xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเทอม "ลูก" ไม่อยากไปโรงเรียน ให้ใช้เทคนิคปรับตัวปรับใจ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมสุขภาพจิต แนะวิธีรับมือ "ลูก" ไม่อยากไปโรงเรียน ใช้เทคนิคปรับตัวปรับใจในกลุ่มเด็กเล็ก ส่วนเด็กโตควรพูดคุยค้นหาปัญหาที่ลูกไม่อยากไปร.ร. ให้กำลังใจและช่วยเหลือ

วันนี้ (14 พ.ค.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ช่วงเปิดเทอมใหม่ เป็นช่วงเวลาที่พ่อแม่ผู้ปกครองและเด็กๆ ต้องปรับตัวกันอีกครั้ง หลังจากการหยุดยาวติดต่อกันมาหลายเดือน ซึ่งมักพบว่า ปัญหาของเด็กเล็กในช่วงอนุบาล คือ ไม่อยากไปโรงเรียน หรืออาจยังไม่เคยไปโรงเรียน พ่อแม่ผู้ปกครองควรมีความเข้าใจ โดยเฉพาะพัฒนาการตามวัย ซึ่งธรรมชาติของเด็กแต่ละช่วงวัยมีอารมณ์และความต้องการที่แตกต่างกัน อย่างเด็กเล็กๆ จะซึมซับบทบาทของพ่อแม่ การเรียนรู้อยู่ร่วมกับผู้อื่น แต่พ่อแม่ผู้ปกครองมักมีความกังวลถึงการร้องไห้งอแง ไม่อยากไปโรงเรียนของลูก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องปกติ

"เด็กวัยนี้ จะมีความกลัวและกังวลที่ต้องห่างจากพ่อแม่ อาจจะต้องให้เวลาในการปรับตัวกับเด็กในระยะแรก หลังจากนั้นเด็กก็จะเรียนรู้ในการปรับตัวปรับใจ โดยพ่อแม่ต้องพูดให้ลูกเข้าใจถึงเหตุผลและประโยชน์ในการไปโรงเรียน ลูกต้องเรียนหนังสือกับเพื่อนๆ การแยกกันเป็นเรื่องของธรรมชาติ และพ่อแม่จะกลับมารับลูกในตอนเย็น เพื่อให้เด็กเกิดความสบายใจและมั่นใจ ตลอดจนชวนลูกให้เล่าถึงสิ่งต่างๆ ที่ได้พบเจอมาจากการไปโรงเรียนในแต่ละวันให้พ่อแม่ฟัง" นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า สำหรับในกลุ่มเด็กโต ที่อยู่ชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา ซึ่งปัญหาการไม่อยากไปโรงเรียน จะมีความแตกต่างจากกลุ่มของเด็กเล็กที่เกิดจากการต้องห่างไกลจากพ่อแม่ผู้ปกครอง แต่ปัญหาของกลุ่มเด็กโต จะมีหลายสาเหตุ อาจเป็นเรื่องของการเรียนรู้ เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง มีปัญหาการอ่าน การเขียน การคำนวณ หรืออาจมีปัญหาในเรื่องการปรับตัวกับกลุ่มเพื่อนใหม่ หรือแม้กระทั่งในวัยอุดมศึกษา ก็อาจจะเครียดและกังวลเกี่ยวกับเรื่องการปรับตัวในการเปลี่ยนแปลงสถานที่ใหม่เช่นเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ไม่อยากไปเรียนหนังสือ ท้อแท้ หมดกำลังใจจะเรียนหนังสือต่อ อย่างไรก็ตาม หากค้นพบว่า ปัญหาการเรียนของลูกคือสิ่งใด พ่อแม่ผู้ปกครองควรให้กำลังใจ ให้การช่วยเหลือ และแก้ไขตั้งแต่เนิ่นๆ มีการพูดคุยกับลูกให้บ่อย จะทำให้สิ่งเหล่านั้นดีขึ้น ทำให้เด็กสามารถปรับตัวได้ดี รวมทั้งจะมีความสุขกับการไปโรงเรียนมากขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ หากพ่อแม่ผู้ปกครองและลูกยังมีความเครียดมาก แนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น หรือสามารถโทรศัพท์ขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง


กำลังโหลดความคิดเห็น