xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการเห็นด้วย ทปอ.ปรับข้อสอบคัด TCAS ชงตัด O-NET ออกได้ด้วยก็ดี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นักวิชาการ ชี้มติทปอ.ปรับปรุงข้อสอบใช้คัดTCAS ข้อดีคือที่ฟังเสียงวิจารณ์ หลักการถือว่าถูกที่ต้องปรับให้ดี แนะควรปรับ O-NET ด้วยตัดทิ้งได้ยิ่งดี เพราะไม่ตอบโจทย์

วันนี้ (22 เม.ย.) ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มีมติเห็นชอบแนวทางปรับปรุงข้อสอบที่ใช้ในการคัดเลือกระบบการคัดเลือกกลางเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือ TCAS เพื่อลดความซ้ำซ้อน ลดจำนวนวิชาและการสอบ โดยข้อสอบที่ปรับปรุงนั้นจะเพิ่มการวัดทักษะในอนาคต เช่น เรื่องความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม ความเป็นผู้นำ จิตวิญญาณเพื่อประชาชน เป็นต้น  โดยมีการนำร่องใช้ข้อสอบที่เน้นวัดทักษะในอนาคตในการสอบของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจะพัฒนาเพื่อใช้เป็นข้อสอบระดับชาติเพื่อใช้ปีการศึกษา 2565 นั้น ว่า มติดังกล่าวของ ทปอ. แสดงให้เห็นถึงข้อดีของ ทปอ.ที่รับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ระบบ TCAS และปรับปรุงแก้ไข ซึ่งเป็นเรื่องดีที่มีการปรับปรุงข้อสอบ TCAS ลดความซ้ำซ้อน และการสอบ  เพราะเรื่องนี้เชื่อมโยงกับคุณภาพชีวิตของเด็กและผู้ปกครอง  ดังนั้น การปรับปรุงระบบ TCAS ให้ดีขึ้นทุกปีๆ เป็นหลักการที่ถูกต้อง 

ขณะเดียวกันก็เป็นการปรับตัวของมหาวิทยาลัยที่อยู่ในภาวะวิกฤติเรื่องจำนวนเด็กเกิดลดลง , จำนวนเด็กหันไปเรียนสายอาชีพมากขึ้น , การเข้ามหาวิทยาลัยมีความสำคัญลดลง และเรื่องการปรับตัวของมหาวิทยาลัยเองเพื่อก้าวเข้าสู่โลกที่มีการเปลี่ยนแปลง

“ผมคิดว่าการปรับ TCAS ช่วยปลดล็อคการปฏิรูปการศึกษาได้ในระดับหนึ่ง แต่ปรับ TCAS อย่างเดียวยังไม่เพียงพอ ต้องปรับปรุงไปถึงเรื่องการสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET กระบวนการเรียนรู้ หลักสูตรขั้นพื้นฐาน และหลักสูตรในมหาวิทยาลัย การเตรียมอาจารย์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นการแก้ไขทั้งระบบ โดยเฉพาะการใช้คะแนน O-NET เพื่อการสอบเข้าในระดับต่างๆ เป็นการใช้ผิดวัตถุประสงค์ และเป็นแนวคิดที่อาจจะเหมาะสมในสังคมไทยเมื่อเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา โดยเป็นความหวังดีที่จะให้เด็กอยู่ในห้องเรียนจนครบหลักสูตร จึงผูกคะแนน O-NET กับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย และบังคับเด็กด้วยการสอบ แต่ปัจจุบันความต้องการเข้ามหาวิทยาลัยของเด็กลดน้อยลง เราจึงควรลดความสำคัญของคะแนนO-NET ลง หากไม่ต้องใช้เลยได้จะยิ่งดี เพราะถ้าข้อสอบวัดทักษะในอนาคตสามารถวัดทักษะของเด็กได้จริง ก็ไม่จำเป็นต้องใช้คะแนน O-NET ที่สำคัญเป็นการลดภาระของครูในโรงเรียนลงอย่างมาก”ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น