xs
xsm
sm
md
lg

เช็กให้ชัวร์ ก่อนเชื่อและแชร์! สสส. ผนึก 7 องค์กรรวมพลังต้านข่าวลวงข่าวปลอม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สสส. ผนึก 7 องค์กรลงนามร่วมประกาศปฏิญญา 5 ข้อ รวมพลังขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอม พร้อมเดินหน้าจัดงานเสวนาแลกเปลี่ยนบทเรียนระหว่างประเทศ “International Conference on Fake News” ในวันที่ 17 มิ.ย.ศกนี้

ต้องยอมรับว่า สถานการณ์ข่าวลวงข่าวปลอมกำลังระบาดไปทั่วโลก รวมทั้งที่ประเทศไทย สร้างความปั่นป่วนและความเข้าใจผิดให้แพร่กระจาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในโลกออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย ด้วยเหตุนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ” (สสส.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายทั้ง 7 องค์กร ซึ่งประกอบไปด้วย “กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์”, “สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ”, “Friedrich Naumann Foundation for Freedom” (FNF), “องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย”, “คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”, “คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” และ “สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์” จึงได้ร่วมกันลงนามประกาศปฏิญญารวมพลังขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอม เมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา

“วสันต์ ภัยหลีกลี้” ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้กล่าวในงานแถลงประกาศปฏิญญารวมพลังขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอม (Fake News Alert!) ว่า “ข่าวลวง” นับเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมยุคดิจิทัล เป็นปัญหาระดับสากลซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก ช่องทางการสื่อสารบนโลกออนไลน์ถูกพัฒนาไปอย่างรวดเร็วและง่ายต่อการใช้งาน จึงเกิดผู้ทำหน้าที่ส่งสารขึ้นเป็นจำนวนมาก อย่างที่พูดกันว่า ทุกคนสามารถเป็น “สื่อ” เองได้

“เมื่อก่อน เรามีสื่อมวลชนอาชีพ ทำหน้าที่เป็น Gatekeeper คอยกรองข่าว แต่ทุกวันนี้ ทุกคนที่ใช้สื่อเป็นผู้ส่งสารต้องทำหน้าที่ในการกรองและพิจารณาว่าข่าวไหนเชื่อถือได้หรือไม่ได้ อย่างไรก็ดี จากสภาพการณ์เช่นนี้ ทำให้บางข้อมูลขาดการตรวจสอบข้อเท็จจริง เกิดการเผยแพร่ข่าวลวงและข่าวปลอม ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อสังคมเป็นวงกว้าง”

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สสส. ต้องทำงานด้านสุขภาพทุกวินาที ทั้งเรื่องเหล้าบุหรี่ การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ การเข้าถึงอาหารที่ถูกหลักอนามัย และมีการสนับสนุนสื่อต่าง ๆ ด้วย โดยมุ่งหวังให้คนไทยเปลี่ยนพฤติกรรม แต่การเปลี่ยนต้องอาศัยด้านนโยบาย การจัดการสิ่งแวดล้อม ด้วยปัญหาของสถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงขึ้นของข่าวลวงข่าวปลอม จึงเกิดพลังการรวมตัวกันของภาคีเครือข่ายวิชาการ วิชาชีพ ทั้ง 8 องค์กรในประเทศไทย มาช่วยกันสร้างกลไกในการรับมือและต้านข่าวลวง สร้างวัฒนธรรมการตรวจสอบและตระหนักรู้ที่มาของข่าวให้กับคนในสังคม ก่อนที่จะเชื่อหรือแชร์ข้อมูลออกไป

“การลงนามและประกาศปฏิญญารวมพลังขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอม เป็นความร่วมมือที่จะเสริมพลังและสนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกันของภาคีเครือข่าย เพื่อขยายผลองค์ความรู้ด้านการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อให้กับประชาชนให้มีความรู้เท่าทันและมีส่วนร่วมในการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ภายใต้การรู้เท่าทันสื่อ”

ขณะที่ “ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิจิตรา สึคาโมโต้” จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า ในโลกโซเชียล ทุกอย่างเชื่อมโยงเป็นใยแมงมุม เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดข่าวลือขึ้น ไม่ว่าจะเกิดจากมนุษย์หรือเกิดจากโรบอท เมื่อแพร่กระจายไปในโลกออนไลน์แล้ว อัตราการแพร่กระจายจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว

“งานวิจัยที่เราทำ พบว่า ข่าวลือนั้นไม่มีวันตาย มันเป็นดิจิทัล เพราะฉะนั้น มันไม่มีวันตาย และมีสิทธิ์ที่จะถูกนำมาใช้และแพร่กระจายต่อเมื่อไหร่ก็ได้”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิจิตรา กล่าวเพิ่มเติมว่า ณ ปัจจุบัน แพล็ตฟอร์มสื่อโซเชียลหลายราย มีเกณฑ์ในการปฏิบัติเพื่อกำกับดูแลเนื้อหาบนแพล็ตฟอร์มของตัวเอง ไม่ให้เป็นแหล่งแพร่กระจายข่าวลือ อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้ว การจะหยุดข่าวลือข่าวลวงต่างๆ ได้ ก็คือต้องเช็กข่าว จากสำนักข่าวต่างๆ ซึ่งมีเครดิตน่าเชื่อถือและมีความเป็นมืออาชีพในการทำหน้าที่เช็กข่าว

ด้าน “ก้าวโรจน์ สุตาภักดี” นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ซึ่งมีสำนักข่าวอาชีพทุกสำนักเป็นสมาชิก กล่าวว่า สำหรับสมาคมผู้สื่อข่าวออนไลน์ มีนโยบายว่า ชัวร์แล้วแชร์ได้ ก่อนนำเสนอข่าวใดๆ จะมีการเช็กข่าวเพื่อความถูกต้องให้ถึงที่สุด

“ถ้าข่าวไหนผิด เราก็จะชี้ว่าผิด หรือถ้าข่าวไหนถูก เราก็จะบอกว่าถูกแล้ว แต่เราจะเช็กหลายรอบมาก กว่าจะนำเสนออะไรออกไป และข้อสังเกตอย่างหนึ่งซึ่งผมมองเห็น คือในสถานการณ์วิกฤติหรือเหตุการณ์ที่เป็นความสำคัญของบ้านเมืองหรือข่าวที่มีคนโฟกัสมาก สำนักข่าวหลักหรือสื่อหลักยังเป็นสิ่งที่คนเข้าไปเช็กข่าวตรวจสอบข่าวตามข่าวอยู่ ดังนั้นแล้ว เวลาเกิดเหตุการณ์วิกฤตอะไรก็แล้วแต่ ยังมีความเชื่อมั่นในความเป็นสำนักข่าวอยู่
อย่างไรก็ตาม “ก้าวโรจน์” ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การที่ข่าวปลอมจะหายไปได้ อันดับแรกสุดคือคนรับสื่อเองก็ต้องมีความรู้เท่าทันด้วย

ในแง่ของการรู้เท่าทัน “จักร์กฤษ เพิ่มพูล” กรรมการนโยบายกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของสื่อมวลชนด้วยส่วนหนึ่งซึ่งต้องให้ความรู้ในการรู้เท่าทันสื่อกับประชาชน หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องมีหลักการทำงาน มีจริยธรรมวิชาชีพ ต้องเข้าใจว่าสารที่ส่งออกไป ต้องได้รับการตรวจสอบอย่างถ้วนถี่เสียก่อน

“เฟคนิวส์มันเติบโตขยายตัวมาพร้อมๆ กับการเติบโตของสื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย เพราะในโซเชียลมีเดีย มีผู้คนมากมายปะปนกัน มีทั้งสื่ออาชีพ มีทั้งคนที่เพียงจะใช้สื่อ ผมอยากเรียกปรากฏการณ์เฟคนิวส์นี้ว่าเป็นไวรัสของวารสารศาสตร์ เป็นเชื้อโรคร้ายของความเท็จที่มันแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว และเฟคนิวส์ส่วนมากจะเกิดจากสื่อที่ไม่ได้มีหลักการในการทำงาน ไม่มีจริยธรรมในการทำงาน ฉะนั้น ถ้าเราจะตอบคำถามว่า เฟคนิวส์เหล่านี้มาจากไหน มาจากคนใช้สื่อ ไม่ใช่มาจากสื่ออาชีพ แต่ในขณะเดียวกัน บางทีสื่ออาชีพก็มีส่วนตรงที่เป็นคนช่วยขยายข่าวลวงออกไป โดยไปแชร์ไปอ้างแหล่งข่าวต่างๆ นานา”

กระนั้นก็ตาม สุดท้ายแล้ว ผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านดังที่เอ่ยนามมา ล้วนบอกเช่นเดียวกันว่า ยังไม่สายเกินไปที่จะแก้ปัญหาข่าวลวง และ ณ วันนี้ก็นับเป็นก้าวเริ่มที่ดีในการที่จะรับมือและแก้ปัญหาเรื่องข่าวลวง เมื่อ 8 องค์กรภาคีเครือข่าย ได้ร่วมกันลงนามประกาศปฏิญญา 5 ข้อเพื่อต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอม โดยปฏิญญาทั้ง 5 ข้อนั้น ประกอบไปด้วย

1. ส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือซึ่งกันและกันในภาคีเครือข่าย เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันเพื่อรับมือและรวมพลังต่อต้านข่าวลวงในทุกระดับของสังคม
2. ส่งเสริมและสนับสนุนการผลักดันนโยบายในการต่อต้านข่าวลวงในระดับประเทศและเกิดการขับเคลื่อนงานด้านการต่อต้านข่าวลวง ทั้งในระดับสังคม ชุมชน และประเทศชาติ
3. ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาให้เกิดการศึกษาวิจัยและสร้างองค์ความรู้ด้านการต่อต้านข่าวลวง รวมทั้งหาแนวทางปฏิบัติต้นแบบ (Best Practice) เพื่อให้เกิดฐานความรู้และแนวทางปฏิบัติอันจะนำไปสู่การผลักดันให้เกิดพลังความรู้ของสังคม
4. พัฒนากระบวนการ รูปแบบการทำงาน และนวัตกรรม ตลอดจนเครื่องมือ หรือกลไกเฝ้าระวังเพื่อใช้ในการป้องกันและการแก้ไขปัญหาข่าวลวงอย่างมีส่วนร่วม ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ทั้งภาคีวิชาการ วิชาชีพ ผู้ผลิตสื่อ ภาคประชาชน และผู้ใช้สื่อ
5. ส่งเสริมให้ประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจด้านการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัล (Media Information and Digital Literacy : MIDL) ประชาชนเกิดภูมิคุ้มกันต่อปัญหาข่าวลวง และพัฒนาประชาชนในประเทศไปสู่ความเป็นพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizen)

ทั้งนี้ ภาคีเครือข่ายทั้ง 8 องค์กร จะได้ร่วมกันจัดงาน “International Conference on Fake News” ในวันที่ 17 มิ.ย.ศกนี้ ที่โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส โดยในงานจะมีผู้แทนภาคีเครือข่ายนักวิชาการ นักวิชาชีพ ในประเทศไทยและผู้แทนจากนานาชาติเข้าร่วม เช่น รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัล จากไต้หวัน, นักวิชาการด้านสื่อมวลชนจาก The University of Hong Kong, ผู้ขับเคลื่อนนโยบายจากพรรค Free De,ocrat Party สหพันธรัฐเยอรมนี, ผู้แทนจากสำนักข่าว Thomson, Reuters และ AFP เข้าร่วมเป็นวิทยากรและร่วมเสวนา








กำลังโหลดความคิดเห็น