xs
xsm
sm
md
lg

"สุเทพ" รอฟังนโยบายรับนร. รมว.ศธ.คนใหม่ จ่อนัดถกผอ.ร.ร.ยอดนิยม 10 มิ.ย.นี้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“สุเทพ-เอกชัย” หารือแนวทางรับนักเรียนปีหน้า ยันต้องรอฟังนโยบาย รมว.ศึกษาธิการคนใหม่ และฟังความเห็นผู้เกี่ยวข้อง ย้ำต้องไม่กระทบผู้ปกครอง-นักเรียน เตรียมนัดถก ผอ.ร.ร.ดัง 10 มิ.ย.นี้

วันนี้ (21 พ.ค.) ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เตรียมเสนอสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แบ่งกลุ่มการรับนักเรียนเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก เป็นโรงเรียนที่รับเด็กจากทั่วประเทศด้วยการสอบ 100% โดยไม่กำหนดเขตพื้นที่บริการหรือไม่มีโควตาเด็กพื้นที่บริการ เพื่อให้เป็นโรงเรียนที่ผลิตและพัฒนาเด็กที่มีศักยภาพให้เป็นเด็กเก่งของประเทศ และกลุ่มที่สอง คือกลุ่มที่รับเด็กในเขตพื้นที่บริการเหมือนในปัจจุบันนั้น ในวันนี้ตนจะหารือร่วมกับ รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธาน กพฐ.ถึงเรื่องดังกล่าว ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และละเอียดอ่อน การเปลี่ยนแปลงใดๆ ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ปกครองและนักเรียนด้วย ดังนั้น ต้องหารือผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ปกครอง ผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.)

ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าที่ผ่านมาปัญหาดังกล่าวส่วนหนึ่งเกิดจากส่วนกลาง หรือ สพฐ. เข้ามามีอำนาจในการบริหารจัดการมากเกินไป ดังนั้น จะพยายามให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด( กศจ.) เข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องนี้ให้มากขึ้น เพราะตามกฎหมายที่ได้ให้อำนาจ กศจ.ในการดูแลการจัดการศึกษาของจังหวัด รวมถึงต้องรอดูนโยบายจากรัฐบาล และนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ด้วย

ด้าน ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ขณะนี้สำนักนโยบายและแผน กำลังอยู่ระหว่างรวบรวมรายละเอียด ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการรับนักเรียนปีการศึกษา 2562 ที่ผ่านมาว่าเป็นเช่นไร โดยในวันที่ 10 มิ.ย.จะเชิญผู้อำนวยการโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง โรงเรียนขนาดกลาง โรงเรียนทั่วไป และโรงเรียนขนาดเล็ก มาสะท้อนถึงการรับนักเรียนปีที่ผ่านมา มีปัญหาอย่างไร รวมถึงจะเปิดรับฟังความเห็นจากผู้ปกครอง นักเรียน และภาคสังคมที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าวด้วย คาดว่าภายในเดือนมิ.ย.ก็สามารถสรุปประเด็นต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลในการรายงาน รมว.ศึกษาธิการ คนใหม่ต่อไป

ขณะที่ ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา( กอปศ.) กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่า การกำหนดดังกล่าว เป็นการไปเน้นที่โรงเรียนมากเกินไป ทั้งที่ การบริหารจัดการโรงเรียนแต่ละแห่ง จะต้องไม่เหมือนกัน โดยโรงเรียนบางประเภท ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เช่น โรงเรียนขนาดเล็ก จะให้มาใช้ระบบเดียวกับโรงเรียนขนาดใหญ่ ก็คงเป็นไปไม่ได้

“เรามักจะมีการแบ่งแล้วยกระดับ ตรงนี้เป็นข้อเสียของสังคมไทยที่ บางคนดี กว่าอีกคนหนึ่ง แต่คนอาจดีได้หลายอย่าง คนที่อยู่โรงเรียนขนาดเล็กแล้วทำได้ดีกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ วิธีแบ่งโดยเอาคุณค่าใส่เข้าไปด้วย มีทั้งข้อดี ข้อเสีย ทั้งที่จริงแล้ว ควรปล่อยให้โรงเรียนเหล่านี้มีความเป็นอิสระ โดยเฉพาะโรงเรียนประจำจังหวัดทั้งหลายควรปล่อยให้เป็นอิสระได้แล้ว เพื่อให้สามารถพัฒนาตัวเองได้เต็มศักยภาพ“ศ.นพ.จรัสกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น