xs
xsm
sm
md
lg

รพ.จิตเวชโคราช พัฒนาแบบคัดกรอง “ฆ่าตัวตาย” ผู้ป่วยจิตเภท จากหูแว่วประสาทหลอน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รพ.จิตเวชโคราช พัฒนาแบบคัดกรองอาการเสี่ยง ฆ่าตัวตาย จากภาวะจิตหลอนผู้ป่วยโรคจิตเภท ใช้ได้ผลดี ช่วยป้องกันฆ่าตัวตายได้ ขยายผลในเรือนจำทุกแห่งของเขต 9 เตรียมประเมินผลปลายปีก่อนปรับปรุงแล้วขยายใช้ทุกโรงพยาบาล และชุมชนในเขต 9

วันนี้ (24 พ.ค.) นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ กล่าวว่า วันที่ 24 พ.ค.ทุกปี องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นวันจิตเภทโลก ซึ่งโรคจิตเภทพบได้มากที่สุดในกลุ่มผู้ป่วยโรคจิตทั้งหมด คือ ร้อยละ 70 สาเหตุเกิดจากสารสื่อประสาทในสมองทำงานผิดปกติ ทำให้ผู้ป่วยมีความผิดปกติ รับรู้ไม่ตรงกับความเป็นจริง มีอาการมีหูแว่ว ประสาทหลอน เกิดความทุกข์ทรมาน ส่งผลเสียต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน อัตราป่วยอยู่ที่ร้อยละ 1 โดยพื้นที่ 4 จังหวัดเขตสุขภาพที่ 9 ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 35,000 คน อัตราการเข้าถึงบริการสูงขึ้น ครอบคลุมร้อยละ 83 แต่ต้องเร่งแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตาย เพราะผู้ป่วยโรคนี้มีความเสี่ยงทำร้ายตัวเองสูงกว่าคนทั่วไป 12 เท่า จากอาการหูแว่วและประสาทหลอน

พญ.กรองกาญจน์ แก้วชัง รอง ผอ.ด้านการแพทย์ และประธานทีมนำทางคลินิก รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ กล่าวว่า ปัญหาการฆ่าตัวตายของผู้ป่วยโรคจิตเภท พบว่า ขาดเครื่องมือในการคัดกรองความเสี่ยงฆ่าตัวตายที่เกิดจากอาการทางจิตโดยเฉพาะ และใช้เครื่องมือที่ไม่ตรงกับโรค รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ จึงพัฒนาเทคโนโลยี "เจวีเคเอสทูไฟว์ (JVKss5)" เป็นแบบสัมภาษณ์คัดกรองสัญญาณอาการหลอนทางจิตของผู้ป่วยโรคจิตเภทและโรคจิตที่เสี่ยงฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเองเป็นการเฉพาะ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยมีใช้มาก่อน เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้เฝ้าระวังผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที ประกอบด้วย 5 คำถามสั้นๆ เกี่ยวกับอาการหูแว่ว และความคิดที่ผิดปกติของผู้ป่วย ดังนี้

1. มีเสียงสั่งให้ไปตาย/ทำร้ายตนเอง 2. มีเสียงด่า ว่า ตำหนิ รุนแรง จนคิดถึงการทำร้ายตนเอง 3. กลัวคนทำร้าย หรือกลัวเสียงแว่ว หรือกลัวภาพหลอนที่เห็นเองคนเดียว 4. คิดว่าตนเองเป็นคนชั่ว เลว บาป อภัยไม่ได้ และ 5. คิดว่ามีคนมาควบคุมให้ทำร้ายตนเอง รวมทั้งถามประวัติพฤติกรรมการทำร้ายตนเองในอดีตและในสองอาทิตย์ที่ผ่านมาประกอบด้วย ซึ่งการแปลผลความเสี่ยงจะแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับน้อย คือ ไม่มีอาการทางจิต ระดับปานกลาง คือ มีอาการทางจิต แต่ผู้ป่วยยังทนได้ และระดับมาก คือ มีอาการทางจิตและผู้ป่วยควบคุมอาการตัวเองไม่ได้

พญ.กรองกาญจน์กล่าวว่า ผลทดลองใช้กับผู้ป่วยจิตเภทที่แผนกห้องฉุกเฉิน รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ ปี 2560 จำนวน 480 คน พบผู้ป่วยอยู่กลุ่มเสี่ยงระดับน้อยจำนวน 324 คน สามารถให้ยากลับไปรับประทานที่บ้านได้ มีอาการระดับปานกลางและมาก 156 คน หรือร้อยละ 33 แพทย์ได้รับตัวไว้ดูแลในโรงพยาบาล จัดระบบดูแลเฝ้าระวังป้องกันเป็นพิเศษและใช้แบบสัมภาษณ์นี้ประเมินซ้ำ พบว่าผู้ป่วยที่ผ่านการคัดกรองด้วย JVKS25 ไม่พบการฆ่าตัวตายสำเร็จจากอาการทางจิต ปี 2562 จึงได้ขยายผลที่แผนกห้องฉุกเฉิน แผนกผู้ป่วยนอก และหอผู้ป่วยในทุกหอ พบว่า ใช้ง่าย ได้ผลดีมาก ป้องกันการฆ่าตัวตายได้ 100% และขยายผลในเรือนจำ 12 แห่งในเขตสุขภาพที่ 9 โดยจะประเมินผลแบบคัดกรองปลายปีนี้ เพื่อปรับปรุงและจะใช้ใน รพ.และชุมชนทุกแห่งในเขตสุขภาพที่ 9 ในปี 2563 เพื่อเป็นแนวทางดูแลผู้ป่วยโรคจิตเภทและผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตที่เสี่ยงฆ่าตัวตายเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งเขต ซึ่งสามารถนำไปใช้ในระดับประเทศได้เช่นกัน




กำลังโหลดความคิดเห็น