xs
xsm
sm
md
lg

"อ.เดชา" เข้าอบรมใช้ "กัญชา" ทางการแพทย์วันแรก ชี้ วิจัย "น้ำมันกัญชา" ยังมีอีกหลายขั้นตอน คาดแจกจริง มิ.ย.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


"อ.เดชา" เข้าอบรมใช้ "กัญชา" ทางการแพทย์วันแรก หากผ่านทดสอบสามารถจ่ายยากัญชาได้ ส่วนวิจัยสูตร "น้ำมันกัญชา" ยังมีรายละเอียดอีกมาก คาดแจกผู้ป่วยได้จริง มิ.ย.นี้ ชี้ อย.จัดจับคู่วิจัยก็ไม่เพียงพอผู้ป่วยที่ใช้กัญชารักษาโรค ต้องแก้กฎหมายให้คนเข้าถึง ด้านกรมแพทย์แผนไทยฯ เผยหลังอบรมวิทยากรครู ก จบ ให้ไปอบรมในพื้นที่ต่อ เตรียมจัดพร้อมกัน 27 พ.ค.นี้

วันนี้ (29 เม.ย.) ที่โรงแรมทีเค พาเลซ แจ้งวัฒนะ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับสภาการแพทย์แผนไทย จัดอบรมวิทยากรครู ก.หลักสูตรการใช้กัญชาทางการแพทย์แผนไทย ระหว่างวันที่ 29-30 เม.ย. ให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพ 4 กลุ่ม คือแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ เภสัชกร และหมอพื้นบ้าน จาก 13 เขตสุขภาพ ประมาณ 150 คน เพื่อให้นำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดต่อแก่บุคลากรในพื้นที่ ซึ่งนายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี ที่เพิ่งได้รับการรับรองเป็นหมอพื้นบ้าน ได้เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ด้วย

นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดการอบรม ว่า การอบรมจะให้มีความรู้เรื่องการใช้กัญชาทางการแพทย์ เน้นในตำรับที่ได้รับอนุญาต เรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ข้อควรระวังต่างๆ ซึ่งต้องมีการสอบวัดผลในวันที่ 30 เม.ย. หากสอบผ่านจะได้รับใบรับรอง เพื่อนำไปขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ใช้กัญชาทางการแพทย์จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และทั้งหมดที่มาอบรมในครั้งนี้ สามารถไปเป็นครูอบรม เพื่อถ่ายทอดแก่บุคลากรในพื้นที่เขตสุขภาพของตนเองต่อได้ เขตละไม่น้อยกว่า 150 คน โดยจะขับเคลื่อนพร้อมกันในวันที่ 27 พ.ค. ซึ่งเป็นไปตามหลักสูตรที่กรมฯ กำหนด ทั้งนี้ ย้ำว่ายังไม่ได้เปิดให้หน่วยงานอื่นๆ เช่น สมาคม หรือมูลนิธิใดๆ มายื่นขออนุญาตเปิดหลักสูตรสอนการใช้กัญชาทางการแพทย์ เพราะจะต้องมีระบบการติดตาม ตรวจสอบ ควบคุมอย่างเข้มงวด

นพ.ปราโมทย์ กล่าวว่า ขณะนี้มีตำรับยากัญชา 16 ตำรับที่อนุญาตให้ใช้ตามกฎหมาย คิดว่าใช้จริงน่าจะประมาณ 5-6 ตำรับ เช่น ยาศุขไสยาศน์ ยาสนั่นไตรภพ เป็นต้น ดังนั้น จากนี้จะต้องมีการติดตามและประเมินผล หากตำรับใดที่มีการสั่งจ่ายครบ 100 ตัวอย่างก่อน จะมีการศึกษาต่อถึงประสิทธิภาพ ลักษณะการออกฤทธิ์ สารสำคัญ เพราะมีหลายตัวยาผสมอยู่ ทั้งนี้ ข้อมูลจากหมอพื้นบ้านไทยพบว่า มีความต้องการใช้กัญชาปีละประมาณ 10 ตัน ดังนั้น จึงได้มีการวางแผนการปลูกกัญชามารองรับความต้องการ โดยแบ่งสัดส่วนให้ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ปลูกด้วยเทคโนโลยีใหม่ จำนวน 2 ตัน เพื่อให้ได้กัญชาที่เพียงพอ และเพื่อการพัฒนาสายพันธุ์ 2.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) อีสาน ปลูกในโรงเรือน จำนวน 2 ตัน ส่วนที่เหลือ 6 ตันให้วิสาหกิจชุมชนไปปลูก แต่ส่วนนี้ต้องมาจัดสรรว่า จะให้ใครปลูก ปลูกที่ไหน ส่งให้กับ รพ.ไหน เอาไปใช้ โดยให้สภาเกษตรกรแห่งชาติ ไปพิจารณาและมาหารือกับกรมฯ อีกครั้ง คาดว่าสัปดาห์หน้าน่าจะได้ข้อสรุป

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการควบคุมมาตรฐานการปลูกกัญชาอย่างไร กัญชาที่ใช้ต้องได้มาตรฐานทางการแพทย์หรือไม่ เพราะเป็นพืชที่ดูดซับสารพิษได้ง่ายมา นพ.ปราโมทย์ กล่าวว่า เราเข้าใจว่า กัญชาเป็นพืชที่สามารถดูดซับสารพิษ ตะกั่ว ปรอทได้ง่าย เคยคิดจะขอของกลางจากป.ป.ส.มาใช้ แต่ก็มีปัญหานี้ อย่างไรก็ตาม เกรดทางยาระหว่างแพทย์แผนไทยกับแพทย์แผนปัจจุบันจะแตกต่างกันอยู่ เราจะวัดที่ตัวผลิตภัณฑ์เลย ดังนั้น เรื่องมาตรฐานเราจะอิงตามเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก การปลูกพืชกัญชาต้องได้มาตรฐานจีเอ็มพี ปลอดสารพิษ ซึ่งนอกจากพื้นที่ปลูกไม่ใช้สารเคมีแล้ว พื้นที่โดยรอบรัศมี 5 กิโลเมตรก็ควรต้องปลอดสารพิษด้วย

นายเดชา กล่าวว่า หมอที่จะใช้กัญชาทางการแพทย์ได้มีหลายประเภท ซึ่งหมอพื้นบ้านเป็นหนึ่งในนั้น โดยตนเพิ่งได้รับการรับรองให้เป็นหมอพื้นบ้าน แต่จะต้องผ่านการอบรมหลักสูตรเฉพาะที่กรมการแพทย์แผนไทยฯ จัด ซึ่งการอบรมในวันนี้ ช่วงเช้ามีการทดสอบความรู้เดิม ซึ่งไม่ได้มีแค่กัญชาเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความรู้ด้านสมุนไพรอื่นๆ ด้วย ซึ่งเราก็มีความรู้บ้างไม่มีบ้าง เพราะเราทำสมุนไพรเพียงไม่กี่ตัว โดยหลังจากทดสอบเสร็จก็จะเป็นการอบรมตามหลักสูตรจำนวน 2 วัน และจะมีการทดสอบซ้ำว่าผ่านการอบรมหรือไม่ ซึ่งจะแจ้งให้ทราบภายหลัง หากทดสอบแล้วผ่าน ก็จะมีสิทธิไปยื่นขอใบรับรองจาก อย. ว่าสามารถปรุงยาและใช้ยาที่มีกัญชาผสมได้ ซึ่งตอนนี้กฎหมายเปิดช่องไว้ 16 ตำรับ ส่วนน้ำมันกัญชาสูตรของตน ยังไม่สามารถนำไปใช้ได้ เพราะยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน ต้องรอโครงการวิจัยที่ทำร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงจะสามารถแจกน้ำมันกัญชาสูตรของตนให้แก่ผู้ป่วยได้ ซึ่งผู้ป่วยจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย ถือเป็นการดำเนินการที่ถูกกฎหมาย ส่วนการขึ้นทะเบียนยาใช้เวลานาน คนไข้จะรอนาน

"ก็มีการหารือกับทางจุฬาฯ เรื่อยๆ ซึ่งทางจุฬาฯ ก็น่าจะยุ่งหน่อย เพราะต้องไปประสานกับหลายมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาล เพื่อทำการวิจัย รวมถึงประสานแหล่งทุน และ ป.ป.ส.ในการขอของกลางมาทำยา เพราะเราไม่มีแหล่งอื่น แล้วต้องมาทดสอบความปลอดภัยของของกลางอีก ผมจึงเอาวัตถุดิบมาทำยาได้ ซึ่งคาดว่าประมาณเดือนมิถุนายนจะสามารถแจกยาได้จริง เนื่องจากขั้นตอนมันเยอะ" นายเดชา กล่าว

นายเดชา กล่าวว่า การเข้ามาอยู่ในระบบเช่นนี้ มีทั้งผลดีผลเสีย ผลดี คือ จะได้ทำให้ถูกกฎหมาย ส่วนผลเสีย คือ คนไข้ยังเข้าไม่ถึง ซึ่งต่อให้ตนทำโครงการวิจัยได้เต็มศักยภาพ ก็ได้คนไข้ไม่เกิน 10,000 คน ทั้งที่เรารู้ว่า คนป่วยกำลังต้องการยาหรือใช้ยากัญชาอยู่มีประมาณ 8 แสน - 2 ล้านคน เรียกว่าแทบไม่มีประโยชน์ต่อส่วนรวมเลย แม้ อย.กำลังจับคู่กลุ่มที่มีกำลังการผลิต มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาล เพื่อทำวิจัยแจกยาผู้ป่วยแบบตน ก็ได้คนไม่ถึงครึ่งของเป้า 8 แสน - 2 ล้านคนอยู่ดี จะให้ดีจริงต้องปรับกฎหมายให้คนไข้คนป่วยเข้าถึงยากัญชามากที่สุด มิเช่นนั้นคนอื่นต้องไปหาของใต้ดินผิดกฎหมาย ถือเป็นก้าวต่อไปที่ตนจะทำ หลังจัดการเรื่องคนไข้เก่ารับยาเสร็จแล้ว ที่ตั้งใจ คือ เดิน 20 วัน แต่รายละเอียดยังต้องขอประชุมหารือกันก่อน เพื่อให้แก้กฎหมายให้คนไข้เข้าถึงยามากกว่าปัจจุบัน ซึ่งจะใช้วิธีหรือมาตรการใดก็ได้ แต่ขอให้เป้าหมายเป็นแบบนั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น