xs
xsm
sm
md
lg

แนะปรับ 4 กลไกระดับท้องถิ่นดูแลเด็กปฐมวัยครบวงจร อ่าน-เล่น เสริมศักยภาพ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สสส. หนุนท้องถิ่น เป็นผู้จัดการระบบการดูแลเด็กปฐมวัย “เล่น-อ่าน” พัฒนาศักยภาพเด็ก พร้อมเสนอปรับกลไก 4 หน่วยงาน “อปท.-รพ.สต.-ศพด.-ศพค.” ดูแลเด็กไทยครบวงจร จับมือมหาวิทยาลัยราชภัฎ 9 แห่ง สร้างนวัตกรรมเด็กอ่านออกเขียนได้ กระตุ้นให้รู้จักดูแลสุขภาพ

วันนี้ (23 เม.ย.) ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในการแถลงข่าว “เล่น ...อ่าน ...ปั้นเด็ก โดยชุมชนท้องถิ่น” ในงาน “เวทีสานพลัง สร้างปัญญา พัฒนาเด็กปฐมวัยและประถมศึกษา” ว่า ปัจจุบันสังคมไทยอยู่ในภาวะที่เด็กเกิดน้อย แต่ผู้สูงอายุเพิ่มจำนวนมากขึ้น ดังนั้น สสส. จึงกำหนดโจทย์ร่วมกับเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่กว่า 2,000 แห่ง ในการพัฒนาคุณภาพเด็กปฐมวัยในชุมชนท้องถิ่นให้มีศักยภาพตั้งแต่ในครรภ์มารดา 0-5 ปี และในระดับประถมศึกษา 6-12 ปี ผ่านการเล่น และการเรียนรู้ มีการส่งเสริมการอ่าน โดยมีระบบการดูแลเด็กโดยชุมชนท้องถิ่น 
 
สสส. ดึงหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วม ทั้งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย มูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเครือข่ายคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎ 9 แห่ง ในการจัดการความรู้ระบบการดูแลเด็กปฐมวัยและประถมศึกษาโดยชุมชนท้องถิ่น ขับเคลื่อนและรณรงค์ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทำหน้าที่เป็นกลไกกลางในการพัฒนาระบบการดูแลเด็กปฐมวัย การเรียนรู้เสริมสร้างสติปัญญาด้วยสนามเด็กเล่น และมีการจัดการความรู้ทักษะชีวิตและความรอบรู้ทางด้านสุขภาพของเด็กประถมศึกษา ซึ่งปัจจุบันมีตำบลต้นแบบที่สามารถเป็นตัวอย่างด้านการอ่านถึง 200 โรงเรียน 51 พื้นที่ และสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาต้นแบบ 12 แห่ง และ ศูนย์ต้นแบบประจำจังหวัด ทุกจังหวัดๆ ละ 1 แห่ง รวม 76 แห่ง

นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวว่า ผลความสำเร็จของการทำงาน มาจากการสานพลังทุกภาคส่วน ในส่วนบทบาทของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ มีข้อเสนอให้มีการปรับเพิ่มบทบาทหน้าที่ของ 4 ฝ่ายปฏิบัติการในชุมชนท้องถิ่น คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) ศูนย์พัฒนาครอบครัว (ศพค.) และผู้นำชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) โดยผู้รับผิดชอบงานด้านการศึกษาของ อปท. ทำหน้าที่เป็น “ผู้จัดการระบบการดูแลเด็กปฐมวัยโดยชุมชนท้องถิ่น” ในบทบาทของจัดทำข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจ ขับเคลื่อนการดำเนินงานและยืนยันว่าเด็กได้รับการดูแลครอบคลุมทั้งหมด

ด้าน รศ.ดร. ขนิษฐา นันทบุตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การดูแลเด็กปฐมวัยในชุมชน จะเกิดประสิทธิผลและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ในช่วงวัยที่เป็นโอกาสทอง คือ 0-5 ปี โดยเฉพาะศพด. ในสังกัดของ อปท. ต้องเปลี่ยน 4 เปลี่ยน คือ 1.เปลี่ยนจาการสอนเป็น COACH ให้เด็กเล่นและเรียนรู้อย่างอิสระ ที่อยู่ในกติกาและมีวินัย 2 เป็นบุคคลต้นแบบให้เด็กได้เลียนแบบและเรียนรู้ผ่านลีลาชีวิตของครู 3. เปลี่ยนจากการวัดพัฒนาการมาเป็น “การประเมินพัฒนาการของเด็กและครูทำหน้าที่เป็น COACH ส่วนตัวของเด็กและครอบครัว และ 4. จัดอาหารสำหรับเด็กทุกคนตามความเหมาะสมและตามภาวะโภชนาการของเด็กแต่ละคน เช่น เด็กอ้วน เด็กเป็นโรคภูมิแพ้ เป็นต้น ขณะที่ ศพค. ทำหน้าที่ดึงจิตอาสาและทุนทางสังคมมารวมตัวกัน

ผศ.ดร.จรีรัตน์ สุวรรณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง กล่าวว่า จากการดำเนินงานร่วมกันของโรงเรียน จำนวน 200 แห่ง และมหาวิทยาลัยราชภัฎ 9 แห่ง โดยใช้กลยุทธ์ของการส่งเสริมการอ่านและการเขียนของเด็กชั้นประถมศึกษาที่มีการสอดแทรกข้อมูลความรู้ทางด้านสุขภาพ จากการประเมินโดยคุณครูและนักวิชาการของมหาวิทยาลัยราชภัฎ ผลการประเมินด้านการอ่านออกเขียนได้โดยภาพรวมดีขึ้น สำหรับด้านความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) ได้ข้อค้นพบว่า 3 หน่วยงานในพื้นที่จะต้องทบทวนและให้ความสำคัญกับการดำเนินงานที่อยู่ในมาตรฐานของการจัดบริการของทั้ง 3 หน่วยงาน มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยกองการศึกษาจะต้องเข้าไป “กระตุ้น” “สนับสนุน” และ “ร่วมปฏิบัติการ” 1 การจัดการงานอนามัยโรงเรียน (School Health Program) นอกจากการตรวจและบันทึกจะต้องเพิ่มเรื่องการสร้างการเรียนรู้ “ปัญหาสุขภาพและการดูแลสุขภาพ ให้กับเด็ก บุคลากรโรงเรียน และผู้เกี่ยวข้อง” 2 การติดตามการแก้ปัญหาของนักเรียนเป็นรายกรณี ทั้งด้านสุขภาพ และทักษะการอ่านและการเรียนรู้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดย กองการศึกษาจะต้องเข้าไปทำงานร่วมกับโรงเรียน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ และโรงพยาบาลชุมชน 3 การใช้ทุนทางสังคม “แหล่งเรียนรู้” เข้ามาร่วมในกิจกรรมส่งเสริมการอ่านและสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพโดยมีการจัดทำสื่อการสอนจากข้อมูลของแหล่งเรียนรู้




กำลังโหลดความคิดเห็น