xs
xsm
sm
md
lg

นักกฎหมาย แนะประกาศ "ยากัญชา" เป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร หลังคลอด กม.ใหม่

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นักกฎหมาย ชี้ "พืชกัญชา" อาจเข้าข่าย "สมุนไพร" หลังออก กม.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร แต่อาจไม่เป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพราะติดล็อกวัตถุออกฤทธิ์ฯ และยาเสพติด เสนอออกประกาศยากัญชาเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร ด้าน กพย.ร่าง พ.ร.บ.พืชยา กัญชา กระท่อม หวังแยกออกจากวัตถุออกฤทธิ์และยาเสพติด

วันนี้ (2 พ.ค.) ผศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 19 "กัญชา เพื่อเยียวยาสุขภาพ" ว่า ขณะนี้ พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 ได้ประกาศออกมาแล้วในราชกิจานุเบกษา เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2562 โดยจะมีผลบังคับใช้ในอีก 60 วันนับจากวันที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา โดยให้ความหมายของคำว่า "สมุนไพร" คือ ผลิตผลธรรมชาติที่ได้จากพืช สัตว์ จุลชีพ หรือแร่ที่ใช้ผสม ปรุง หรือแปรสภาพเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร นั่นหมายความว่า พืชกัญชาย่อมเป็นสมุนไพรตามความหมายของ พ.ร.บ.นี้ อย่างไรก็ตาม กัญชาอาจไม่เข้าความหมายของผลิตภัณฑ์สมุนไพร แม้จะเข้าลักษณะเป็นยาจากสมุนไพร ยาแผนไทย หรือยาพัฒนาจากสมุนไพรก็ตาม เนื่องจาก ยังคงเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และยาเสพติดให้โทษอยู่ตามกฎหมายวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และกฎหมายยาเสพติดให้โทษ

"จึงควรมีการพิจารณาต่อไปว่า จะดำเนินการอย่างไร เช่น การให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการผลิตภัณฑ์สมุนไพรประกาศกำหนดให้ผลิตภัณฑ์จากกัญชาบางประการ เช่น ตำรับยาเสพติดให้โทษที่มีกัญชาผสมอยู่ เป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรหรือการปลดล็อกกัญชาจากการเป็นยาเสพติด เพื่อให้ผลิตภัณฑ์จากกัญชาสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะส่งออกไปยังต่างประเทศหรืออื่นๆ" ผศ.ดร.คนึงนิจ กล่าว

ผศ.ดร.คนึง กล่าวว่า แม้กฎหมายระดับสากลจะมีแนวโน้มถอดกัญชาออกจากยาเสพติด แต่ถึงอย่างไรแต่ละประเทศก็ต้องมาออกกฎ ออกหลักเกณฑ์เป็นของตนเอง ซึ่งจริงๆ ก็ต้องรออนุสัญญาระหว่างประเทศมีการแก้ไขเปิดช่องก่อน เราคงไม่สามารถทำอะไรแบบก้าวกระโดดได้ คงทำได้ในเรื่องของการเฝ้าดูและเตรียมตัว

ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า จากการศึกษาเรื่องพฤติกรรมการใช้กัญชาในกลุ่มผู้ใช้กัญชาในเขตกรุงเทพมหานคร โดยการสัมภาษณ์เชิงลึกในผู้ใช้กัญชา จำนวน 31 คน จำแนกเป็น ผู้ใช้โรคมะเร็ง 9 ราย ลมชัก 7 ราย อื่นๆ เช่น สะเก็ดเงิน เครียด นอนไม่หลับ เป็นต้น จำนวน 6 ราย ผู้ใช้ทดแทนยาเสพติดหรือใช้ร่วม 6 ราย และไม่ระบุโรค 5 ราย สาเหตุการใช้มาจากถูกปฏิเสธจากแพทย์ รักษาไม่หาย รักษาไม่ได้ เป็นวาระสุดท้าย ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เจริญอาหาร หรือป้องกันโรค น้ำมันกัญชาที่ใช้มาจากแพทย์พื้นบ้านผลิต คาดหวังว่าการใช้น้ำมันกัญชาจะช่วยให้หายจากอาการป่วย โดยเฉพาะโรคมะเร็ง มีผู้ป่วยบางคนที่ใช้น้ำมันกัญชาเพื่อการป้องกันการเกิดมะเร็งและพบการใช้น้ำมันกัญชาในกลุ่มผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคลมชัก ช่วยให้คุณภาพชีวิตของเด็ก และสภาพจิตใจของผู้ดูแลดีขึ้น แต่ปัญหาของการใช้น้ำมันกัญชาในการรักษา คือ เมื่อ 2-3 ปีก่อน ยังขาดคู่มือหรือแนวทางปฏิบัติปริมาณการใช้น้ำมันในแต่ละโรค และจากการใช้กัญชาในระยะยาว

"ทั้งนี้ กพย. อยู่ระหว่างการยกร่าง พ.ร.บ.พืชยา กัญชา กระท่อม พ.ศ. ... ฉบับประชาชน โดยจะแยกกัญชาและกระท่อมจาก พ.ร.บ.ยาเสพติด และ พ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท จะเป็นการบริหารพืชยาสองชนิดนี้ ตั้งแต่ปลูก เมล็ดพันธุ์ แปรรูป ผลิตภัณฑ์ และอื่นๆ โดยจะมีการเปิดประชาพิจารณ์และขอความร่วมมือประชาชนในการลงชื่อสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นี้ เพื่อเสนอตามขั้นตอนการออกกฎหมายต่อไป" ผศ.ภญ.นิยดา กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น