำนึงถึงกลุ่มคนที่เปราะบาง ผู้หญิง เด็ก คนพิการ และผู้สูงอายุ ซึ่งในการประกาศเจตนารมณ์ได้กำหนดข้อเสนอ 3 ประเด็น 1.ระบบขนส่งสาธารณะต้องมีความปลอดภัย 2.ระบบขนส่งต้องเป็นธรรมและมีโครงข่ายที่ครอบคลุมทั่วถึง 3.ระบบขนส่งสาธารณะต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับทุกคนสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ข้อที่ 11 ว่าด้วยการทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่มีความปลอดภัย ทั่วถึง

ดร.สุเมธ องกิตติกุล นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาปพระเทศ (TDRI ) เปิดเผยว่า จากงานวิจัยรถโดยสารสาธารณะพบว่ามีหลายปัญหา เรื่องป้ายรถเมล์ไม่มีความสมบูรณ์ จากการเก็บข้อมูลบนถนนลาดพร้าว ป้ายรถเมล์ 30 % ไม่มีไฟฟ้า ป้ายบอกสายรถเมล์ไม่ชัดเจน ไม่มีหลังคา และพบว่าหลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ ป้ายรถเมล์มีร้านสะดวกซื้อมาเปิดอยู่ใกล้ เมื่อมีรถมาส่งของทำให้รถเมล์ไม่สามารถเข้าป้ายได้ เป็นอุปสรรคกับผู้สูงอายุ หรือผู้ใช้วีลแชร์ นอกจากนี้สถานีรถไฟฟ้าไม่มีลิฟท์อำนวยความสะดวก และบางพื้นที่มีลิฟท์แล้วแต่ไม่ติดตั้งในจุดที่มีทางม้าลายทำให้วีลแชร์ข้ามถนนไม่ได้ หรือเมื่อลงจากลิฟท์แล้วทางเดินเท้าไม่สามารถใช้วีลแชร์ได้ ขณะที่รถไฟฟ้าทั้ง 10 สายที่กำลังจะแล้วเสร็จ ก็มีค่าใช้จ่ายที่แพง ทำให้ผู้มีรายได้น้อยไม่สามารถเข้าถึงบริการได้





กำลังโหลดความคิดเห็น