xs
xsm
sm
md
lg

แนะดับไฟร้อนทางการเมือง หยุดด่ากราดผ่านโซเชียล ไม่สร้างวาทกรรมแบ่งฝ่าย ตามข่าววันละ 2 ชม.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมสุขภาพจิตเฝ้าระวังอารมณ์ทางการเมืองหลังเลือกตั้ง ห่วงตัวเลขการเมืองยังไม่ชัดเจน ทำผิดหวัง เกิดความเครียด ซึมเศร้าได้ แนะติดตามข่าววันละ 1-2 ชั่วโมง สื่อสารแบบสร้างสรรค์ ไม่ใช้ถ้อยคำรุนแรง สร้างความแตกแยก ชี้ "ประชาธิปไตย-ฝ่ายตรงข้าม" แค่วาทกรรม ต้องใจกว้างรับความเห็นต่างจึงเป็นประชาธิปไตย ชวนประเมินความเครียดการเมือง หากเครียดปานกลางขึ้นไป งดติดตามข่าว 1-2 วัน

วันนี้ (28 มี.ค.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่มีการแบ่งแยกและใช้ถ้อยคำรุนแรงต่างๆ ในสื่อสังคมออนไลน์ภายหลังการเลือกตั้ง ว่า กรมฯ มีความเป็นห่วงเรื่องความเครียดที่จะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ความเครียดทางการเมืองไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่เกิดขึ้นมานานแล้วร่วมสิบปี ซึ่งกรมฯ คอยเฝ้าระวังอารมณ์ทางการเมืองมาตั้งแต่สมัยช่วงแบ่งสีเสื้อ ได้พัฒนาแบบประเมินอารมณ์และความเครียดทางการเมืองขึ้น เพื่อเฝ้าระวังและพยากรณ์ เพราะถ้ามีความเครียดหรืออารมณ์ทางการเมืองรุนแรงขึ้นตามเกณฑ์ที่ประเมิน หลังจากนั้น 1 สัปดาห์จะมีความรุนแรงทางการเมือง เช่น การใช้กำลังต่างๆ เพื่อจะได้เตรียมการดูแลหรือพยายามผ่อนคลายให้มากที่สุด ทั้งนี้ หลังเลือกตั้งคงมีความเครียดทางการเมืองเกิดขึ้น กรมฯ จึงให้เก็บข้อมูลจากการโทร.มาปรึกษาสายด่วน 1323 ซึ่งคาดว่า อีก 2 สัปดาห์คงมีตัวเลขที่ชัดเจนว่า เพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า สถานการณ์ครั้งก็เช่นกัน เนื่องจากขณะนี้ผลการเลือกตั้งยังไม่เป็นทางการ ข้อเท็จจริงหรือตัวเลขทางการเมืองยังไม่ชัดเจน แต่มีการใช้ตัวเลขดังกล่าวนำไปให้ความเห็น พยากรณ์ หรือนำไปมีความคิดเห็นทางการเมือง ย่อมมีโอกาสผิดพลาดได้สูง หรือไม่ถูกต้องตามที่คิดจินตนาการไว้ ก็อาจไม่สมหวังหรือเกิดความเครียดขึ้นมาได้ จึงอยากให้ข้อแนะนำว่า 1.ลดการติดตามเรื่องทางการเมือง เพราะข้อเสนอและความคิดเห็นทางการเมืองเกิดขึ้นได้ทุกชั่วโมง และเกิดขึ้นได้ทุกนาทีในสื่อสังคมออนไลน์ โดยไม่ได้มีข้อเท็จจริงใดๆ อยากให้ลดการรับรู้ ซึ่งแนะนำแค่วันละ 2 ชั่วโมง คือ เช้า 1 ชั่วโมง เย็นค่ำ 1 ชั่วโมง

2.อยากให้ดำเนินชีวิตประจำวันอย่างปกติสุข ทำงานทำให้สำเร็จ เรียน หรือทำกิจกรรมต่างๆ ตามปกติ และ 3.พยายามพักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลาย หาทางดูแลสุขภาพตนเอง ออกกำลังกายบ้าง หันเหความสนใจไปเรื่องอื่น รับประทานอาหาร นอนหลับให้เพียงพอ เพราะบางคนเครียดมากจะไม่สบายทั้งกายและใจ มีผลให้นอนไม่หลับ โดยเฉพาะคนมีปัญหาสุขภาพอยู่แล้ว เช่น ความดันสูง เบาหวาน หอบหืด ก็จะควบคุมอาการได้ยาก สุขภาพแย่ลง

"คนเครียดมากจะรู้สึกไม่สบาย หงุดหงิด หายใจไม่เต็มอิ่ม ใจสั่น ไม่ค่อยมีสมาธิทำงาน อารมณ์แปรปรวนได้ง่าย กินข้าวไม่อร่อย กิจวัตรไม่ค่อยอยากจะทำ นอนไม่หลับ จริงๆ แล้ว ความเครียดเล็กน้อยเป็นสิ่งที่ดี และเกิดขึ้นได้ทุกคน แต่ถ้ารู้สึกเครียดเป็นเวลานาน วันหนึ่งเครียดหลายครั้งและนาน ยิ่งช่วงกว่าจะรู้ข้อเท็จจริง หรือผลทางการเมืองที่แท้จริง ก็ทิ้งเวลานาน จึงเกรงว่าจะเกิดความเครียดนาน และนำไปสู่โรคซึมเศร้าต่อไปด้วย" นพ.เกียรติภูมิ กล่าวและว่า ทุกคนสามารถประเมินความเครียดทางการเมืองด้วยตนเองได้ สามารถดาวน์โหลดได้ทางเว็บไซต์ของกรมฯ ซึ่งแบบประเมินมีเพียง 5 ข้อ ถ้าผลออกมาอยู่ในระดับความเครียดปานกลางขึ้นไป ก็แนะนำขอให้งดติดตามทางการเมือง 1-2 วัน แต่ถ้าอยู่ในเกณฑ์ปกติก็ติดตามวันละ 1-2 ชั่วโมง

เมื่อถามถึงการการด่าใช้คำรุนแรงในโซเชียลมีเดีย นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ทุกเรื่องไม่ว่าการเมืองหรือเรื่องใดๆ การสื่อสารที่เหมาะสมต้องสร้างสรรค์ เป็นข้อเสนอพูดคุยกันด้วยแบบสุนทรียะ เน้นประโยชน์สุขมากกว่า ซึ่งเรื่องการเมืองเชื่อว่าทุกพรรคการเมือง ทุกนโยบายตั้งใจทำให้ประเทศไทยประชาชนดีขึ้นแน่นอน เพียงแต่คนละแนวทางหรือคนละวิธี

เมื่อถามถึงการใช้สร้างวาทกรรมทางการเมือง แบ่งฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายตรงข้าม นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นวาทกรรมที่สร้าง เป็นเรื่องประเด็นทางจิตวิทยา ทำให้บิดเบือน เกิดความเชื่ออีกรูปแบบหนึ่ง ทั้งที่จริงแล้วก็เป็นประชาธิปไตยเหมือนกัน เพราะเข้าใจว่าทุกคนผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ต้องมีความใจกว้างพอที่จะมีความเห็นที่แตกต่าง มิเช่นนั้นจะมีหลายพรรคการเมืองได้อย่างไร ก็ต้องมีความเห็นที่แตกต่าง แต่ไม่อยากให้ใช้ถ้อยคำเพื่อชี้นำให้เกิดความโกรธเกลียดในสังคม อยากให้พวกเราทุกคนให้ความเห็นรักชาติบ้านเมืองออกมาในแนวที่สร้างสรรค์ ส่วนวาทกรรมเพื่อให้เห็นความแตกต่างเป็น 2-3 ฝั่ง ไม่อยากให้ไปใช้กัน เป็นจิตวิทยาที่มีประโยชน์น้อยสำหรับเรื่องนี้

เมื่อถามว่า หากผู้นำทางการเมืองเป็นผู้พูดวาทกรรมเอง จะมีผลมากกว่าหรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ถ้าคนฟังเยอะ เชื่อเยอะ ย่อมมีผลกระทบอยู่แล้ว และทำให้คิดแตกแยกได้


กำลังโหลดความคิดเห็น