xs
xsm
sm
md
lg

ทีวีช่องเด็ก End Game !/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


และแล้วสิ่งที่ไม่เหนือความคาดหมายก็เกิดขึ้น !

เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประกาศให้ช่องทีวีดิจิทัลสามารถแจ้งความประสงค์ในการขอคืนใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลได้ และมีช่องทีวีดิจิทัลที่แจ้งความประสงค์ขอคืนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลทั้งหมด 7 ช่อง ประกอบไปด้วย ไบรท์ทีวี 20, วอยซ์ทีวี 21,MCOT Family 14, สปริงนิวส์ 19,สปริง 26 (Now26 เดิม),ช่อง3 แฟมิลี่ 13 และช่อง 3 SD 28

ทำให้จากช่องทีวีดิจิทัล 22 ช่อง เหลือประกอบการทั้งหมด 15 ช่อง

และนั่นหมายความว่าทีวี“ช่องเด็ก”2 ช่อง ก็ถึงคราวอวสาน

สำหรับคนทำงานสื่อก็ได้แต่แสดงความเห็นใจและเข้าใจเพื่อนวิชาชีพ เพราะสถานการณ์โดยรวมมันหนักหนาจริงๆ ที่ผ่านมาสถานีทุกช่องพยายามหาทางอยู่รอดในทางธุรกิจ เพราะไม่ใช่แค่เผชิญสภาวะการแข่งขันอย่างรุนแรง แต่ต้องเผชิญกับDigital Disruption คือ สภาวะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัลด้วย

ในส่วนของนโยบายที่ กสทช.ถูกตั้งคำถามมาโดยตลอด ตั้งแต่เริ่มการประมูลช่องทีวีดิจิทัลจำนวนมาก และประสบปัญหาระหว่างในระบบการบริหารจัดการ รวมไปถึงแนวทางในการกำกับดูแลที่ทำให้เกิดข้อกังขามากมาย จนนำมาสู่การเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลคืนช่องได้ แบบได้รับเงินชดเชย

สำหรับในส่วนของผู้บริโภคดูเหมือนไม่น่าจะเดือดร้อนใดๆ นัก เพราะพฤติกรรมของผู้คนก็เปลี่ยนไป การเสพสื่อก็มีความหลายหลายและมีความเป็น Niche มากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ที่น่าสะท้อนใจและถือเป็นการสูญเสียโอกาสซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็คือ กลุ่มเด็ก เยาวชน และครอบครัว ที่ทุกคนบอกว่าสำคัญ แต่มักเป็นกลุ่มที่ถูกละเลยอยู่เสมอ

ที่จริงตลอดเวลา 5ปีที่ผ่านมา สำหรับคนเป็นพ่อแม่ น่าจะดีใจที่มีช่องทีวีสำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว แต่การณ์กลับกลายเป็นตรงกันข้าม เพราะเอาเข้าจริงจากการติดตามช่องทีวีดิจิทัลสำหรับเด็กทั้ง 3 ช่องที่ประมูลได้ เป็นที่น่าผิดหวังยิ่งนัก

แต่จะว่าไปแล้วก็ไม่เหนือความคาดหมาย เพราะก่อนหน้าที่จะมีการประมูลช่องทีวีดิจิทัลสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว ดิฉันจำได้ดี เพราะได้ไปเป็นผู้ดำเนินรายการให้กับทางกสทช.ในการเชิญผู้ที่สนใจและเกี่ยวข้องกับทีวีช่องเด็กมาให้ข้อมูล แสดงความคิดเห็น ซึ่งมีทั้งผู้ประกอบการที่สนใจต้องการประมูล ผู้ผลิต นักวิชาการ เอ็นจีโอ ผู้ที่เกี่ยวข้องและสนใจเรื่องทีวีสำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว

ในวันนั้น ดิฉันยังจำได้ดี เพราะส่วนใหญ่เมื่อทราบข้อมูลและเงื่อนไขการประมูลก็พยายามให้ข้อมูลแก่ กสทช. ว่า ถ้ามีการประมูลช่องเด็กในราคาสูง เราจะไม่ได้รายการเด็กที่มีคุณภาพ เพราะช่องที่ให้ความรู้แก่เด็ก เยาวชน และครอบครัว เป็นเรื่องที่ต้องลงทุน ต้องมีเนื้อหาที่เหมาะสม ในขณะที่ผู้ประกอบการที่ประมูลได้ก็ต้องมีหลักคิดที่ต้องแสวงหาผลกำไรสูงสุด เพราะเขาก็ใช้เงินประมูลมา

บรรดาผู้ที่ทำงานทางด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว ที่พอจะมีเงินทุนอยู่บ้างต่างก็ถอนตัว ไม่เข้าร่วมประมูล เพราะมองเห็นอนาคตว่าจะต้องมีปัญหาแน่นอน เพราะลำพังแค่เรื่องการผลิตรายการที่มีเนื้อหาคุณภาพและได้สตางค์ด้วยเป็นเรื่องยากอยู่แล้ว ยังต้องประมูลเพื่อแข่งขันอีก 3 ช่องไม่ใช่เรื่องง่าย

และก็เป็นจริงสุดท้าย 3 ราย ที่ประมูลช่องทีวีดิจิตอลสำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว ก็มีแต่รายใหญ่ที่ได้ไป คือ ช่อง 3 ในชื่อ 3 Family, ช่อง 9 ในชื่อ MCOT Family และค่ายทีวีพูลที่ใช้ชื่อช่องว่า LOCA

ที่ผ่านมาเนื้อหาของช่องทีวีดิจิทัลสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว โดยส่วนตัวถือว่าสอบตกทั้ง 3 ช่อง เพราะเนื้อหารายการส่วนใหญ่ของช่อง 3 Family และช่อง MCOT Family นำเสนอรายการที่มีเนื้อหาอยู่ในกลุ่มรายการประเภทรายการทั่วไป (ท.) มากที่สุด ขณะที่ช่อง LOCA พบว่ามีการเผยแพร่รายการโดยไม่จัดเรทประเภทของเนื้อหามากที่สุด

และช่อง LOCA ก็มีปัญหาที่ผู้บริหารถอดใจและไม่ยอมจ่ายเงินต่อในปีที่สอง จนสุดท้ายจอดำและลาจอไปก่อนรายอื่น ทำให้เหลือช่องรายการสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัวเพียง 2 ช่อง และเป็น 2 ช่องที่ดิฉันเข้าไปติดตามแบบพยายามเอาใจช่วย เพราะอยากให้มีรายการสำหรับเด็กอย่างจริงจังและใส่ใจคุณภาพจริง ๆ เรียกว่าคู่แข่งเหลือ 2 ช่อง น่าจะทำให้อะไรดีขึ้น แต่สุดท้ายก็เหมือนเดิม

ทั้ง 2 ช่องมีรายการที่เหมาะสำหรับเด็กปฐมวัย (ป 3 +) เพียงไม่กี่รายการ และรายการเด็กที่ผลิตขึ้นสำหรับเด็กในวัย 6 - 12 ปี (ด 6+) ก็น้อยมาก แต่พบว่ามีรายการประเภททั่วไปมากที่สุด

ซึ่งเข้าใจดีว่าธุรกิจโดยรวมของทีวีดิจิทัลขณะนี้สาหัสสากรรจ์ การแข่งขันสูงมาก ลำพังแค่ผู้ประกอบการจะประคองธุรกิจให้รอดก็หนักหนาอยู่ เรื่องคุณภาพจึงยังไม่ต้องพูดถึง แต่เป้าหมายที่ กสทช. บอกไว้ตั้งแต่แรกว่าการแข่งขันในครั้งนั้นจะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น มีรายการทีวีดี ๆ มากขึ้น มีช่องรายการทีวีสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว

ประโยคเท่ ๆ ที่ กสทช. เคยบอกว่า ช่องเด็กเป็นช่องที่ กสทช. สนับสนุน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ พัฒนาการเด็ก และเข้าถึงเด็กทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย ช่องเด็กควรมีเนื้อหาที่เป็นทางเลือกสำหรับเด็กและครอบครัวรับชมอย่างปลอดภัย และมีการแข่งขันเสรีเป็นธรรม

แต่จนถึงขณะนี้น่าจะบอกได้ว่า ตัวเลือกมากขึ้นแต่คุณภาพไม่ได้ตามมาด้วย

เป็นเรื่องที่พ่อแม่ผู้ปกครองเองก็ไม่รู้ว่าทีวีในแต่ละช่องแตกต่างกันอย่างไร มีช่องทีวีดิจิทัลเพิ่มขึ้น แต่แทบไม่เห็นความแตกต่างของรูปแบบและรายการเลย โดยเฉพาะช่องทีวีสำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว

จนถึงขณะนี้ คงไม่เรียกร้องความรับผิดชอบและการแก้ไขใด ๆ เพราะรู้ว่าเรียกร้องไปก็เท่านั้น !
แต่สิ่งที่จะช่วยได้ อย่างน้อยอย่าละเลยกลุ่มเด็ก เยาวชนและครอบครัวเลยค่ะ พยายามหาทางออกที่เป็นรูปธรรมแบบจริงใจอีกสักครั้งได้ไหม

หนึ่ง -ลองนำมติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2546 ซึ่งได้เคยกำหนดแนวทางการใช้สื่อของรัฐเพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ โดยให้มีสัดส่วนรายการเพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับสำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว ในช่วงเวลาดี (Primetime) ระหว่างเวลา 16.00- 22.00 น. อย่างน้อย 1-1.30 ชั่วโมง และในช่วงเวลา 7.00 -10.00 น. ในวันเสาร์-อาทิตย์ นำมาดำเนินการอย่างจริงใจและเป็นรูปธรรมในช่องทีวีดิจิทัลที่เหลืออยู่ได้ไหม?

สอง -สนับสนุนผู้ผลิตรายการสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว ให้เกิดการสร้างสรรค์และพัฒนารายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัวโดยใช้มาตรการด้านเงินทุน และที่ไม่ใช้เงิน เช่น การใช้มาตรการทางภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ผลิตรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว , การสนับสนุนด้านเวลาในการออกอากาศสำหรับรายการประเภทนี้

สาม -มีมาตรการหรือระบบการสนับสนุนรายการโทรทัศน์โทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว ให้กลุ่มรัฐวิสาหกิจลงทุนหรือสนับสนุนให้เกิดระบบการประชาสัมพันธ์และการตลาดให้กับรายการประเภทนี้

สี่ -สนับสนุนให้เกิดช่องทางการนำเสนอสื่อทางเลือกสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัวโดยการสร้างประชาคมและองค์ความรู้ในการพัฒนาจากฐานความรู้ทางวิชาการ ฐานความรู้จากภาคปฏิบัติ จากภาคเด็ก เยาวชนและครอบครัว เพื่อสร้างประชาคมแห่งความรู้ในการพัฒนาและยกระดับคุณค่าของรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว

แม้ล่าสุดกสทช. ออกตัวว่าได้เตรียมจัดสรรงบประมาณ จำนวน 16 ล้านบาท ให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลและผู้ผลิตสื่อ ผลิตรายการเด็กออกอากาศ 8-10 รายการ

“จากกรณีที่มีทีวีดิจิทัลคืนใบอนุญาตประกอบกิจการ 7 ราย ทำให้ช่องรายการเด็กหายไปทั้งหมด รัฐบาลจึงเกิดความกังวลว่า เด็กและเยาวชนจะขาดช่องทางการรับรู้ข่าวสาร ดังนั้น กสทช. จึงมีแนวคิดในการจัดทำโครงการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนให้ผู้ผลิตสื่อและผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล นำไปผลิตรายการสำหรับเด็กและเยาวชน ออกอากาศทดแทนช่องเด็กที่หายไป โดยใช้งบประมาณ 16 ล้านบาท ที่เหลืออยู่ในกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ จัดทำรายการเด็ก 8-10 รายการ เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มประกาศเชิญชวนผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการได้ภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ และเริ่มมีรายการออกอากาศได้เร็วที่สุดภายในสิ้นปีนี้”

ดูราวเหมือนกับว่าเป็นการเยียวยาแบบเฉพาะกิจ หรือรางวัลปลอบใจสำหรับผู้ผลิตรายการเด็ก เยาวชน และครอบครัวก็ตาม แต่ควรจะมีมาตรการที่ออกแบบมาเพื่อมองไปข้างหน้าในการแก้ปัญหาระยะยาวด้วย มิใช่เพียงแค่แก้ปัญหาระยะสั้น

เราพูดถึงความสำคัญของเด็กเยาวชนและครอบครัว รวมทั้งความสำคัญของสื่อ ต่อชาติบ้านเมือง กันได้อย่างคล่องแคล่วมานานวัน แต่ไฉนการจะมีสื่อเพื่อเด็กเยาวชนและครอบครัวถึงได้ยากเย็นแสนเข็ญ

แล้วไม่เรียกว่า End game จะได้หรือ !


กำลังโหลดความคิดเห็น